X

วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม จัดการถ่ายทอดองค์ความรู้ ขับเคลื่อนพระธาตุพนมสู่มรดกโลก

นครพนม – วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม จัดการถ่ายทอดองค์ความรู้ ขับเคลื่อนพระธาตุพนมสู่มรดกโลก ผู้ว่าฯเฉียบเล่าประวัติศาสตร์คนฟังอึ้งทั้งห้อง

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.30 น. ณ โรงแรมบลูโฮเทล เขตเทศบาลเมืองนครพนม สำนักวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ได้จัดกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ การขับเคลื่อนพระธาตุพนมสู่มรดกโลก โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรมอบนโยบายการผลักดันพระธาตุพนมสู่มรดกโลก พร้อมกันนี้ก็มี ดร.วสุ โปษยะนันท์ สถาปนิกเชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร บรรยายการสู่ความสำเร็จในการเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ผศ.ดร.ธราวุฒิ บุญเหลือ หัวหน้าโครงการจัดทำผังแม่บทฯ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวบรรยายถึงกระบวนการจัดทำผังแม่บทฯ และ นายวีรพล จงเจริญใจ ประธานกรรมมาธิการสสถาปนิกอีสาน ในฐานะตัวแทน SCG กล่าวถึงบทบาทสถาปนิกต่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมือง มีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังจนแน่นห้องประชุม นอกจากนี้พระครูศรีพนมวรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ผู้ร่วมเริ่มต้นผลักดันพระธาตุพนมสู่มรดกโลก ได้เดินทางมาฟังการบรรยายในครั้งนี้ด้วย

นายธนิตศักดิ์ อุ่นตา วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม กล่าวว่า จังหวัดนครพนมได้ดำเนินการขับเคลื่อนพระธาตุพนมสู่แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยการดำเนินงานที่ผ่านมามีการจัดทำงานวิจัยเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตพื้นที่มรดกโลก การจัดทำผังแม่บท อัตลักษณ์ทางสสถาปัตตยกรรม ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม รวมถึงการขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อเป็นข้อมูลทางด้านวิชาการ สนับสนุนการจัดทำเอกสารฉบับสมบูรณ์(Nomination file) และเสนอคณะกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม พิจารณาการขอขึ้นพระธาตุพนมสู่แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อไป

การขอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นมรดกโลก เนื่องด้วยจังหวัดนครพนมพิจารณาเห็นว่าองค์พระธาตุพนมเป็นโบราณสถานเก่าแก่ เป็นที่เคารพของประชาชนในพื้นที่ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร มีความโดดเด่นที่สามารถพิจารณานำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ โดยในเบื้องต้นมีความเห็นว่ามีคุณสมบัติที่น่าจะเข้าเกณฑ์การพิจารณาคุณค่าอันเป็นสากล ภายใต้เกณฑ์การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 3 ประการ

ได้แก่ เกณฑ์ข้อที่ 1 มีอริยภาพในการสร้างสรรค์ทางศิลปกรรม ที่มีลักษณะเป็นศิลปะไทยอีสานลาวล้านช้าง และได้มีการบูรณะในแนวทางที่รักษาอัตลักษณ์อันนี้ไว้มาเป็นระยะๆ จนถึงปี 2518 เมื่อพระธาตุพนมถูกมรสุมพังทลาย กรมศิลปากรได้ระดมสรรพกำลัง และความเชี่ยวชาญบูรณะขึ้นใหม่ให้สวยงามตามแบบเดิม

เกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางความเชื่อ และวัฒนธรรมของประชาชน ในเรื่องการเคารพบูชาพระสถูปของบุคคล ที่มีความสำคัญศักดิ์สิทธิ์ที่แพร่มาจากประเทศอินเดียและฮินดูจนถึงสมัยพุทธกาล กระทั่งเป็นประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธ ได้แพร่กระจายมาสู่ตะวันออกเฉียงใต้หรือที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ

เกณฑ์ข้อที่ 3 มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดจนถึงปัจจุบัน เช่น การเฉลิมฉลอง บูชาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ซึ่งมีประชาชนทั้งไทยและลาวมาร่วมงานเป็นพันปีแล้ว นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับประเพณีความเชื่อพระอุปคุต พญานาคที่จะมาช่วยปกปักษ์รักษาพระธาตุในลุ่มแม่น้ำโขง

ต่อมา วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก มี มติเห็นชอบให้นำเสนอพระธาตุพนม เพื่อบรรจุไว้ในบัญชีเบื้องต้น(Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

วันที่ 24 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้นำเสนอพระธาตุพนมขึ้นบัญชีเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก และ วันที่ 12 กรกฏาคม 2560 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 41 ณ เมืองคราคูฟ สาธารณรัฐโปแลนด์ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บรรจุพระธาตุพนมในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก

แหล่งมรดกโลก ( World Heritage Site) คือ พื้นที่หรือจุดหลัก (landmark) ที่ได้รับคัดเลือกจากยูเนสโก เพราะมีลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่น และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามสนธิสัญญา สถานที่เหล่านี้ถือว่าสำคัญต่อประโยชน์โดยรวมของมนุษยชาติ

ในปัจจุบัน (กรกฎาคม 2562) มีมรดกโลกทั้งหมด 1,121 แห่ง ใน 167 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 869 แห่ง มรดกโลกทางธรรมชาติ 213 แห่ง และอีก 39 แห่งเป็นแบบผสมทั้งสองประเภท โดยอิตาลีและจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนแหล่งมรดกโลกมากที่สุด คือ 55 แห่ง รองลงมาคือสเปน 48 แห่ง เยอรมนี 46 แห่ง และฝรั่งเศส 45 แห่ง แม้ว่ายูเนสโกจะอ้างอิงถึงมรดกโลกแต่ละแห่งด้วยหมายเลข แต่การขึ้นทะเบียนในหลายครั้งก็จะผนวกเอามรดกโลกที่ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้วเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกที่มีพื้นที่มากขึ้น ดังนั้นจึงมีหมายเลขมรดกโลกเกิน 1,200 แม้ว่าจะมีจำนวนมรดกโลกน้อยกว่าก็ตาม

มรดกโลกแต่ละแห่งเป็นทรัพย์สินของประเทศที่เป็นเจ้าของดินแดนที่มรดกโลกตั้งอยู่ แต่ได้รับการพิจารณาให้เป็นผลประโยชน์ของประชาคมระหว่างประเทศในการอนุรักษ์มรดกโลกแห่งนั้น ในส่วนแหล่งมรดกโลกของประเทศไทยนั้น มีสถานที่ที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 5 แห่ง ประกอบด้วยแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ได้แก่ 1.เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองบริวาร 2.นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร 3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และทางธรรมชาติอีก 2 แห่ง คือ 1.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง 2.ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน