X

นักท่องเที่ยวแห่ชมดวงไฟจากกะลาลอยไข่พญานาคกลางแม่น้ำโขง ปล่อยบูชาพญานาคี วันละเกือบหมื่นดวง

นครพนม – unseen ไข่พญานาคกลางแม่น้ำโขง งานไหลเรือไฟนครพนม นักท่องเที่ยวแห่ชมดวงไฟจากกะลาลอยไข่พญานาคกลางแม่น้ำโขง ปล่อยบูชาพญานาคี วันละเกือบหมื่นดวง

คืนวันที่ 29 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการท่องเที่ยวงานประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟ และงานกาชาดจังหวัดนครพนม ประจำปี 2563 เป็นวันที่ห้ายังคงคึกคักไปด้วยประชาชน นักท่องเที่ยว ที่เดินทางเข้ามาพักผ่อน และรอชมการประกวดไหลเรือไฟในคืนวันออกพรรษา ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11 กำหนดจัดงาน รวม 10 วัน 10 คืน ระหว่างวันที่ 25 กันยายน – 4 ตุลาคม ทุกวันนอกจากการแสดงมหรสพคบงัน รวมถึงการจัดจำหน่ายสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร ยังมีการไหลเรือไฟโชว์ คืนละ 1 ลำ เป็นการ ประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักท่องเที่ยว มาเที่ยวชมงานในคืนวันออกพรรษา จะมีการประกวดไหลเรือไฟ จากทั้ง 12 อำเภอ รวม 12 ลำ ที่ชาวบ้านร่วมกันจัดสร้างขึ้น เพื่อสืบสานประเพณีอันสำคัญช่วงวันออกพรรษา ที่สืบทอดกันมา แต่โบราณ โดยปีนี้จัดงานภายใต้มาตรการควบคุมโรคโควิด ด้วยการเพิ่มวันประกวดเรือไฟ ในวันที่ 30 กันยายน และวันที่ 1-2 ตุลาคม จากที่ทุกๆปีจะไหลเพียงวันเดียวคือวันออกพรรษา

นอกจากประชาชน นักท่องเที่ยว จะได้ชมเรือไฟโชว์เป็นการเรียกน้ำย่อยแล้ว ยังจะได้ตื่นตากับความสวยงามของกระทงสาย หรือที่เรียกว่าไข่พญานาค โดยทุกวันทีมเจ้าหน้าที่ อส. จะนำกระทงสายที่ประดิษฐ์จากกะลามะพร้าว นำมาตัดครึ่ง เป็นลักษณะคล้ายกระทะ ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน จากนั้นจะมีการนำขี้เลื่อยมาทำส่วนผสมกับน้ำมันดีเซล รวมกับขี้ใต้ยางไม้ มาผสมตามสัดส่วน บรรจุเป็นเชื้อเพลิงลงในกะลา ก่อนขนลำเลียงลงเรือหางยาว วันละเกือบ 10,000 ดวง ไปตั้งจุดวางทุ่น ปักหลักปล่อยกระทงสาย ตั้งแต่หน้าจวนผู้ว่าราชการหลังเก่า ไหลยาวเป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร ไปตามน้ำโขงตามแนวถนนสุนทรวิจิตร ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม กลายเป็นแสงไฟระยิบ ระยับ สวยงามเต็มแม่น้ำโขง ถือเป็น unseen ของงานประเพณีไหลเรือไฟทุกปี ที่สร้างความสวยงาม ตื่นตาให้ประชาชน นักท่องเที่ยวทุกปี

นายปิยะวัฒน์ แสนสี อายุ 45 ปี หัวหน้าทีม อส. เปิดเผยว่า สำหรับกระทงสาย ที่ทำจากกะลามะพร้าว พอเชื้อเพลิงหมด กะลาจะถูกไฟไหม้บางส่วนและจมไปกับน้ำ แต่ไม่เกิดมลภาวะ เนื่องจากเป็นวัสดุธรรมชาติย่อยสลายได้ ถือเป็นอีกประเพณีสำคัญที่สร้างความประทับใจให้ กับประชาชนนักท่องเที่ยว ได้ชื่นชม อีกทั้งยังเป็นประเพณีโบราณที่ถือปฎิบัติกันมาทุกปี เชื่อว่า เป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำโขง และปู่พญานาค เป็นสิริมงคล ช่วงวันออกพรรษา ซึ่งยอมรับว่าแต่ละวันทีม อส. ต้องยอมเหนื่อย และต้องมีความชำนาญ ในการปล่อยกะลามะพร้าว ที่จุดดวงไฟไหลตามแม่น้ำโขง และต้องมีความชำนาญ หากไม่ชำนาญจะทำให้กะลาถูกน้ำพัดจมในขณะที่ปล่อยลงน้ำ ถือเป็นความภาคภูมิใจของกำลังเจ้าหน้าที่ อส.ที่ได้อยู่เบื้องหลังความสวยงาม และเป็นการสืบสานประเพณีจากความเชื่อ ความศรัทธา ยิ่งวันคืนออกพรรษา จะปล่อยมากถึง 10,000-20,000 ดวง ถึงจะเหนื่อยแต่ทุกคนภาคภูมิใจ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน