X

สหายแสง” เยือนถิ่นเก่าครั้งเข้าป่า อดีตเพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้อนรับอบอุ่น

นครพนม – สหายแสง” เยือนถิ่นเก่าครั้งเข้าป่า อดีตเพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้อนรับอบอุ่น ฝาก”น้องขวัญ”ลูกสาวคนโต ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ฯ ลุยสนามเลือกตั้งระดับจังหวัด

วันที่ 30 สิงหาคม 2563 บริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลโคกหินแฮ่ 2 ตั้งอยู่ด้านหลังวัดบัวขาว บ้านนาบัว หมู่ 5  ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือสหายแสง/ครูแก้ว ส.ส.นครพนม เขต 1 พรคคภูมิใจไทย/ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เดินทางไปพร้อมกับภรรยานางพูนสุข โพธิ์สุ และลูกสาว น.ส.ศุภพานี โพธิ์สุ หรือน้องขวัญ ว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม(อบจ.นครพนม) เพื่อพบปะกับอดีตผู้ร่วมอุดมการณ์ครั้งจับปืนต่อสู้กับฝ่ายรัฐ  โดยมีสหาย(หมายถึงเพื่อนที่ยอมตายแทนก็ได้) ที่ยังมีชีวิตอยู่กว่า 20 คน สหายดาวแดงที่มีอายุมากที่สุดคือนายชม  แสนมิตร อดีตสหายตั้งอายุ 92 ปี ก็ได้มารอต้อนรับร่วมกับ นายแพทย์อลงกต มณีกาศ และนายชูกัน กุลวงษา อดีต ส.ส.เขต 3 และ เขต 4 นครพนม ตลอดจนชาวบ้านกว่า 200 คน

นายศุภชัยหรือสหายแสงทักทายสวมกอดอดีตผู้ต่อสู้กับอำนาจรัฐ พร้อมกับถามหาสหายอื่นๆอีกหลายคน โดยกล่าวว่าการมาเยือนบ้านนาบัวครั้งนี้ เหมือนกลับมาเยี่ยมบ้านเก่า ครั้งสหายพงศ์เพื่อนสนิทที่เรียนอยู่วิทยาลัยเทคนิคนครพนม พาหลบหนีเข้าป่าเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2519 โดยมีชื่อจัดตั้งว่า”สหายแสง” และมีสหายชื่อสำลีพาไปยังฐานที่เทือกเขาภูพาน ทำหน้าที่งานมวลชนในพื้นที่ทุ่งหนองขาม อยู่เขตรอยต่อ 3 อำเภอคือ อำเภอเรณูนคร ปลาปาก และอำเภอนาแก

กระทั่งถึงปี 2523 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายที่ 66/2523 ให้คนที่ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยออกจากป่า กลับเข้ามาร่วมพัฒนาชาติไทย โดยรัฐบาลไม่เอาโทษ ตัวเองจึงออกจากป่าไปอยู่บ้านเกิดคือบ้านแค ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม และไม่ได้ไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ก่อนจะเดินทางเข้า กทม.เพื่อเรียนต่อคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯลฯ

หลังนั้นก็ฝากลูกสาวคนเดียว น.ส.ศุภพานี โพธิ์สุ หรือน้องขวัญ ให้เพื่อนสนิทมิตรสหายชาวบ้านนาบัวได้นำไปพิจารณา ซึ่งลูกสาวอยู่เบื้องหลังการทำงานด้านการเมืองช่วยพ่อมาตลอด และอดีตตนเคยปลุกปั้นนายก อบจ.นครพนม มาแล้วหลายคน ครั้งนี้จึงขอส่งลูกสาวตนเองเข้ามาบริหาร อบจ.ฯ ทำงานเพื่อชาวจังหวัดนครพนม จากนั้นสหายแสงได้ไปดูสถานที่ก่อสร้างอนุสรณ์นักสู้ดาวแดง บริเวณจุดวันเสียงปืนแตก ก่อนจะไปเปิดสนามกีฬาฟุตซอลที่บ้านนาเหนือ ต.พระซอง อ.นาแก เป็นลำดับต่อไป

หมู่บ้านนาบัวเป็นชนเผ่าผู้ไทยหรือภูไท และยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของสังคม ที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนว่า คนไทยด้วยกันมีความขัดแย้งทางด้านความคิด ทางการเมืองอย่างรุนแรง จนกระทั่งคนไทยต้องลุกขึ้นสู้ฆ่าฟันกันเอง ภายใต้ความคิดและแนวการเมืองที่แตกต่างกัน ภายใต้ความไม่เข้าใจกัน

เหตุการณ์วันเสียงปืนแตก คือ วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2508  ณ บ้านนาบัว ต.เรณูนคร อ.ธาตุพนม(เรณูนครตั้งเป็นกิ่งอำเภอปี 2513)  จ.นครพนม ซึ่งเป็นวันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเรียกพวกคอมมิวนิสต์ว่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)โดยกลุ่ม ผกค.ได้ใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก ณ หมู่บ้านแห่งนี้

โดยกองกำลังของพรรคได้เรียกตนเองว่า กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ได้ประกาศยุทธศาสตร์ต่อสู้ด้วยกำลังและอาวุธ ใช้ยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมืองและยึดเมือง ซึ่งหลังจากวันเสียงปืนแตกเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2508  พรรคคอมมิวนิสต์ฯก็ต่อสู้ด้วยอาวุธกับกองกำลังของรัฐบาลไทยมาโดยตลอด และเป็นยุคแสวงหาของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ประชาชนเข้าป่าเพื่อต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ฯ

กระทั่งปี พ.ศ. 2523 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ออกคำสั่ง 66/2523 นิรโทษกรรมแก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ใจความสำคัญคือใช้การเมืองนำการทหาร มุ่งเน้นขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม และปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม คำสั่งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากนโยบายขวาจัดของรัฐบาลก่อนหน้า มาสู่การประนีประนอม อย่างไรก็ตามการปฏิบัติให้เป็นผลนั้นกินระยะเวลาหลายปี

ต่อมา พคท.ได้เจรจากับรัฐบาลไทย และวันที่ 8 สิงหาคม 2522 หน่วยทหารในพื้นที่ได้จัดงาน “วันเสียงปืนดับ” ขึ้นที่บริเวณลานวัดบัวขาว บ้านนาบัว ต.โคกหินแฮ่  เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และการต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างรัฐบาลและสมาชิก พคท. ได้สิ้นสุดลง โดยในงานดังกล่าวมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก(ในขณะนั้น) เดินทางมาร่วมงาน และได้มีการสร้าง “สนามเด็กเล่นน้ำใจป๋าเปรม” ไว้ในบริเวณด้านหลังวัด ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลโคกหินแฮ่ 2 เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการจัดงานวันเสียงปืนดับในครั้งนั้น

การเกิดวันเสียงปืนแตก มีบันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า ในปี 2500 เริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรกที่บ้านหนองกุง หมู่ 6 ต.โคกหินแฮ่ มีนายภูมิ ชัยบัณฑิต  เป็นผู้นำการต่อต้านรัฐบาล  ต่อมาในปี 2504 มีการจับกุมราษฏรในหมู่บ้านข้อหาอันธพาล โดยนำไปขังลืมไว้ที่อำเภอธาตุพนม และที่จังหวัดอุดรธานี จากนั้นจึงนำไปขังไว้ที่เรือนจำนครบาล กรุงเทพฯ  และครั้งสุดท้ายได้จับชาวบ้านนาบัว หมู่ 5 ต.โคกหินแฮ่ และบ้านหนองกุง จำนวน 9 คน ไปขังไว้ที่เรือนจำลาดบัวขาว จ.นครราชสีมา

ถึงปี 2507 หลังรัฐบาลปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองกลับสู่ภูมิลำเนา มีชาวบ้านหนองกุงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกยิงตาย 2 คน ทำให้ราษฏรในเขตพื้นที่บ้านนาบัวและหมู่บ้านใกล้เคียงได้ทยอยกันเข้าป่า เพื่อร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อันเป็นที่มาของเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกที่บ้านนาบัวแห่งนี้

หลังสิ้นสุดการสู้รบชาวบ้านนาบัวก็ออกจากป่า ดำรงชีวิตตามปกติ ร่วมกันพัฒนาชาติไทย และยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชนเผ่าภูไท นอกจากนี้ยังมีศูนย์เรียนรู้บ้านนาบัว ที่รวบรวมเอาสิ่งของ เครื่องใช้ อาทิ รองเท้าแตะที่ทำจากหนังควาย หรืออุปกรณ์ทำมาหากินของบุคคลในอดีต ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมา วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน