นครพนม – ชาวบ้านห้วยพระร้อง ผวจ.นครพนม อีกครั้ง หลังที่ดินท่าอุเทนยื้อเรื่องเพิกถอนที่สาธารณะ เจ้าพนักงานคนใหม่ยันต้องเสร็จภายใน 7 วัน
วันที่ 28 สิงหาคม 2563 เวลา 13.00 น. บริเวณศาลากลางจังหวัดนครพนม นายพันธ์ ชมภูพระ ผู้ใหญ่บ้านห้วยพระ หมู่ 9 ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม นายเรืองชัย วงศ์อุระ อาสาสมัครคุ้มครองสิทธิ์และเสรีภาพภาคประชาชน กระทรวงยุติธรรม นายณพจน์สกร ทรัพยสิทธิ์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อมด้วยชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้ เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เพื่อขอความเป็นธรรม กรณีนายศิริสานนท์ กุลฉวะ รักษาการเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม สาขาท่าอุเทน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่ง ผวจ.ฯติดราชการจึงมอบหมายให้นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รอง ผวจ.นครพนม ออกมาพบกับกลุ่มชาวบ้าน พร้อมกับนายวิรัตน์ สุวรรณแก้ว เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม และ พ.จ.ท.เฉลิมพล ว่องชิน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม สาขาท่าอุเทน ร่วมรับฟังข้อร้องเรียนดังกล่าว
โดยใช้ห้องประชุมพระธาตุท่าอุเทน ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดฯ โดย พ.จ.ท.เฉลิมพลฯ เพิ่งเดินทางมารับตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินฯ สาขาท่าอุเทน เพียงอาทิตย์เดียว ได้กล่าวว่าหลังตรวจเอกสารการเพิกถอนที่ดินบริษัทเกษตรปิยมิตรครอบครองแล้ว ยืนยันว่าภายใน 7 วัน จะดำเนินการให้แล้วเสร็จ เรียกเสียงปรบมือลั่นห้องประชุม โดยเร่งรัดนายศิริสานนท์ กุลฉวะ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ ส่งมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ให้อธิบดีกรมที่ดินพิจารณาต่อไป
กล่าวคือชาวบ้านห้วยพระหมู่ 9 และหมู่ 14 ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า มีการออกโฉนดที่ดินไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทับที่สาธารณประโยชน์ และทับที่ดินทำกินของราษฎรในพื้นที่บ้านห้วยพระ ต.ท่าจำปา ต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า เมื่อปี พ.ศ.2532 ทางอำเภอท่าอุเทน ได้ออกใบจอง (น.ส.2) ให้แก่ผู้รับใบจองเป็นจำนวนเนื้อที่ ประมาณ 3,500 ไร่ และได้จัดที่ดินให้กับผู้รับใบจองซึ่งเป็นบุคคลนอกพื้นที่ ได้รับใบจองรายละหลายใบ และได้ที่ดินตามใบจองรายละหลายแปลง รวมเป็นเนื้อที่รายละหลายร้อยไร่ จึงมีความเห็นว่า การจัดที่ดินและออกใบจองดังกล่าว เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 33 อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน พ.ศ.2498 และ ต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งเรื่องให้กรมที่ดิน ดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับการออกใบจองว่าออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ข่าวน่าสนใจ:
- คึกคักแห่เที่ยวงาน 'ถนนท่องเที่ยว..วิถีชาวเล เสน่ห์ประแส' ชวนชิมอาหารทะเลสดๆ สัมผัสวิถีชาวประมงช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้
- นราธิวาส - "ปลากุเลา" ฉายา “ราชาแห่งปลาเค็ม”
- จับพระลาสิกขากลางพรรษา! เอเย่นต์ค้ายาบ้าในคราบผ้าเหลือง นครพนม บุกค้นเจอยาบ้า 166 เม็ด
- นรข.นครพนม ร่วมบูรณาการยึดยาบ้าเกือบ 4 แสนเม็ด จากการลักลอบขนข้ามแม่น้ำโขง
และต่อมา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 กรมที่ดิน ได้สั่งจังหวัดนครพนม ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับใบจองดังกล่าว โดยใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลในการจับจองที่ดินตามหลักการที่กรมที่ดินวางหลักไว้แล้ว
วันที่ 29 ตุลาคม 2562 จังหวัดนครพนม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับใบจองเสร็จแล้ว ปรากฏว่า บริษัท เกษตรปิยมิตร จำกัด เป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน 14 แปลง และ น.ส.3 ก. จำนวน 28 แปลง และได้ทำการตรวจสอบใบจองอันเป็นหลักฐานเดิม ที่นำมาออกเป็นโฉนดที่ดิน 14 แปลง และ น.ส.3 ก. 28 แปลง พบว่า มีการออกใบจองให้แก่นายอนันต์ ตั้งจิตทวีทรัพย์, นางสาวศิริพร ฉัตรวิรุฬห์,นางประจงจิตต์ ตั้งจิตทวีทรัพย์,นายชลิต ศรีสุทธิไพศาล,นางจันทร์พิมพ์ ศรีสิทธิไพศาล,นางศิริพร วงศ์เทียนชัย,นายวิเชียร วงศ์เทียนชัย,นางสาวเยาวลักษณ์ จรรยาภรณ์พงษ์ แต่บุคคลดังกล่าวมีที่ดินอยู่แล้วจำนวนมาก ถือว่า ขาดคุณสมบัติในการจับจองที่ดิน ตามนัยข้อ 4 (7) ของระเบียบคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน พ.ศ.2498 ดังกล่าว เป็นผลให้ใบจองที่ออกให้แก่บุคคลดังกล่าว เป็นการออกโดยฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
และเห็นว่าโฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ก. ของบริษัท เกษตรปิยมิตร จำกัด ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากใบจองที่นำมาเป็นหลักฐานในการออก น.ส.3 ก. ซึ่งเป็นหลักฐานเดิมของโฉนดที่ดิน ได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เป็นผลให้โฉนดที่ดิน และ น.ส. 3 ก. ของบริษัทดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย และเห็นควรให้เพิกถอน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินฯ
ต่อมากรมที่ดินได้มีหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ประกอบด้วยบุคคล ดังนี้ 1.เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม สาขาท่าอุเทน ประธานกรรมการ 2.นายอำเภอท่าอุเทน 3.นายก อบต. ท่าจำปา 4.ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครพนม และ 5.นายศิริสานนท์ กุลฉวะ นักวิชาการที่ดินชำนาญการ สำนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม สาขาท่าอุเทน เป็นทั้งกรรมการและเลขานุการ
ในคำสั่งกรมที่ดินได้สั่งให้คณะกรรมการสอบสวน ดำเนินการสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และให้รายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมที่ดินทราบด้วย และต้องสอบสวนให้แล้วเสร็จ พร้อมรายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมที่ดิน ภายในวันที่ 25 เมษายน 2563 โดยหลังคณะกรรมการสอบสวน ได้สอบสวนเสร็จและประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ให้เสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมที่ดิน ว่า “ควรเพิกถอนเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ก. ของบริษัท เกษตรปิยมิตร จำกัด ตามที่ระบุในวาระการประชุมที่ 1 ทุกแปลง”
จากนั้นประธานกรรมการสอบสวน ได้มอบหมายให้นายศิริสานนท์ กุลฉวะ จัดทำบันทึกสรุปและนำส่งรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนต่ออธิบดีกรมที่ดิน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป (คือ ทำบันทึกสรุปพร้อมความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน และนำส่งบันทึกสรุปพร้อมความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าว ต่ออธิบดีกรมที่ดิน)
แต่ปรากฏว่านายศิริสานนท์ กุลฉวะ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กล่าวคือ เพิกเฉย ไม่จัดทำบันทึกสรุปและไม่รายงานผลการสอบสวน ของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว ต่ออธิบดีกรมที่ดินภายในวันที่ 25 เมษายน 2563 ตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ขยายตามมาตรา 61 ทั้งมีพฤติกรรมแสดงให้เห็นว่า ประวิงเรื่องเพื่อต้องการช่วยเหลือบริษัท เกษตรปิยมิตร จำกัด ไม่ให้ถูกอธิบดีกรมที่ดิน เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ และปัจจุบันนี้ล่วงเลยเวลากว่า 4 เดือนแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2563 เป็นต้นมา
เมื่ออธิบดีกรมที่ดิน ยังไม่ได้รับรายงานผลของการสอบสวนดังกล่าว จึงไม่สามารถพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของบริษัทดังกล่าวได้ เป็นผลให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากที่ดินสาธารณประโยชน์ สำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เพราะบริษัทดังกล่าว ล้อมรั้วลวดหนามเป็นแนวเขตกั้นไว้ และข่มขู่จะฟ้องร้องดำเนินคดี หากชาวบ้านเข้าไปในที่ดินดังกล่าว
การกระทำดังกล่าวของนายศิริสานนท์ กุลฉวะ มีลักษณะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และทำให้ข้าพเจ้า และชาวบ้านห้วยพระ ได้รับความเดือดร้อน จึงขอร้องเรียนมายังผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เพื่อขอให้ดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้ และสั่งการหรือเร่งรัดให้นายศิริสานนท์ กุลฉวะ รักษาการเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม สาขาท่าอุเทน รีบจัดทำบันทึกสรุปและรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนต่ออธิบดีกรมที่ดินโดยเร็ว เพื่อที่อธิบดีกรมที่ดิน จะได้พิจารณาดำเนินการตามระเบียบราชการและกฎหมายต่อไป
เนื่องจากมติของคณะกรรมการนั้นถือว่าเป็นอันสิ้นสุดแล้ว นายศิริสานนท์ กุลฉวะ ต้องส่งมติดังกล่าวเสนอต่ออธิบดีกรมที่ดินพิจารณา ภายในวันที่ 25 เมษายน 2563 แต่นายศิริสานนท์กลับเพิกเฉยไม่ยอมส่งมติของคณะกรรมการตามกรอบเวลาดังกล่าว ทั้งๆที่เป็นหน้าที่ของเลขานุการต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ตรงกันข้ามนายศิริสานน์ กุลฉวะ ได้มีหนังสือซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวส่งถึงคณะกรรมการทั้ง 4 ท่าน อีกทั้งยังยื่นหนังสือฉบับเดียวกันถึงศาลจังหวัดนครพนม โดยไม่มีใครร้องขอแต่อย่างใด การกระทำของนายศิริสานนท์ กุลฉวะ จึงเข้าข่ายการปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
โดยเรื่องราวการบุกรุกที่ดินสาธารณะบ้านห้วยพระหมู่ที่ 9 และหมู่ 14 นี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เริ่มจากคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ได้อนุมัติโครงการจัดที่ดินเพื่อให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัย หรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพตามควรแก่อัตภาพ ซึ่งจังหวัดนครพนมเสนอท้องที่บ้านห้วยพระ หมู่ 9 เป็นพื้นที่จะจัดให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยฯ ปรากฏว่าในปีดังกล่าวอดีตนายอำเภอท่าอุเทน ไม่ยอมปิดประกาศให้ประชาชนทราบ แต่กลับมีชื่อบุคคลนอกพื้นที่เข้ามาจับจอง โดยมีอดีตกำนันตำบลท่าจำปา และอดีตเจ้าพนักงานที่ดิน ในฐานะเจ้าหน้าที่ในการจัดที่ดินลงชื่อรับรองเป็นพยาน กระทั่งตั้งเป็นขบวนการใหญ่มีทั้งนายอำเภอ ปลัดอำเภอฯ และเจ้าพนักงานที่ดิน เป็นผู้อำนวยความสะดวกแก่นายทุน และลุกลามรุกที่ดินสาธารณประโยชน์และที่ดินทำกินของชาวบ้าน จนสามารถออกเป็นโฉนด และนายทุนก็ฟ้องขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เหตุที่ชาวบ้านเจ้าของที่เดิมแพ้คดีในศาล เพราะมีเจ้าพนักงานที่ดินไปเป็นพยานให้ฝ่ายนายทุนว่าใบโฉนดนั้นออกโดยถูกต้องตามกฎหมาย ชาวบ้านห้วยพระก็ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมมาทุกยุคทุกสมัย แต่ไร้การเหลียวแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: