นครพนม – “บุกถึงถิ่นถึงสวน” นายก อบจ.นครพนม ไม่ยอมให้เกษตรกรยากจน ลุยศึกษาการปลูกพืชเศรษฐกิจ มพร้าว ขนุน ฯลฯ หวังสร้างความร่ำรวยอย่างยั่งยืน
กรณี นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ดร.สมชอบ นิติพจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม(อบจ.ฯ) นำคณะทีมงานจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ประกอบด้วย สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ(ส.อบจ.ฯ) เกษตรอำเภอในแต่ละอำเภอ และหอการค้าจังหวัดนครพนม ซึ่งชุดทีมงานดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นชุดใหญ่ของจังหวัดนครพนมชุดแรก ที่คัดรวมเอาหัวกะทิจากอำเภอต่างๆให้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ จังหวัดราชบุรี และ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 1 – 4 สิงหาคม 2563 เพื่อศึกษาดูงานเกี่ยวกับมะพร้าว(มะพร้าวใหญ่หรือมะพร้าวที่นำมาทำกะทิ),มะพร้าวน้ำหอม,ขนุนพันธุ์ทองประเสริฐ พันธุ์ทองมาเล พันธุ์เพชรราชา ที่ชาวอำเภอสามร้อยยอดนิยมปลูกเพื่อขายส่งออกต่างประเทศ
โดยลงพื้นที่เยี่ยมชมตลาดศรีเมือง ซึ่งเป็นตลาดกลางผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย,โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าวขนาดใหญ่ของปรเทศ,วิสาหกิจชุมชนบ้านกุ่มพัฒนา ต.บางแพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี ที่ได้มีการรวมกลุ่มแม่บ้านเพื่อทำอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยการนำผลไม้ในพื้นที่มาแปรรูปขายและส่งออกผลไม้ปลอดภัยไปหลายสิบประเทศ,ตลาดขนุนอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์,ลงพื้นที่ดูแปลงปลูกมะพร้าวใหญ่อำเภอทับสะแกของนายสายชล จ้อยร่อย ผู้รับซื้อมะพร้าวขาวรายใหญ่สุดของประเทศ,ตลอดจนชมโรงงานทำมะพร้าวขาวของนายสายชลที่ส่งมะพร้าวป้อนโรงงานผลิดกะทิรายใหญ่ของไทยหลายโรง,เยี่ยมชมโรงงานสยามฟรุ๊ตการ์เด้น (กุยบุรี) ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯ เป็นโรงงานแปรรูปผลไม้เช่น สับปะรด มะม่วงพันธ์ต่างๆ แคนตาลูป มะละกอ ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
ข่าวน่าสนใจ:
- อำเภอทับปุดจัดงานเทศกาลกินเจ ปิดซอยแจกอาหารเจฟรีกว่า 40 ร้าน
- มุกดาหาร ประเพณี 4 สนุก กลุ่ม จว. ความเชื่อ ความศรัทธา แห่ปราสาทผึ้ง ไหลเรือไฟ กฐินน้ำบูชาพญานาค จุดเทียนขึ้นภูฯ
- มทบ.210 ร่วมกับ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 41 นครพนม จัดการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพช่างไฟฟ้าให้กับทหารกองประจำการที่จะปลดประจำการ
- ชาวนาหมื่นศรี นำอัตลักษณ์ท้องถิ่นประดับเรือพระวัดควนสวรรค์ สะท้อนวิถีความสัมพันธ์ “คน-ผ้า-นา-วัด” ออกปากลงแรง ร่วมงานลากพระตรัง
ทั้งหมดนี้ ดร.สมชอบ นิติพจน์ นายก อบจ.นครพนม ต้องการให้ชาวคณะได้มีความมั่นใจในตลาดการขายผลไม้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการพาไปดูสถานประกอบกิจการที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ผู้นำของเกษตรกรของจังหวัดนครพนม เห็นถึงรูปแบบความสำเร็จหลายประเภทกิจการ สามารถที่จะนำไปเป็นต้นแบบของการเพาะปลูก และส่งเสริมการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนครพนม ที่มีตลาดรองรับที่แน่นอน ได้ราคาที่ดี เป็นธรรม
เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการส่งเสริมการปลูกมะพร้าว ผักปลอดสารพิษ ขนุนพันธุ์สามร้อยยอด มะม่วงพันธุ์แก้วเขมรหรือแก้วขมิ้น นับว่าเป็นทีมงานชุดสำคัญของจังหวัดนครพนม เพราะเป็นผู้นำและตัวแทนของเกษตรของแต่ละอำเภอในจังหวัดนครพนมที่ได้พามาเยือนราชบุรี เพื่อไปร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชชนิดใหม่ที่จะสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สร้างความร่ำรวยแก่เกษตรกร สร้างเศรษฐกิจที่มั่งคั่งแก่ชาวนครพนมต่อไป ดังนั้นทุกคนที่มาเห็นช่องทางรวย จากการปลูกพืชชนิดใหม่ ที่รอบเร็ว ทำรายได้ปีละหลายๆครั้ง ตลาดรับซื้อไม่จำกัด สามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก ปลอดภัยสำหรับตนเองที่ทำการเกษตร ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ทำรายได้ที่ดีอย่างมั่นคง
ซึ่งในชุดทีมงานได้รวบรวมเอาหลากหลายคำถามจากเกษตรกรที่สนใจ นำมาสอบถามตั้งประเด็นเพื่อให้ผู้รู้ให้คลายข้อสงสัยในฐานะตัวแทนเกษตรกรของชาวจังหวัดนครพนม ในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่ การหาพันธุ์ การเตรียมดิน วิธีการปลูก การดูแลรักษา การเก็บผลผลิตและให้คำแนะนำทางด้านการตลาด เพื่อนำคำตอบที่ได้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จไปถ่ายทอดและไขข้อสงสัยให้เกษตรกรชาวจังหวัดนครพนมได้รับรู้และรับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติ และการดูงานในครั้งนี้นั้น รอง ผวจ.ฯ พาลงพื้นที่ดูงานอย่างเดียว ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ คุ้มค่าต่อเวลาที่ต้องเสียไป ทุกคนมีเจตนาแน่วแน่ที่จะปรับเปลี่ยนตนเอง และมุ่งมั่นที่จะช่วยกันขยายแนวความคิดไปยังชาวนครพนมโดยรวมต่อไป
จุดที่ 1 วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม เป็นวันแรกของการศึกษาดูงาน ลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนมะพร้าว เชาว์-อารีย์ ต.วังเย็น อ.บางแพ จ.ราชบุรี เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ปลูกมะพร้าวน้ำหอมแปลงใหญ่ จำนวน 270 ไร่ และอนุญาตให้ชาวบ้านที่มาขอทำหน้าดินปลูกพืชล้มลุก เช่น ฝรั่งกิมจู บวบเหลี่ยม พริก ฯลฯ ในสวนโดยไม่เก็บค่าเช่า แต่ให้ช่วยดูแลสวนมะพร้าว โดยผู้ที่มาปลูกพืชล้มลุกต้องดูแลสวนให้เตียน ใส่ปุ๋ย เจ้าของสวนก็ไม่ต้องจ้างคนมาดูแล ผู้ที่มาทำการเกษตรภายในสวนก็ไม่ต้องเช่าพื้นที่ทำการเกษตร ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ นายปิติวัฒน์ ชิ้นปิ่นเกลียว หรือเฮียตึ๋ง เจ้าของสวนได้ออกมาต้อนรับคณะเป็นอย่างดีพร้อมทั้งให้ความรู้เรื่องการวางแผนผังของที่ดิน การเตรียมดิน การปลูก การบำรุงดูแลรักษา การให้น้ำ ฯลฯ
จุดที่ 2 เยี่ยมชมบริษัท ไทยโคโคนัท จำกัด (มหาชน) ต.หนองกลางนา อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นบริษัทส่งออกกะทิและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับมะพร้าวขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่ทำการผลิตและส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีมาตรฐานโลกทุกตัว ได้รับชมวีดีทัศน์ ฟังบรรยายสรุปการแปรรูปมะพร้าวส่งออกไปยังต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัทหลายร้อยผลิตภัณฑ์ ทั้งผลิตตามที่มีผู้ประกอบการสั่งผลิต และผลิตในนามบริษัทตนเอง รับชมกระบวนการผลิตต่างๆการบรรจุภัณฑ์ ผู้เข้าศึกษาดูงานได้สอบถามเกี่ยวกับการตลาดของมะพร้าวในอนาคต เพื่อความมั่นใจหากจะส่งเสริมให้เกษตรกรชาวนครพนมปลูกมะพร้าวว่ามีตลาดรองรับหลังจากการปลูก ซึ่งทางบริษัทได้ให้ข้อมูลของตลาดมะพร้าวว่ายังเป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งตลาดผู้บริโภคภายในประเทศทุกจังหวัด ที่นำมาขูดทำกะทิคั้นสดสำหรับทำอาหาร ขนม ฯลฯ และที่ต้องแปรรูปเพื่อส่งออกต่างประเทศ ยังเป็นพืชที่มีอนาคตไกล ที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุกเดือน
จุดที่ 3 เดินทางเข้าเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความรู้ ณ วิสาหกิจชุมชนบ้านกุ่มพัฒนา 2/8 หมู่ 2 ต.บางแพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี ได้มีการรวมกลุ่มแม่บ้านเพื่อทำอาชีพเสริมสร้างรายได้ ตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกุ่มพัฒนาในปี 2549 หนึ่งในการสร้างรายได้คือ การเพาะเห็ด ซึ่งนำโรงเรือนที่เคยเลี้ยงโคนมมาเป็นสถานที่ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ด เช่น น้ำพริกเผาเห็ด, แหนมเห็ด, กะหรี่ปั๊บเห็ด ฯลฯ
จนมาสู่กล้วยตากอบน้ำผึ้งจากกล้วยน้ำว้าพันธุ์ดั้งเดิมของชุมชน พร้อมกรรมวิธีบ่มตามภูมิปัญญาโบราณของบรรพบุรุษ ภายใต้ชื่อกล้วยตากแบรนด์กุ่มทอง ที่ขายดีจนไม่พอขาย และได้ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องผ่านปัญหาและอุปสรรคมากมาย ที่ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้จนเกิดเป็นองค์ความรู้ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เห็นคุณค่า ใช้ประโยชน์จากทุกสิ่งอย่างคุ้มค่า และพึ่งพาตัวเองได้
จุดที่ 4 ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชนจังหวัดราชบุรี (ศูนย์ OTOP บางแพ) ต.วัดแก้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี รับฟังบรรยายสรุปจากประธานกลุ่ม นายประยูร วิสุทธิไพศาล เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ และศึกษาดูงานการดำเนินกิจการของศูนย์ ตั้งแต่การมีเกษตรกรนำมะพร้าวจากสวนมาส่งที่ศูนย์ การควั่นมะพร้าว (การปอกเปลือกมะพร้าวเป็นรูปทรงต่าง ๆ ) การห่อ และการบรรจุเพื่อส่งออกไปขายทั้งในและต่างประเทศ
จุดที่ 5 ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของวันแรก เวลา 18.00 น. ลงพื้นที่สวนอินทผลัมนายวินัย เกษมศรี บ้านหัวทะเล ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เพื่อดูว่ามีความเหมาะสมที่จะพาคณะ อบจ.นครพนม มาศึกษาดูงานการปลูกอิทผลัมหรือไม่ ตามที่ อบจ.นครพนมประสงค์จะไปศึกษาดูงานเรื่องการปลูกอินทผลัม เพิ่มเติมจากการศึกษาดูงานการปลูกมะพร้าว จึงได้ลงพื้นที่พบนายวินัยเจ้าของสวน ซึ่งมาต้อนรับด้วยตนเอง นายวินัยได้เล่าเรื่องการปลูกอินทผลัม การเตรียมดิน การยกร่อง สายพันธุ์ โรคพืชและแมลงที่ทำลาย การให้ปุ๋ย ให้น้ำ ผลผลิต การตลาด ได้สอบถามข้อมูลต่าง ๆ อินทผาลัมในสวนนี้มีผลดกมาก และมีคนมาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก การศึกษาดูงานวันนี้เข้าที่พักในเวลา 23.00 น.
จุดที่ 6 รุ่งเช้าวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน บริษัท นิลทองแท้โคโคนัท จำกัด ต.อ่างทอง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นบริษัทของนายสายชล จ้อยร่อย ชีวิตจากเด็กที่ครอบครัวยากจนข้นแค้น มาเป็นผู้รับซื้อมะพร้าวขาวรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ที่ส่งมะพร้าวขาวป้อนโรงงานกะทิรายใหญ่ของประเทศไทย เช่น ไทยโคโคนัท ราชบุรี , กะทิชาวเกาะของบริษัทเทพผดุงพร , อำพลฟู๊ด บริษัทลูกของเทพผดุงพร ฯลฯ จุดแรกที่ไปศึกษาดูงานคือ สวนมะพร้าวของบริษัท แปลงที่ปลูกบนเนินเขาลูกรัง ซึ่งปกติดินลูกรังจะปลูกอะไรไม่ได้ ชาวสวนชาวไร่จะหลีกเลี่ยงที่จะปลูกพืชบนดินลูกรัง เพราะโอกาสตายมีสูงมาก ถึงรอดก็ไม่โตไม่ก่อให้เกิดผลผลิต แต่นายสายชลสามารถปลูกมะพร้าวใหญ่ (มะพร้าวกะทิ) ได้ดี ใบเขียวต้นโตงอกงาม ผลดก ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจของทุกคนที่ไปศึกษาดูงานว่าทำได้อย่างไร นายสายชลได้อธิบายให้ทุกคนฟังเรื่องการเตรียมดิน การคัดเลือกสายพันธุ์ การให้ปุ๋ย ให้น้ำ การดูแลบำรุงรักษาแต่ละช่วง และยังสาธิตวิธีการปลูกมะพร้าวตามแนวคิดของสวนนิลทองแท้ให้ชาวจังหวัดนครพนมได้รับชมและเป็นตัวอย่าง
ซึ่งในสวนมีมะพร้าวหลายพันธุ์ เช่น ทองมาเล , สวี 1,ชุมพร 1 นายสายชลเปิดเผยว่าปลูกเพื่อให้เกษตรกรชาวอำเภอทับสะแกเห็นว่าการปลูกมะพร้าวบนดินลูกรังที่มีทั่ว ๆ ไปในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ สามารถปลูกได้ และให้ผลผลิตที่ดี เพียง 3 ปีครึ่งมะพร้าวก็ออกลูกแล้ว ให้ผลดกด้วยทะลายละ 13-14 ลูกขึ้นไป สามารถตัดได้ทุกเดือน หลังจากนั้นได้พาไปดูโรงงานมะพร้าวขาวของบริษัท ดูขั้นตอนการรับมะพร้าวขาวจากเกษตรกร การล้างมะพร้าว การนำมะพร้าวขาวเข้าห้องเย็นเพื่อส่งออกไปยังโรงงานขนาดใหญ่ที่จังหวัดราชบุรีและนครปฐม และพาไปดูการกะเทาะเปลือกมะพร้าว ฯลฯ ซึ่งค่อนข้างจะครบวงจร นอกจากนี้นายสายได้กล่าวว่าทุกอย่างที่เกี่ยวกับมะพร้าวสามารถขายได้หมด ไม่มีอะไรเหลือ แม้แต่เปลือกมะพร้าว กะลามะพร้าว ทางมะพร้าว ก้านมะพร้าวผงใยมะพร้าว ฯลฯ คณะศึกษาฯเข้าที่พักในเวลา 22.30 น.
จุดที่ 7 เช้าวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2563 เยี่ยมชมสวนโกเหย้ามะพร้าวน้ำหอม ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงพื้นที่ศึกษาและสอบถามการปลูกมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวน้ำหวาน ซึ่งทางเจ้าของสวนได้บอกว่ามะพร้าวที่ปลูกในสวนนั้น เป็นมะพร้าวลูกผสม ระหว่างมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวน้ำหวาน จึงทำให้มะพร้าวที่ออกผลผลิตมานั้นมีรสชาติออกหวานและมีกลิ่นหอมชื่นใจ พร้อมทั้งได้เรียนรู้การกำจัดแมลงศัตรูพืชต่างๆ เพื่อที่จะป้องกันพืชของเกษตรกรจากการกัดกินของศัตรูพืช
จุดที่ 8 ชมโรงงานสยามฟรุ๊ตการ์เด้น (กุยบุรี) ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อดูและศึกษาขั้นตอนการแปรรูปผลไม้ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชผลไม้ และเป็นการแปรรูปเพื่อขายส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้นอกจากการสร้างรสชาติที่แปลกใหม่แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ต่างชาติรู้จักผลไม้ไทย พร้อมทั้งการเป็นสร้างรายได้ให้กับประชาชน เกษตรกร ที่ปลูกผลไม้ให้ทางเลือกการสร้างรายได้ให้กับตนเองอีกด้วย
จุดที่ 9 ลงพื้นที่เยี่ยมชมชุมชนท่องเที่ยวบ้านรวมไทย ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเยี่ยมชมการแปรรูปผลไม้ ซึ่งมีรสชาติที่ดี อร่อย ปลอดภัย อีกทั้งยังมีการแปรรูปโดยการนำไม้ที่ได้จากธรรมชาติมากลึงขึ้นรูปให้เป็นของใช้ต่างๆ ขายรายได้ดี ทั้งสวย ทั้งทน พร้อมสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นจำนวนมาก
จุดที่ 10 เยี่ยมชมสวนคุณไพโรจน์ ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการปลูกขนุน ตลาดรับซื้อขนุนส่งออกต่างประเทศ นายไพโรจน์ฯ ได้ให้คำแนะนำการปลูกขนุนพันธุ์ต่าง ๆ ของชาวอำเภอสามร้อยยอด ทั้งวิธีการปลูก ชนิดพันธุ์ การดูแลรักษา การแปรรูปและส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยชนิดของขนุนที่นิยมปลูกกันนั้นมีหลัก ๆ 3 ชนิดคือ 1.ขนุนพันธุ์ทองประเสริฐ 2.พันธุ์ทองมาเล ที่นิยมปลูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศ และ 3.ขนุนพันธุ์เพชรราชา ที่ปลูกขายภายในประเทศ การปลูกให้เว้นระยะห่าง 7 x 8 เมตร ระยะการปลูกจนถึงเก็บผลผลิตครั้งแรกประมาณ 3 ปี โดยใน 1 ปี สามารถเก็บผลผลิตได้ 2 รอบ ทำรายได้ปีละประมาณ 70,000 – 100,000 บาท/ไร่ สามารถปลูกได้แม้ในดินลูกรัง ดินที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมากแบบมะพร้าวน้ำหอม เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เกษตรกรชาวจังหวัดนครพนมสามารถเลือก ปลูกในดินที่ไม่ดีเท่าไหร่ น้ำไม่ค่อยมีมาก ซึ่งสามารถทำรายได้ใกล้เคียงกับมะพร้าวน้ำหอมในขณะนี้ ซึ่งตลาดไม่ตัน เพราะเป็นที่นิยมของชาวจีน ที่พ่อค้าขนุนสามารถส่งออกไปจีนได้ปีละมาก ๆ มีโรงคัดบรรจุ(ล้ง)รับซื้อขนุนถึง 10 กว่าแห่ง เส้นทางส่งออกไปจีนก็ใช้ช่องทางจังหวัดเชียงรายและนครพนม พร้อมทั้งได้เรียนรู้และลองชิมขนุนแช่อิ่ม ซึ่งเป็นการแปลงรูปเพื่อถนอมอาหาร แล้วขายเพื่อสร้างรายได้เสริมได้อีกทาง
โดย ดร.สมชอบ นิติพจน์ นายก อบจ.นครพนม ให้ความสนใจการศึกษาดูงานครั้งมาก เพราะต้องการนำไปเผยแพร่ให้กับเกษตรกรชาวจังหวัดนครพนม ได้เรียนรู้ศึกษาพืชเศรษฐกิจใหม่นี้ เพื่อยึดเป็นอาชีพในการทำเกษตรที่สร้างรายได้อย่างเป็นกำเป็นกำ มีตลาดรองรับไม่อั้น สร้างความร่ำรวยอย่างยั่งยืนต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: