X

นครพนมเดินหน้า ปลูกพืชเศรษฐกิจส่งนอก อบจ.ฯเปิดประตูเส้นทางเศรษฐี

นครพนม – เดินหน้า ปลูกพืชเศรษฐกิจส่งนอก อบจ.ฯเปิดประตูเส้นทางเศรษฐี นำคณะศึกษาดูงานสถานที่จริง 2 จังหวัด

จากกรณีที่จังหวัดนครพนมมอบหมายให้ นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ผู้มีประสบการณ์ด้านการเกษตร เนื่องจากระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ และปลัดจังหวัด ท่านคลุกคลีอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง และ ภาคใต้ สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรสำเร็จมาแล้ว นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม จึงมอบหมายความรับผิดชอบ ให้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรทั้ง 12 อำเภอของจังหวัดนครพนม เพื่อหาต้นตอว่าทำไมเกษตรกรยังยากจน และมีหนี้สินพะรุงพะรังอยู่ ให้นำสิ่งที่พบมารายงานเพื่อหาช่องทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ซึ่งต่อมา รอง ผวจ.ฯ พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ ยังยึดอาชีพทำนา แม้จะรู้ว่าขาดทุนก็ยังทำทุกปี หลังเสร็จหน้านามักจะปล่อยพื้นที่ว่างเปล่า ทั้งที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ต่างกับจังหวัดอื่นที่ขาดแคลนน้ำ จึงต้องเจาะบาดาลขึ้นมาใช้ทางเกษตร มีพื้นที่บางส่วนทำสวนยางพาราหวังลืมตาอ้าปากราคาก็ตกอีก มีบ้างที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเช่น ลิ้นจี่ แตงโม ข้าวโพดหวาน มะเขือเทศ พืชผักสวนครัว แต่ก็ไม่ได้ขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งที่มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3(นครพนม-คำม่วน) ดังนั้นชาวจังหวัดนครพนมจึงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสะพานแห่งนี้เลย ตรงกันข้ามกลับมีคนจากภาคอื่น ส่งสินค้าทางการเกษตรไปยังประเทศเวียดนาม และจีนตอนใต้ โดยเฉพาะ ทุเรียน มังคุด มะพร้าวน้ำหอม ลำไย ขนุน มะม่วง ฯลฯ

หลังทราบต้อเหตุแล้ว นายชาตรี จันทร์วีระชัย รอง ผวจ.นครพนม ได้เป็นหัวหอกในการพาคณะหอการค้าจังหวัดนครพนม ที่มีนายมานพ เหมพลชม รองประธานหอฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นทัพหน้าชุดแรกเดินทางไปศึกษาดูงานการปลูกมะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวใหญ่(สำหรับทำน้ำกะทิ) ที่จังหวัดราชบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา

จากนั้นก็นำสิ่งที่ได้ไปสัมผัสกลับมาเผยแพร่แก่เกษตรกรผู้สนใจ และก็มีคณะศึกษาดูงานอีกหลายกลุ่ม ได้ตามไปดูการทำเกษตร ก็มีความเห็นตรงกันที่จะร่วมพลิกฟื้นการเกษตรเดิมๆ ในการลดพื้นที่ทางการเกษตรที่สร้างรายได้น้อย ให้หันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่สร้างรายได้มาก ตลาดรับซื้อไม่ตัน ปรับเปลี่ยนนครพนมให้เป็นเมืองแห่งผลไม้ของภาคอีสาน เกษตรกรสามารถส่งออกตลาดต่างประเทศด้วยตนเองได้ จึงประเดิมด้วยมะพร้าวน้ำหอม ขนุนพันธุ์สามร้อยยอด มะม่วงแก้วเขมร ฯลฯ

ล่าสุด องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม(อบจ.ฯ) โดยนายสมชอบ นิติพจน์ นายก อบจ.ฯ ได้กำหนดจัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและศึกษาดูงาน “การพัฒนาและส่งเสริมการค้า การลงทุน การพาณิชย์” ศูนย์ Clenic Center อบจ.นครพนม ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสัมมนาเชิงปฏิบัติการจากสถานที่จริง อันเป็นการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้ที่มีความสนใจให้มีศักยภาพในการพัฒนา และสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น รวมถึงนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับผู้สนใจในระดับต่างๆ ซึ่งจำนำไปสู่การพึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยกำหนดจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-4 สิงหาคม 2563 ณ จังหวัดราชบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน จำนวน 70 คน

สถานที่ศึกษาดูงานประกอบด้วย การปลูกมะพร้าวน้ำหอม สวนเชาว์-อารีย์ อ.บางแพ จ.ราชบุรี มีนายปิติวัฒน์ ชิ้นปิ่นเกลียว หรือเฮียตึ๋ง อดีตวิศวกร กระทรวงอุตสาหกรรม และอาจารย์พิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าของสวน ผู้ทิ้งงานเงินเดือนเป็นแสนมาเป็นเกษตรกรปลูกมะพร้าวน้ำหอม มีรายได้เป็นล้านดีกว่า จากนั้นก็ไปดูการผลิตกะทิและการแปรรูปจากมะพร้าวเพื่อส่งออก บริษัทไทยโคโคนัท และแวะชมการผลิตกล้วยน้ำว้าอบน้ำผึ้ง ที่ส่งขายในตลาดราคาลูกละ 10 บาท

นอกจากนี้ยังไปดูโรงงานแปรรูปมะพร้าวน้ำหอมส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา และดูการซื้อขายผักปลอดสารพิษระหว่างเกษตรกรกับผู้ซื้อที่ตลาดสดศรีเมือง จังหวัดราชบุรี โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จากนั้นก็จะเดินทางไปอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดูงานแปลงปลูกมะพร้าวกะทิบนภูเขาของนายสายชล จ้อยร่อย ที่ไต่เต้ามาจากคนจบแค่ชั้น ป.5 ฐานะทางบ้านยากจน ปัจจุบันเป็นเจ้าของสวนมะพร้าวกว่า 3 พันไร่ และโรงงานส่งออกมะพร้าวรายใหญ่ของประเทศ ฯลฯ

ก่อนหน้านี้นายสายชล จ้อยร่อย เดินทางมาที่จังหวัดนครพนมอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อดูแปลงดินที่เตรียมจะปลูกมะพร้าวน้ำหอมให้กับเกษตรกรในจังหวัดรายหลาย ซึ่งนายสายชลยืนยันว่าน้ำท่าอุดมสมบูรณ์กว่าทางจังหวัดประจวบและราชบุรี ส่วนเกษตรกรเกรงว่าถ้าปลูกบนดินลูกรัง ผลผลิตอาจจะไม่ได้ตามที่ต้องการ สำหรับเรื่องนี้จึงอยากให้เกษตรกรจังหวัดนครพนมไปดูแปลงปลูกมะพร้าวของตน นอกจากจะปลูกบนเนินเขาแล้วยังเป็นดินลูกรังอีก และมีความเจริญงอกงามกว่าดินร่วนด้วย คาดว่าการศึกษาดูงานครั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 70 คน จะนำมาถ่ายทอดให้กับผู้สนใจ จึงเป็นการสร้างรายได้ที่มากกว่าปลูกพืชดั้งเดิม

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน