นครพนม – หมอสงค์ไม่ทนต่อสัญญาทาส ฉะรัฐบาลเตรียมเข้า CPTPP ข้อตกลงเอื้อประโยชน์คนรวย เกษตรกรตายหยังเขียด ประปา ไฟฟ้า แพงหูฉี่
วันที่ 27 เมษายน 2563 นายแพทย์ ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เปิดบ้านพักแถลงข่าวส่งไปถึงรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีจะนำข้อเสนอของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในการเข้าร่วม CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ในวันพรุ่งนี้(28 เมย.)
นพ.ประสงค์ฯกล่าวว่า ปัจจุบัน CPTPP มี 11 สมาชิกที่เหลือจากกรอบความร่วมมือเดิม ที่ใช้ชื่อ TPP(Trans-Pacific Partnership) หรือข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) แต่เดิมนั้นมี 12 ประเทศ ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกา 2.ญี่ปุ่น 3.แคนาดา 4.เม็กซิโก 5.เปรู 6.ชิลี 7.ออสเตรเลีย 8.นิวซีแลนด์ 9.สิงคโปร์ 10.มาเลเซีย 11.บณุไน และ 12.เวียดนาม ภายหลังต้นปี 2017(พ.ศ.2560) สหรัฐอเมริกาหัวเรือใหญ่ได้ถอนตัวออกไป แต่ล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะหวนกลับมาร่วมเป็นสมาชิกใหม่อีกครั้ง
ข่าวน่าสนใจ:
หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP เมื่อไหร่ ความหายนะจะเกิดกับคนไทยทั้งประเทศ โดย นพ.ประสงค์ฯตั้งคำถามไว้เป็นข้อคิดแก่รัฐบาล ว่า หลังเข้าร่วมแล้วประเทศไทยต้องมีการปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อจะไปเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 คือข้อ 1.จะห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไป ซึ่งกระทรวงเกษตรพยายามผลักดันหลายครั้ง ทั้งสอดไส้ผ่าน พ.ร.บ.ข้าว แต่ทนฟังเสียงกร่นด่าไม่ไหวจึงม้วนเสื่อกลับไป แต่เมื่อเข้า CPTPP แล้ว ก็จะอาศัยใช้จังหวะนี้มาเป็นกฎหมายบังคับใช้กับเกษตรกร
2.ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์แก่องค์กรเภสัชกรรมในการจัดซื้อยาของภาครัฐ ตลอดจนยกเลิกการอุดหนุนให้ความช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจด้านการซื้อหรือขายสินค้าและบริการฯ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ และอุตสาหกรรมของต่างประเทศ โดยไม่สนใจว่ารัฐวิสาหกิจมีพันธกิจทางสังคม เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ยารักษาโรค สิ่งเหล่านี้จะมีราคาแพงขึ้น คนมีเงินเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงสิ่งที่กล่าวข้างต้นได้
3.ปรับแก้ประกาศคณะกรรมการควบคุมเรื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะรูปภาพคำเตือนบนฉลาก อาจจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่เตรียมนำออกมาใช้ ระเบียบและนโยบายเพื่อคุ้มครองประชาชน คุ้มครองสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม ภาพเหล่านั้นอาจไม่สามารถทำได้อีก
4.การคุ้มครองการลงทุน และการให้เอกชนฟ้องร้องภาครัฐ หรือกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน จะต้องมีการเปลี่นแปลง
และ 5.ไทยต้องยอมรับการที่จะให้สินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ คล้ายว่าจะเอาขยะทางการแพทย์มาทิ้งในประเทศไทย เพราะในความตกลงฯระบุว่า ห้ามปฏิบัติต่อสินค้าดังกล่าวเหมือนสินค้าใช้แล้ว
นพ.ประสงค์ฯ สรุปว่า การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงแก่ประเทศไทย เช่น การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ไม่สามารถแข่งขันได้ ทำลายความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางยา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SME รวมทั้งจำกัดพื้นที่สาธารณะฯในการคุ้มครองประชาชน ไม่ต่างอะไรกับสัญญาทาส คนไทยทั้งประเทศจะตกเป็นทาสทุนข้ามชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยกับสื่อแขนงหนึ่งว่า ชาวนาขอคัดค้านการเข้าร่วมผูกพันข้อตกลงทางการค้า CPTPP มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนรวย แล้วชาวนาตกเป็นเบี้ยล่างต้องเสียเงินไปซื้อพันธุ์ข้าวทุกปี เพราะโดยปกติชาวนาจะเก็บพันธุ์ข้าวไว้ทำพันธุ์ อย่างน้อย 3-4 ปี ถึงจะซื้อพันธุ์ใหม่ครั้งหนึ่ง แล้วเมื่อพันธุ์ยังดีอยู่ จะนำพันธุ์ไปขายกันในระหว่างชาวนากันเอง ซึ่งต่อไปจะไม่ได้เพราะขายไปก็มีความผิด
ไม่ต่างจากนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สยท.) กล่าวว่าถ้ารัฐบาลเห็นด้วยก็เท่ากับว่าไม่รำลึกถึงภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่ดูแลเกษตรกรมาหลายชั่วอายุคน ถ้าถูกทำลายในครั้งนี้ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้ชั่วลูกชั่วหลาน ที่สำคัญเป็นความวิบัติของการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง หรือเกษตรกรแบบยั่งยืนอย่างแท้จริง อาจจะกล่าวว่า CPTPP ขัดแย้งกับหลักการเกษตรพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9
นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ เป็น ส.ส.นครพนม กว่า 10 สมัย อยู่ในสนามการเมืองนานกว่า 30 ปี สร้างนักการเมืองขึ้นมาหลายคน เช่นศิษย์ก้นกุฏิอย่างนายอรรถสิทธิ์ (คันคาย) ทรัพยสิทธิ ก็เป็น ส.ส.นครพนม ถึง 7 สมัย หลังเจอพายุการเมืองกระหน่ำต่างแยกย้ายไปอยู่พรรคอื่นได้ระยะหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้นายอรรถสิทธิ์ก็ย้ายมาอยู่พรรคเสรีรวมไทยกับอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: