X

วันชุมนุมผีประจำปี อ.นาแก คติความเชื่อจัดบุญเลี้ยงผี ขอฟ้าฝน ช่วยภัยแล้ง

นครพนม – วันชุมนุมผีประจำปี อ.นาแก คติความเชื่อจัดบุญเลี้ยงผี ขอฟ้าฝน ช่วยภัยแล้งสร้างความอุดมสมบูรณ์ สืบสานตำนานหมอเหยา

วันที่ 29 มกราคม 2563  ที่ชุมชนบ้านนาคู่ ต.นาคู่ อ.นาแก จ.นครพนม นายศรี ศรีพุทธรินทร์  นายอำเภอนาแก  พร้อมด้วย นายพิมะ แสงมณี นายก อบต.นาคู่  ตลอดจนผู้นำชุมชนท้องถิ่น  เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง และผู้บริหารชุมชนท้องถิ่น  ร่วมเปิดงานประเพณีชุมนุมหมอเหยาหรือเลี้ยงผีหมอ  ถือเป็นประเพณีชาวอีสาน สืบทอดแต่โบราณยาวนานกว่า 100 ปี  โดยทุกปีในเดือนมกราคมหลังงานเทศกาลปีใหม่ บรรดาชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ อ.นาแก รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง เช่น สกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ จะมาร่วมกันประกอบพิธีชุมนุมหมอเหยา   หรืองานบุญเลี้ยงผีหมอ  ผีบรรพบุรุษตามประเพณี เชื่อกันว่าหากได้ทำบุญเลี้ยงผีหมอทุกปี ชาวบ้านจะมีความอุดมสมบูรณ์ มีความสุขความเจริญ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ  ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล  ไร่นาได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์  อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีโบราณ ให้ลูกหลาน ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้ศึกษาเที่ยวชม นอกจากจะเป็นการสืบสานประเพณีความเชื่อ ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกด้วย

 

สำหรับพิธีหมอเหยา หรือบุญเลี้ยงผีหมอ จะเริ่มจากการจัดเตรียมสิ่งของ เครื่องเซ่นไหว้ อาหาร คาวหวาน ตามประเพณี เพื่อนำมาถวายบูชา บวงสรวง บอกกล่าว เสมือนการขึ้นครู โดยจะมี พ่อหมอ แม่หมอ เป็นเจ้าจ้ำ หรือปราชญ์ชาวบ้านที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ทำหน้าที่เป็นสื่อในการบอกกล่าวผีบรรพบุรุษ   นอกจากนี้จะมีการเสี่ยงทาย จากการตั้งไข่ เพื่อทำนายทายทัก  รวมถึงตรวจดวงชะตา  ไปจนถึงการรักษาโรคภัยไข้เจ็บตามความเชื่อ  เนื่องจากแต่โบราณชาวบ้านจะเชื่อเรื่องของผีบรรพบุรุษ ไม่มีการรักษาแบบแผนปัจจุบัน ต้องหันไปพึ่งผีสางเทวดาในการรักษาโรค  รวมถึงขอพรจากผีบรรพบุรุษ หรือผีสางเทวดาที่ดูแลปกปักษ์รักษา ได้มาประทับร่างเหมือนการประทับร่างทรง แม่หมอ พ่อหมอ เพื่อรักษาทางไสยศาสตร์  นอกจากนี้หลังเสร็จพิธีบวงสรวง ถวายเครื่องเซ่นไหว้ จะมีการจัดกิจกรรมรื่นเริง ร่ายรำ ประกอบดนตรีพื้นบ้าน ให้ชาวบ้าน และบรรดา พ่อหมอ แม่หมอ ได้ร่วมสนุกสนาน

 

แม่หมอ สายรุ้ง วงศ์ศรีชา อายุ 47 ปี  แม่ครูหมอเหยา กล่าวว่า สำหรับหมอเหยา ถือเป็นประเพณีความเชื่อ ที่ชาวบ้านสืบทอดกันมาแต่โบราณ  ทำให้ทุกวันนี้บางชุมชนหมู่บ้านยังนับถือมาถึงปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าใครที่นับถือผี หรือยังศรัทธาในผีหมอ จะทำให้เจริญรุ่งเรือง มีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ  จึงมีการนับถือสืบทอดกันมา บางครอบครัวจะมีคนในครอบครัว ที่มีปัญหาเจ็บป่วยหรือเกิดสิ่งไม่ดีงาม เมื่อมาหาหมอเหยาประกอบพิธี ทำให้ดีขึ้นหายจากเจ็บป่วย  ถือเป็นประเพณีความเชื่อที่พิสูจน์ยาก แต่เป็นความศรัทธาของชาวบ้านมากกว่า บางคนที่นับถือก็จะรับผีมาอยู่ด้วย และเป็นหมอเหยา ส่วนใหญ่จะมีการสืบทอดสู่ลูกหลาน

 

สำหรับงานบุญเลี้ยงผีประจำปี จะมีการถวายเครื่องสักการบูชา อาหารคาวหวาน มีการทำนายทายทัก การพยากรณ์ดินฟ้าอากาศ รวมถึงคนที่มีปัญหาเจ็บป่วยจะมาร่วมพิธีเพื่อแก้เคล็ด  จากนั้นพ่อหมอ แม่หมอ ที่นับถือผี มีตั้งแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ไปจนถึงเด็ก รุ่นลูกหลาน จะได้ร่วมกันเต้นรำผีหมอ ประกอบดนตรี เป็นการจัดงานรื่นเริง ชุมนุมผีหมอประจำปี  ซึ่งเชื่อว่าจะมีผีประจำตัวมาประทับร่างประกอบด้วย ผีดิน ผีฟ้า ผีน้ำ ผีลม ผีบ้าน ผีเรือน  มาร่วมงานบุญ และแต่ละคนจะมีกริยาท่าทางที่แตกต่างกันไป รวมถึงจะมีการละเล่นต่างๆ ในการเต้นรำด้วย บางคนชอบเล่นน้ำ เล่นดิน และเล่นไฟ   ซึ่งทุกปีจะมีหมอเหยามาร่วมชุมนุมกว่า 400 -500 คน ส่วนหนึ่งเชื่อกันว่าเป็นการประกอบพิธีเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูการ ขับไล่สิ่งไม่ดีงามออกจากหมู่บ้าน ทำให้มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ มีแต่ความร่วมเย็นเป็นสุข

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน