X

ชาวบ้านโวยประปางบภัยแล้ง ตรวจงานห่วย !! วางสายไฟเรี่ยราดหวั่นอันตราย

นครพนม – “Danger” ชาวบ้านโวยประปางบภัยแล้ง ตรวจงานห่วย !! วางสายไฟเรี่ยราดหวั่นอันตราย คนคุมแท็งก์น้ำกลัวหางเลข ปั่นจักรยานหนีสื่อ

 

คืบหน้า โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งรัฐบาลอนุมัติงบประมาณเร่งด่วน จำนวน 200 ล้านบาท แต่มีบางโครงการเสนอเรื่องไม่ทันเดือนกันยายน จึงถูกตัดงบไปเหลือประมาณ 140 ล้านบาทเศษ งบเร่งด่วนนี้ถือเป็นโครงการสำคัญที่จังหวัดนครพนม ได้ มอบหมายให้ทั้ง 12 อำเภอ นำไปดำเนินการร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด

ปรากฏว่ามีหลายอำเภอนำงบประมาณไปแสวงหาผลประโยชน์ เรียกผู้รับจ้างมาเจรจาหักค่าหัวคิวในแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ขึ้น จึงทำให้เนื้องานออกมาไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล ที่ต้องการแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย จึงมีชาวบ้านออกมาร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน กระทั่ง นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามทุกโครงการ พร้อมกับคำพูด”ชอบทำงานกันแบบเด็กๆ ผมก็ต้องไล่จี้แบบนี้ฯ” กำชับต้องได้มาตรฐานตรงตามสัญญาจ้าง 100 เปอร์เซ็นต์ หากไม่ได้มาตรฐานจะต้องมีการแก้ไข และต้องไม่มีการหมกเม็ด หากพบโครงการในพื้นที่ไหนเข้าข่ายทุจริต หรือดำเนินการไม่ตรงตามสัญญาจ้าง จะมีการตรวจสอบดำเนินการขั้นเด็ดขาด ทำให้หลายอำเภอขวัญผวาเข้าไปแก้ไขปรับปรุงใหม่กันระนาว

ล่าสุด นายปียา ผารุธรรม เครือข่ายธรรมาภิบาล ภาคประชาชน ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากราษฎรบ้านเวินพระบาทหมู่ 1 ต.เวินพระบาท อ.ท่าอุเทน ว่า การปรับปรุงระบบประปา ทำงานไม่ได้มาตรฐาน แต่ตรวจเซ็นรับงานไปแล้ว จึงเกิดความสงสัยว่าเซ็นผ่านได้อย่างไร ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ภายในวัดโพธิ์ชัย หรือวัดพระบาทเวินปลา เป็นโครงการปรับปรุงระบบแบบฝังดินขนาดเล็ก ลักษณะระบุเป็นไปตามแบบมาตรฐานสำนักงานพัฒนาน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในวงเงินค่าก่อสร้าง 298,800 บาท(สองแสนเก้าหมื่นแปดพันแปดร้อยบาทถ้วน)  โดยสร้างเป็นแพสูบน้ำอยู่ริมแม่น้ำโขงแทนหลังเก่าที่ถูกพายุพัดพังเสียหายช่วงกลางปี

มีการประมาณราคาค่าก่อสร้างได้คำนวณราคากลางรวม 16 รายการ โดยแยกเป็นงานอาคารจำนวนเงิน 138,800 บาท(หนึ่งแสนสามหมื่นแปดพันแปดร้อยบาทถ้วน) งานครุภัณฑ์ 160,000 บาท(หนึ่งแสนหกหมื่นบาทถ้วน) รวมเป็นเงิน 298,800 บาท (สองแสนเก้าหมื่นแปดพันแปดร้อยบาทถ้วน)  สร้างแล้วเสร็จพร้อมมีการตรวจงานผ่านเรียบร้อย แต่มีช่างผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามีวัสดุบางอย่างไม่เป็นไปตามแบบ เพราะนำเหล็กบางชนิดที่ไม่ได้มาตรฐานมาประกอบในโครงสร้างแพสูบน้ำ และคิดว่าคงไม่มีใครมารื้อแพพิสูจน์ จึงอยากให้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากหากนำวัสดุที่ไม่มีคุณภาพมาประกอบใช้อายุการใช้งานย่อมสั้นลง เปลืองงบประมาณไปเปล่าๆ

ผู้สื่อข่าวได้เจอกับผู้คุมแท็งก์น้ำประปา เพื่อสอบถามรายละเอียด ปรากฏว่าผู้ดูแลแท็งก์น้ำรีบคว้ารถจักรยานปั่นหนีออกไปทางด้านหลังวัดทันที แต่ได้พบกับนางสุประนอม ป้องกัน อายุ 60 ปี และนางสนม มหาราช อายุ 60 ปี ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กับแพสูบน้ำ เปิดเผยว่าหลังผู้รับจ้างสร้างแพเสร็จ ก็ขนอุปกรณ์กลับไป การวางสายไฟก็ไม่มีความรอบคอบ ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ร้อยสายไฟลอดท่อแป๊บเหล็กไปไปยังแพสูบน้ำ ซึ่งเกรงจะเกิดอันตรายต่อผู้ผ่านไปมา และอยู่ใกล้สนามกีฬาที่มีเด็กมาเล่นเป็นประจำทุกวัน หากเกิดสายไฟหลุดลอกหรือรั่วขึ้นมา แล้วดูดคนเสียชีวิตใครจะออกมารับผิดชอบ จึงอยากให้มีการฝังลงดินให้เรียบร้อย ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไว้อย่างนี้

สำหรับอำเภอท่าอุเทน ได้รับงบประมาณแก้ไขปัญหาภัยแล้งจากรัฐบาล จำนวน 27 โครงการ มีการเรียกผู้รับจ้างไปตกลงราคากัน โดยไม่ยอมให้ใครรู้เห็น และดึงพรรคพวกในวงการก่อสร้างจากต่างจังหวัดที่เคยผูกพันกันมารับไปหลายโครงการ ซึ่งมีการหักเปอร์เซ็นต์ไปอย่างต่ำ 35 %

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน