X

ผู้ว่าฯนครพนม ตรวจงบภัยแล้งขุดคลองหนองงูเห่า ใช้งบน้อยแต่ดีกว่า ชาวบ้านได้ประโยชน์จริง

นครพนม – วันที่ 12 ธันวาคม 2562 เวลา 12.00 น. นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายพงษ์ภาณุ พิมลภัทรกุล เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม เดินทางลงพื้นที่ตรวจโครงการขุดคลองน้ำเพื่อการเกษตรหนองงูเห่า บ้านบะหว้า หมู่ที่ 7 ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า โดยมีนายทินกร ขันแก้ว นายอำเภอนาหว้า พร้อมราษฎรผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวรอต้อนรับ ด้วยการกางเต็นท์หวังให้ผู้ว่าฯเข้าไปหลบร้อน แต่เมื่อนายสยามเดินลงจากรถประจำตำแหน่ง ได้บอกกับผู้นำชุมชนว่าคราวหน้าไม่ต้องลำบากกางเต็นท์รอ เพราะมาตรวจงาน ก่อนจะเดินตรวจการขุดคลองน้ำ และเข้าไปสอบถามเกษตรกรที่กำลังทำนาปรังกันอยู่ ถึงกรณีมีโครงการนี้ได้รับประโยชน์อย่างไร

นางสาวกัญชลิดา  ก้อนกั้น ชาวนาบ้านบะหว้า เปิดเผยว่าเกษตรกรที่มีพื้นที่ติดกับลำห้วยน้ำอูนจะโชคดีเพราะจะทำนาได้ทั้งนาปีและนาปรัง ส่วนทุ่งหนองงูเห่าแห่งนี้เป็นที่ดินสาธารณะมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ถึงฤดูฝนจะถูกน้ำท่วมทำการเกษตรไม่ได้ พอเข้าหน้าแล้งน้ำแห้งกลายเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ทำการเกษตรอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อรัฐบาลมีโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทางอำเภอเรียกประชุมหมู่บ้านว่าแต่ละชุมชนต้องการอะไร ทางผู้นำชุมชนประชุมลูกบ้านทั้งหมู่ 5 หมู่ 7 บ้านบะหว้า ทุกคนเห็นพ้องกันว่าควรขุดคลองน้ำหนองงูเห่า เพื่อดึงน้ำจากห้วยคอกช้างที่มีประตูเปิดปิดน้ำลงสู่คลองที่ขุดใหม่ เป็นการกระจายพื้นที่การเกษตรเพิ่มมากขึ้น

ด้านนายโยธิน  เอกจักรแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 กล่าวเพิ่มเติมว่าพื้นที่หนองงูเห่ามีจำนวน 1,200 ไร่ เดิมไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้เพราะเป็นพื้นที่น้ำท่วม หลังน้ำลดก็เป็นได้แค่ทุ่งสัตว์เท่านั้น โครงการนี้เกิดจากความต้องการของชาวบ้านอยากจะทำการเกษตรหลังเสร็จฤดูนาปี มีความกว้าง 8 เมตร ยาว 920 เมตร ลูกเฉลี่ย 3 เมตร หรือมีปริมาตรดินขุดไม่น้อยกว่า 13,800 ลูกบาศก์เมตร งบประมาณ 386,000 บาท(สามแสนแปดหมื่นหกพันบาทถ้วน) หลังดำเนินการเสร็จสิ้นจะมีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวน 150 ไร่ จาก 71 ครัวเรือน ประเดิมนำร่องปลูกข้าวนาปรัง หากประสบผลสำเร็จจะมีเกษตรกรเข้ามาทำนาหรือเพาะปลูกพืชอายุสั้นเพิ่มขึ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 400 ไร่ และจะต่อยอดขอขยายการขุดคลองให้ครอบคลุมทั้ง 1,200 ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยไม่ปล่อยให้พื้นที่ว่างเปล่าเหมือนที่ผ่านมา

ส่วนนายไพรวัลย์  อ้อยรักษา ประธานกลุ่มเกษตรกรนาปรัง บ้านบะหว้า หมู่ 5 และหมู่ที่ 7 เปิดเผยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ เกษตรกรแต่งตั้งตนเป็นประธานกลุ่มนาปรัง โดยได้มีการแบ่งที่ดินในส่วนที่ทำนา ให้กับเกษตรคนละ 1-2 ไร่  เพื่อปลูกข้าวนาปรัง  เก็บค่าเช่าไร่ละ 100 บาท  นำเข้ากองกลางของหมู่บ้าน แบ่งเป็น 3 ส่วน  โดยส่วนแรก  40 บาท  เพื่อใช้ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา วัดต่างๆในหมู่บ้าน  ส่วนที่ 2 จำนวน  40 บาท เป็นของสองหมู่บ้านเพื่อใช้พัฒนาหมู่บ้าน  และส่วนที่ 3 จำนวน 20 บาท เป็นกองทุนเพื่อใช้ในการซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรการเกษตร นอกจากนี้ในจำนวน 1,200 ไร่ ที่ดินสาธาณะหนองงูเห่าจะใช้ประโยชน์ร่วมกัน  โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน  เพื่อเป็นพื้นที่ทำนาและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ปลูกป่าเศรษฐกิจ(ยูคาลิปตัส)  และป่าชุมชน

ซึ่งนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม   กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ต.ท่าเรือ มีพื้นที่ติดกับอำเภอนาทม อำเภอโพนสวรรค์ เป็นเขตพื้นที่แห้งแล้งมาก ในบางปีแม้แต่นาปีก็ยังทำไม่ได้    และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีลงพื้นที่และประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดสุรินทร์  สืบเนื่องจากฝนทิ้งช่วงในช่วงกลางฤดูฝนพี่น้องประชาชนประสบปัญหาภาวะภัยแล้งบางพื้นที่น้ำท่วมบ้าง  รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะประสานงบกลาง งบนายกรัฐมนตรีที่จะมาดูแลพี่น้องประชาชน จังหวัดนครพนมก็ได้รับงบประมาณมาส่วนหนึ่งเพื่อที่จะมาดำเนินแผนงานโครงการ  สำหรับที่อำเภอนาหว้านี้เป็นการขุดลอกคลองสายใหม่ เพื่อจะชักน้ำเข้ามาพื้นที่เพาะปลูกเข้ามาที่ของพี่น้องประชาชน    ตั้งแต่ชั้นของการจัดทำโครงการ เป็นโครงการเร่งด่วนที่ต้องจัดทำ  โดยให้นายอำเภอปรึกษากับพื้นที่ อปท. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน โดยการประชุมประชาคม เพื่อทราบถึงความต้องการของประชาชน ซึ่งประชาชนต้องการให้ขุดคลองดึงน้ำแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ

โดยพื้นที่ตรงนี้ช่วงหน้าฝนน้ำท่วมทำนาไม่ได้ ที่เห็นอยู่นี้เริ่มมีการเพาะปลูกข้าวขึ้นเขียวขจี  โครงการนี้เป็นโครงการที่ดูแลพี่น้องประชาชนเราไม่อยากเห็นโครงการที่เงินรั่วไหล  ซึ่งเป็นความต้องการของรัฐบาลที่จะดูแลพี่น้องประชาชน รัฐบาลมีเจตนาดีแล้ว อย่าทำให้เจตนาของรัฐบาลที่ดีแล้ว  ทำให้ประชาชนกลายเป็นความรู้สึกไม่ดีให้กับพี่น้องประชาชนฯ

โครงการขุดคลองน้ำเพื่อการเกษตรหนองงูเห่า บ้านบะหว้า มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และเพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างแท้จริง และใช้งบประมาณเพียง 386,000 บาท สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้หลายครอบครัว ต่างกับอีกหลายโครงการที่มีการหมกเม็ด แถมใช้งบประมาณมากกว่าแห่งนี้ แต่เนื้องานออกมาหยาบต่างกันราวฟ้ากับเหว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน