X

ปฏิญญา “ลดข่าวลวง” นักข่าวภาคตะวันตก รวมพลังขับเคลื่อน ต่อต้านข่าวปลอมข่าวลวง

เพชรบุรี- รวมพลังขับเคลื่อน ต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมภาคตะวันตก ภายใต้ ปฏิญญา “ลดข่าวลวง”ของผู้สื่อข่าวภาคตะวันตก

ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2562  ณ โรงแรมรอยัล ไดมอนด์ จ.เพชรบุรี ได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “สื่อท้องถิ่นกับการรับมือข่าวลวงและด้านมืดยุคดิจิทัล” ภายใต้ โครงการพัฒนากลไกการแก้ปัญหาข่าวลวง เพื่อสุขภาวะสังคมยุคดิจิทัล

และร่วมประกาศ “ปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมภาคตะวันตก” หวังสร้างความตระหนักรู้ และสร้างบรรทัดฐานในการผลิต และนำเสนอข่าวข่าวออนไลน์ ที่ถูกต้องมีคุณภาพ ให้กับสื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อต้านข่าวลวง (Fake News)ที่กำลังเป็นกระแสและสร้างความเสียหายในสังคมไทย

ทั้งนี้มีสื่อมวลชนท้องถิ่นใน จ.เพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ,กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบัน ChangeFusion และ สมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. ในฐานะประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ข่าวลวงกำลังกลายเป็นวิวาทะระดับชาติ แต่ชาวบ้านยังรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเป็นการสู้กันของพรรคการเมือง แต่จากการลงพื้นที่พบว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่กระทบกับชาวบ้าน ซึ่งการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ระดับชาติก็ทำไป แต่การแก้ปัญหาแบบศูนย์รวมอำนาจอาจไม่ตอบโจทย์ และการรับมือกับเรื่องออนไลน์ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ต้องให้ประชาชนตื่นตัวในการรู้เท่าทัน หากเราสามารถสร้างสื่อมวลชนท้องถิ่นที่มีจิตวิญญาณเสรีภาพและมีความรับผิดชอบให้ตื่นตัวได้ ก็จะช่วยกระจายเรื่องนี้ลงไปสู่ชุมชนรากหญ้า กระตุ้นให้ภาคประชาชนตื่นตัวในเรื่องด้านมืดออนไลน์ และรับมืออย่างมีสติในลักษณะพึ่งตนเองก่อน

ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ วิบูลศิลป์โสภณ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ ในฐานะนายกสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี กล่าวว่า ปัญหาข่าวลวง หรือ Fake News ในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะใน จ.เพชรบุรี หรือพื้นที่ใกล้เคียงยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะการทำข่าวในระดับท้องถิ่น จะเน้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เกิดเหตุเป็นหลัก และร่วมมือร่วมใจกันตรวจสอบและรายงาน

แต่เป็นห่วงในการทำข่าวระดับชาติ เนื่องจากทำวิชาชีพสื่อมา 30 ปี ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ ที่ข่าวในยุคดิจิทัลสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้เสพข่าว ซึ่งข่าว 1 ข่าวนั้นสามารถฆ่าคนทั้งเป็นได้ ภายในไม่กี่นาที และหากข่าวนั้นเป็นข่าวลวง ผลกระทบที่ตามมาจึงสาหัสและขยายวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อคนในท้องถิ่นทุกคน

สื่อท้องถิ่นขอร่วมวง สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

ในขณะที่ นายสุวโรจน์ สร้อยสุวรรณ์ ในฐานะอุปนายกสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี และเป็นผู้ผลิตเพจ ข่าวเพชรบุรี 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเพจระดับท่องถิ่นเน้นนำเสนอข่าวสาร ในจังหวัดเพชรบุรี ที่มีสมาชิกกดถูกใจมากกว่า 160,000 คน กล่าวว่า ต้องการให้สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) เพิ่มโอกาสให้สื่อออนไลน์ระดับท้องถิ่น เข้าไปเป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ให้ได้มากขึ้น

ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อแฟนเพจในแต่ละจังหวัด และประชาชนทั่วไป ในการรับข่าวสารที่ถูกต้อง เนื่องจากแต่ละจังหวัด จะมีเพจข่าวสารออนไลน์ เป็นที่นิยม 1-2 เพจ แต่ละเพจมีคนติดตามกว่าแสนคนขึ้นไป แต่ด้วยผู้สื่อข่าวและผู้ดูแลเพจมีน้อย บางเพจมีเกือบสิบคนยังเกิดความผิดพลาด แต่หลายเพจมีผู้ดูแลแค่ 2-3 คน ก็น่าเป็นห่วง

จากกระแสข่าวลวงข่าวปลอมที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และยิ่งเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการกล่าวปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมภาคตะวันตกร่วมกันในวันนี้ โดยสื่อท้องถิ่นภาคตะวันตก สื่อภาคประชาชน เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายสร้างสุขภาวะ และสถาบันวิชาการในท้องถิ่น ปฏิญญา “ลดข่าวลวง”

นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวถึงใจความของปฏิญญาว่า ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาข่าวลวงในโซเชียลมีเดีย พวกเราทุกคนจะรวมพลังกัน เพื่อลดปัญหาข่าวลวงข่าวปลอมที่เกิดขึ้น ตามกำลังและศักยภาพ เพื่อลดปัญหาข่าวลวง ดังนี้

• ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกัน ในภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาควิชาการ เพื่อสร้างความตื่นตัว สนใจ ในข้อมูลข่าวสารที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ร่วมกันทำงานเพื่อรับมือ ติดตาม ตรวจสอบ รายงาน เผยแพร่ข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ และรวมพลังต่อต้านข่าวลวงในทุกระดับของสังคม

• ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายและประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจในการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร สื่อสารสนเทศและดิจิทัล เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อปัญหาข่าวลวง ตั้งแต่เด็ก เยาวชน จนถึงผู้ใหญ่ เพื่อพัฒนาประชาชนไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen)

• พัฒนากระบวนการ รูปแบบการทำงานและนวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมือหรือกลไกเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมข่าวลวงอย่างมีส่วนร่วม สามารถประยุกต์ใช้ทั้งภาคีวิชาการ วิชาชีพ ผู้ผลิตสื่อ ภาคประชาชน และผู้ใช้สื่อ

• สนับสนุนการรวมพลังเพื่อผลักดันให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ มีมาตรการในการลดการเกิดขึ้นของข่าวลวง ร่วมสกัดกั้นการแพร่กระจายของข่าวลวงอย่างรวดเร็ว

• สิ่งที่อยากเห็น คือการตั้งองค์กระระดับชาติน่าเชื่อถือได้ คอยช่วยตรวจสอบข่าวว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวลวง ขณะที่สื่อท้องถิ่นก็ต้องพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นสำนักข่าวที่รายงานข่าวอย่างถูกต้อง น่าเชื่อถือ ก็จะทำให้ประชาชนที่เสพข่าวสามารถรีเช็คข่าวบนโซเชียล ได้ที่เว็บไซต์หรือเพจเฟซบุ๊กของสำนักข่าวท้องถิ่นในพื้นที่เกิดเหตุนั้นๆ ได้ ซึ่งแนวทางนี้น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้.

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน