X
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ไซรัปจากมันแกว แก้ปัญหาราคาตกต่ำ แปรรูป-อัพเกรดให้ราคาสูงขึ้นได้ถึง 15 เท่า

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) เปิดตัวผลิตภัณฑ์ จิคามา วีแกน ไซรัป ไซรัปจากมันแกวบรบือ ของดีของจังหวัดมหาสารคาม เปลี่ยนพืชราคาตกต่ำ เป็น Plant base Honey  ด้วยนวัตกรรมจากอาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี ผลักดันให้เป็นสินค้าประจำจังหวัดที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันแกวของจังหวัดมหาสารคาม

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดตัวผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย “ไซรัปจากมันแกว” ซึ่งถือเป็นการนำมันแกวมาแปรรูปเป็นไซรัปเป็นครั้งแรกของโลก ค้นพบและพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ สังกัดภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วย ผู้ร่วมวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษกร ทองใบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณี สมัปปิโต และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรีนวล จันทไทย ร่วมกับ หน่วยงานที่ให้ทุนพัฒนานวัตกรรมหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณีรัตน์ วงษ์ซิ้ม หัวหน้าหน่วย ฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ กล่าวว่า จากที่ได้ไปพบเห็นความลำบากในการสร้างรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกมันแกวในเขตพื้นที่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ที่ กำลังประสบภาวะ มันแกวราคาตกต่ำ และในบางช่วง ประสบปัญหามันแกวล้นตลาดจนถูกกดราคา ขายกันริมถนนที่ราคากิโลกรัมละ 5 -10 บาทจึงทำให้มีความคิดที่จะใช้นวัตกรรม และวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร มาช่วยแก้ปัญหา แปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างรายได้ที่สูงขึ้น จึงได้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ให้ความหวานชนิดใหม่ จิคามา วีแกน ไซรัป ทำจากมันแกว ผลผลิตที่ได้มีลักษณะคล้ายน้ำผึ้ง รสชาติหอมหวาน เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ไม่มีสารปรุงแต่ง เป็นผลิตภัณฑ์วีแกน เหมาะกับทุกเพศวัย ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้หรือน้ำผึ้ง ตลอดจน ผู้ป่วยกลุ่มที่มีภาวะ Fructose Intolerance (ภาวะขาดความทนต่อฟรุกโทส) และ Irritable Bowel Syndrome (ภาวะลำไส้แปรปรวน : IBS) สามารถรับประทานได้ จิคามา วีแกน ไซรัป ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลจึงใช้ในปริมาณน้อยกว่า

สำหรับการพัฒนามันแกวมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้ความหวาน ถือเป็นความท้าทายของนักวิจัยในการแปรรูปผลผลิตทาวการเกษตรให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น โดยมันแกว หรือภาษาสเปนเรียกว่า จิคามา(jicama)  ถือเป็นผลไม้ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา การนำมันแกวมาแปรรูปเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มจากมันแกวผลสด ลดการสูญเสียมันแกว เพราะหากไม่เก็บกู้มันแกวขึ้นมาจากดินใน 2 สัปดาห์มันแกวจะเป็นเสี้ยน เนื้อหยาบไม่อร่อย แต่หากเก็บขึ้นมาไว้ขาย ต้องเจอกับอากาศและความแห้งทำให้มันแกวฝ่อ ไม่เกิน 2 อาทิตย์ก็จะเสียทรงและขายไม่ได้ราคาจนต้องนำไปทิ้ง แต่การเอามันแกวมาแปรรูปเป็นน้ำตาลให้ความหวานชนิดนี้ ถือเป็นน้ำผึ้งจากผลิตภัณฑ์พืช  ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

สำหรับวิธีทำสารให้ความหวานจากมันแกว จะนำน้ำตาลที่มีในน้ำมันแกว ทำการระเหยน้ำด้วยตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิต่ำ จนได้ปริมาณความเข้มข้นที่เหมาะสม โดยไม่มีการเติมแต่งสารใด ๆ ซึ่งมันแกว 1.5 กิโลกรัม จะทำน้ำผึ้งมันแกวได้ 132 กรัม และจำหน่ายในราคาขวดละ 150 บาท อัพเกรดให้ราคาสูงขึ้นได้ถึง 15 เท่า แต่หากรับซื้อในปริมาณที่มากก็จะมีราคาพิเศษ

จิคามา วีแกน ไซรัป มีค่าความหวานมากกว่า 70 องศาบริกซ์ มีส่วนประกอบของน้ำตาล ฟรุคโตสต่อกลูโคสในปริมาณต่ำกว่า 1 ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มที่มีภาวะ Fructose Intolerance (ภาวะขาดความทนต่อฟรุกโทส) และ Irritable Bowel Syndrome (ภาวะลำไส้แปรปรวน : IBS) สามารถรับประทานได้

ผลิตภัณฑ์ จิคามา วีแกน ไซรัป เป็นผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จสมบูรณ์พร้อมจำหน่ายให้กับผู้สนใจ และยังพร้อมที่จะร่วมทุนการผลิต ตลอดจนเผยแพร่เทคโนโลยีการแปรรูป และผลักดันเป็นสินค้าประจำจังหวัดมหาสารคาม ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรศัพท์ 091-5649159 หรือ 089-2794564

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สุรเชฐ สัจจลักษณ์

สุรเชฐ สัจจลักษณ์

ผู้สื่อข่าวออนไลน์ www.77kaoded.com ประจำจังหวัดมหาสารคาม / สื่อมวลชนจังหวัดมหาสารคาม / ผู้ผลิตสื่ออิสระ / Email : [email protected] / LINE : chet7330