X

‘วันนอร์’ ลุยเอง! ที่ดินทับซ้อน

นราธิวาส-ส.ส.ประชาชาติรับฟังปัญหาที่ดินทับซ้อนเขตอุทยาน ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ รับปากจะเร่งแก้ปัญหา ด้าน ‘ทวี สอดส่อง’ ชี้ ต้องแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ

วานนี้ (7 มี.ค.65) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ, นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส เขต 3, นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4, นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี เขต 4, นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา เขต 2, นายมูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ รองโฆษกพรรคประชาชาติ และคณะ ร่วมเวทีประชาคมรับฟังปัญหา ผู้ได้รับผลกระทบเรื่องที่ดินทับซ้อนจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่มัสยิดดารุลอามาน บ้านกาหนั๊วะ ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส โดยมีประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก 3 ตำบลมาร่วมสะท้อนปัญหา ประกอบด้วย ต.กาลิซา ต.บองอ และ ต.เฉลิม อ.ระแงะ ประมาณ 300 คน

ทั้งนี้ก่อนเริ่มการพูดคุยปัญหาที่ดิน ตัวแทน ส.ส.ประชาชาติจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รายงานการทำหน้าที่ผู้แทนราษฏรให้ประชาชนได้รับทราบว่าได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสิ่งใดบ้างในสภาผู้แทนราษฏร

โดยนายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี รายงานว่า ได้ผลักดันให้เพิ่มค่าตอบแทนให้แก่บุคลากรทางศาสนา เช่น อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น รวมถึงโต๊ะครู และโดยเฉพาะการผลักดันให้จัดสรรงบประมาณให้มีอาหารกลางวันแก่ผู้เรียนตาดีกา


ส่วนนายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา รายงานว่า ได้ทำหน้าที่ผู้แทนราษฏรตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนต้องการ นั่นคือการยึดมั่นในหลักธรรมที่ถูกต้องในการตัดสินใจสนับสนุนหรือคัดค้านกฎหมายใดๆ โดยเฉพาะการแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของบางพรรคการเมือง ที่เสนอให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้นั้น เป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ไม่อาจยอมรับได้ จึงได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในสภาผู้แทนราษฏรแล้ว


ด้านนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส รายงานว่า การเรียกร้องความเป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชนที่ถูกอธรรมนั้นมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยพรรคประชาชาติได้ยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 3 แล้ว เหลือขั้นตอนสุดท้ายคือการผ่านความชอบจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)


ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้ให้คำมั่นว่า พรรคประชาชาติจะขอทำหน้าที่แก้ปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนเขตอุทยาน กฎหมายใดๆที่เขียนขึ้น จะรังแกประชาชนไม่ได้ ต้องไม่มีกฎหมายใดที่ใหญ่กว่าชีวิตประชาชน การที่กฎหมายมาขับไล่ประชาชนให้ออกไปจากที่ดิน ไม่แตกต่างอะไรจากอิสราเอลที่รุกรานขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกไปจากดินแดน


จากนั้นได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาที่ดิน โดยพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, นายอาหมัด เบนโน, นายมาหามะ อิงดิง, นายอาหะมะ ลีเฮ็ง และผู้ได้รับผลกระทบอีกหลายคนร่วมสะท้อนปัญหา


พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า “ที่ดินคือชีวิตของผู้คน ถ้าผู้คนไม่มีที่ดินคือไม่มีชีวิต ปัญหาใหญ่ของที่ดินอยู่ที่รัฐบาล ใครที่มีปัญหากับรัฐบาลจะไม่สามารถเอาชนะรัฐบาลได้ ส.ส.กูเฮงได้ส่งภาพมาให้ดู เป็นภาพที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งบริเวณใกล้เคียงนี้ มีป้ายติดว่า ‘พื้นที่ป่าไม้ 2484 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจยึดแจ้งความไว้แล้วตามคดีอาญาที่ 128/2560 ลงวันที่ 26 กันยายน 2560 สภ.ศรีสาคร ห้ามมิให้บุคคลใดๆเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่โดยเด็ดขาด’ นี่คือรัฐบาลที่ไปเขียนป้ายติดไว้ว่าเป็นที่ดินของรัฐบาล เมื่อปี 2484 ในขณะนั้นมี พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 ให้นิยามคำว่าป่าคือ ที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลใดได้โฉนด น.ส.3 หรือ ส.ค.1 กฎหมายนี้ยังไม่ยกเลิก ผมเป็นกรรมาธิการกฎหมายที่ดิน ซึ่งคณะกรรมาธิการได้นำปัญหาของคนจังหวัดนราธิวาสมาพิจารณาเป็นเรื่องแรกๆ พบว่ามีชุมชนถูกแนวป่าไม้ ประกาศทับที่อาศัยและที่ทำกิน ในกรณีตัวอย่างประกาศกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานบูโดสุไหงปาดี พ.ศ.2542 ไม่รู้ใครเป็นรัฐบาล ได้ประกาศครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะนราธิวาส 7 อำเภอ ปัตตานี 1 อำเภอ ยะลา 1 อำเภอ เป็นการประกาศทับที่ดินที่ประชาชนตั้งถิ่นฐานมา 300 ปี มีประชาชนเดือดร้อนกว่า 2 หมื่นคน รวมที่ดินกว่าแสนไร่ นี่คือปัญหาว่า ‘ป่ารุกคน’ แต่รัฐบาลจะไม่ยอมรับจะบอกว่า ‘คนรุกป่า’ คนอาศัยอยู่ที่นี่มานานแต่กลายเป็นผู้อาศัย ยังไม่พอยังถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วยว่าเป็นผู้บุกรุก และยังมี พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และมี พ.ร.บ.สงวนป่า พ.ศ.2535 และมี พ.ร.บ.อุทยาน แก้มาเรื่อยจนถึงปี พ.ศ.2562 ซึ่งกฎหมายนี้เป็นความอยุติธรรมต่อพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างมาก


พันตำรวจเอก ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากพรรคประชาชาติได้รับฟังเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนแล้ว ได้ส่งไปยังเครือข่ายให้พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากภาคเหนือและภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.อุทยาน ปรากฏว่าทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าให้แก้กฏหมาย เพราะเป็นที่ปรากฏชัดเจนว่ารัฐทำผิด แทนที่จะมาขอโทษหรือกลับไปตั้งต้นใหม่ กลับออกกฏหมายทำผิดซ้ำซากจนมาถึงวันนี้ ถ้ากฎหมายนี้ประกาศใช้บังคับ ท่านต้องเดินไปขอรัฐเป็นผู้อาศัย และจะมีปัญหา จะไปกรีดยางหรือหาของป่าก็ไม่ได้ จะถูกจับ หรือที่ปรากฏว่ามีป้ายไล่ออกไป หรือวันดีคืนดีท่านอาจจะถูกบังคับคดีด้วย ดังนั้นใครที่อาศัยอยู่ในที่ดินก่อน พ.ร.บ.อุทยาน หรือ พ.ร.บ.ป่าไม้ หรืออยู่ก่อน 300 ปี ก็ควรได้โฉนดที่ดิน นี่คือสิ่งที่ประชาชาติเราต้องแก้กฎหมาย”

ส่วนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบได้กางแผนที่ บอกเล่าถึงที่ดินที่อาศัยและได้รับผลกระทบจากกฎหมาย และร้องขอ ส.ส.ประชาชาติช่วยแก้ไข

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน