X

ประชาชาติหวังสางปมกรรมสิทธิ์ที่ดิน

นราธิวาส-เลขาฯ ประชาชาติรับฟังปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบ จาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 (เขาบูโด-สุไหงปาดี) หวังประชาชนมีกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินของตัวเอง

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 17 มกราคม 2565 ที่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ้านมาแฮ กองทุนการเงินอิสลาม เครือข่ายการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด บ้านมาแฮ ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเลขาธิการพรรคประชาชาติ เดินทางพร้อมด้วย นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส เขต 3 พรรคประชาชาติ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4 พรรคประชาชาติ นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี เขต 4 พรรคประชาชาติ นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา เขต 3 พรรคประชาชาติ และนายมูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ รองโฆษกพรรคประชาชาติ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 (เขาบูโด-สุไหงปาดี) โดยมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้


โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ คณะฯ ได้ประชุมร่วมกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินบริเวณพื้นที่ เขาบูโด-สุไหงปาดี เพื่อรวบรวมข้อมูล รับฟังความคิดเห็น แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิ์ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน ประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และผลกระทบของประชาชนเพื่อนำไปสรุป เตรียมนำเสนอต่อ ครม.เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงออกกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนต่อไป


หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า วันนี้ทางพรรคประชาชาติ ได้รับเรื่องของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากที่ดินที่เกิดจากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ 2562 ซึ่งได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติเดิม ปรากฏว่ามีผลกระทบอย่างรุนแรงกับพี่น้องใน 3 จังหวัดที่เรียกว่า เขาบูโด-สุไหงปาดี ทรายขาว รวมถึงพื้นที่อื่นๆ เพราะว่าในพระราชบัญญัติฉบับนี้มีบทบัญญัติหลายมาตราที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญที่สุดคืออุทยานเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี แต่เดิมมีการใช้พระราชบัญญัติเดิม พบว่าไปทับที่ดินของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ประมาณ 260,000 ไร่ ซึ่งกระทบในวงกว้าง ซึ่งในขณะนั้นกฎหมายฉบับเดิมไปบังคับใช้ไม่ได้ ซึ่งมีมติ ค.ร.ม.หลายฉบับมติ เช่น มติ ครม.2541 มติ ครม.2551 ว่าให้มีการพิสูจน์ว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นอยู่ก่อนประกาศอุทยานหรือหลังประกาศอุทยาน และพบว่ามีการพิสูจน์โดยหน่วยงานราชการและพี่น้องประชาชน ซึ่งการพิสูจน์ไม่ได้พิสูจน์แค่เฉพาะความเป็นอยู่เท่านั้น ยังพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย โดยมีการใช้ GPS จนกระทั่งทางราชการได้รับว่าประกาศอุทยานแห่งชาติเดิมได้ทับที่ของประชาชน และมีการมอบเอกสาร แต่ปี 2562 ได้มีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฉบับนี้มาใช้บังคับว่าคนที่อยู่ในพื้นที่นี้เป็นผู้ทำผิดกฎหมายทั้งหมด ทั้งที่เดิม 4.7 ล้านไร่ เป็นที่พิสูจน์ แต่กฎหมายในขณะนั้นได้ประกาศว่าเป็นผู้บุกรุก ซึ่งในขณะนั้นมีภาคประชาชนได้ลงชื่อ 10,000 กว่าชื่อ เพื่อมีกฎหมายของตัวเองที่ต่างจากกฎหมาย แต่ปรากฏว่ากฎหมายในขณะนั้นไม่ได้เอากฎหมายของประชาชนมา ก็คือมีกฎหมายมาตราหนึ่งมีการผ่อนคลายว่าถ้าใครที่สามารถพิสูจน์ว่าอยู่มาก่อนให้มาแจ้งภายใน 240 วัน ซึ่งรัฐจะไปพิสูจน์ว่าประชาชนบุกรุกหรือรัฐบุกรุกประชาชน


ซึ่งประชาชนเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นมีการกระทบเป็นวงกว้างพร้อมกับให้อำนาจเจ้าของพื้นที่ออกกฏหมายลูก และกฎหมายฉบับนี้ยังละเมิดสิทธิ์ เช่น สามารถจับกุมโดยไม่มีหมายศาล สามารถดำเนินการควบคุมเรื่องอาชีพ ทุกคนจึงมีความเห็นว่าต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี ขอเพียงว่าพื้นที่ที่ประชาชนอยู่ก่อนประกาศอุทยานฉบับเก่า อยู่ก่อนกฎหมายที่ดิน ขอให้ประชาชนมีสิทธิ์เป็นเจ้าของตามสิทธิ์ทั่วไป ซึ่งพบว่า 90% ประชาชนอยู่ก่อนพระราชบัญญัติอุทยานพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติรวมถึงกฎหมายที่ดิน


“ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาไม่ใช่แค่ 3 จังหวัดแต่ยังเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ ซึ่งถ้าประเทศไทยยังไม่มีความเป็นธรรม ความขัดแย้งก็จะมีทุกหนแห่งเพราะแผ่นดินเป็นที่อยู่ของคน” พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน