อุบลราชธานี – ปัญหาสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ดูแล้วน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้อายุอย่างเต็มตัว และสถิติในอนาคตจะพบว่าผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้นละวัยหนุ่มสาวจะมีจำนวนน้อยลง จนทำให้มีจำนวนผู้สูงอายุเป็น 1 ใน 3 ของประชากรไทยทั้งหมด ทั้งนี้วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลฯ จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องสังคมผู้สูงอายุทำให้เป็นที่มาของ งานวิจัยรองรับสังคมสูงวัย
อาจารย์จีราพร ทิพย์พิลา วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ด้วยตระหนักในการเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทีมอาจารย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ม.อุบลฯ จึงได้ทำงานวิจัยขึ้น โดยเริ่มให้ความรู้กับชุมชนตำบลแสนสุข จำนวน 7 ชุมชน เริ่มจากเรื่องการแบ่งคุณภาพชีวิตออกเป็น 5 มิติ ซึ่งทั้งมิติ 5 ด้านจะแบ่งออกเป็น
1) มิติเศรษฐกิจ เป็นการวางแผนการเงินล่วงหน้าให้พอกับชีวิตหลังเกษียณ 2) มิติสุขภาพ โดยจะเริ่มชวนคนในชุมชนคิดว่าทำไงถึงจะมีสุขภาพดีไม่เป็นภาระของลูกหลาน 3) มิติสังคม เมื่อผู้สูงอายุเกษียณจะพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะขาดการเข้าสังคมและไม่มีการพูด ซึ่งจะผลต่อสภาพจิตใจเป็นอย่างมาก 4 )มิติจิตใจ ส่วนใหญ่ในสังคมเมืองผู้สูงอายุจะขาดการเข้าสังคมส่งผลให้จิตใจเห่อเหี่ยว เป็นที่มาของอาการซึมเศร้า 5) มิติสิ่งแวดล้อม การเลือกที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับวัยสูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอุบัติเหตุที่พบในวัยสูงอายุมักจะมีสาเหตุมาจากอยู่อาศัย
โดยตลอดระยะเวลา 15 เดือนที่ทีมวิจัย ได้ร่วมกันพัฒนาโจทย์ ค้นหาปัญหา กับเทศบาลแสนสุข ผู้นำชุมชน โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ โรงพยาลชุมชน และได้เก็บข้อมูลต่าง ๆ จึงพบว่าในสังคมเมืองสิ่งที่พบ คือ ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว ขาดการพูดคุยกัน ส่วนทางด้านสุขภาพผู้อายุจะเป็นโรคเรื้อรังซะส่วนใหญ่ ดังนั้นทางทีมวิจัยจึงได้จัดตั้ง โครงการศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิต โดยให้ชุมชนเป็นคนดำเนินการจัดการเอง ตั้งแต่เดือนกรกฏา โดยโครงการนี้จะเป็นสถานที่พบปะ เรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างผู้สูงอายุกับกลุ่มคนวัยต่าง ๆ ซึ่งภายในศูนย์ก็ยังจะมีการพัฒนาคุณภาพทั้ง 5 มิติไปควบคู่ด้วย ซึ่งการพัฒนาสุขภาพจะจัดให้มีการวิทยาการจากหน่วยงานมาให้ความรู้ส่งเสริมการดูแลตัวเอง ส่วนทางด้านสังคมก็จัดให้มีการรวมตัวเกิดเป็นเครือข่ายของตำบล ซึ่งเครือข่ายจะเป็นตัวทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ดึงของดีแต่ละชุมชนออกมาแล้วช่วยกันพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกมา เช่น สานตะกร้า,สมุนไพร,หมอนเพื่อสุขภาพ ซึ่งสามารถสร้างรายได้เกิดการเป็นตอบโจทย์ทางด้านมิติการเงิน
นอกจากนี้ทีมวิจัยได้ค้นพบข้อสำคัญหลังเสร็จสิ้นโครงการว่า ชุมชนเกิดการเข้าใจคำว่า สังคมสูงอายุ และรู้จักดารเตรียมตัวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้ง 5 มิติ อีกทั้งยังเกิดความเข้มแข็งขึ้นในชุมชนและ ทำให้ชุมชนมองเห็นถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
อาจารย์จีราพร ทิพย์พิลา ยังฝากทิ้งท้ายอีกว่าอยากให้ทุกคนลองมองภาพตนเองว่าในอนาคต ตนเองอยากเป็นผู้สูงอายุแบบไหน อยากเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง มีเงินไว้ใช้ในวันข้างหน้าหรือเป็นผู้สูงอายุที่ไม่ไปไหนไม่ได้เป็นภาระของลูกหลาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเราสามารถเตรียมตัวได้แล้วตั้งแต่วันนี้ไม่ต้องรอถึงภายภาคหน้า
ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: