X
เรือชุมชน

ชุมชนลุ่มน้ำมูลต่อเรือรับมือภัยน้ำท่วม ไม่รอการช่วยเหลือ ลดความเสียหายทรัพย์สิน

อุบลราชธานี – มูลนิธิชุมชนไท สถานทูตแคนาดา และภาคีเครือข่ายทั้งเอกชนและราชการ ร่วมจัดฝึกการต่อเรือใช้รับมือตามโครงการฟื้นฟูชุมชนเตรียมรับมือภัยพิบัติให้กับชาวชุมชนตามลุ่มน้ำ พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนเพียงอย่างเดียว

ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเกตุแก้ว เทศบาลเมืองวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มูลนิธิชุมชนไท สถานทูตแคนาดา และภาคีเครือข่ายทั้งเอกชนและราชการ ร่วมจัดฝึกการต่อเรือใช้รับมือตามโครงการฟื้นฟูชุมชนเตรียมรับมือภัยพิบัติ เมื่อเกิดสถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อลดความเสียหายด้านทรัพย์สิน ลดความวิตกกังวลต่อคุณภาพชีวิความเป็นอยู่ระหว่างถูกน้ำท่วมบ้านเรือน โดยไม่ต้องรอพึ่งหน่วยงานรัฐหรือองค์กรเอกชนเพียงอย่างเดียว

เพราะที่ผ่านมาการช่วยเหลือจะเข้ามาในรูปของการฟื้นฟูเยี่ยวยาผลกระทบที่เกิดกับชุมชน แต่ชุมชนควรต้องมีวิธีป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเกือบทุกปี เนื่องจากกายภาพของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่รองรับน้ำจากด้านเหนือของลำน้ำสาขาเกือบทุกสาย ทั้งแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ลำน้ำเซบาย ลำน้ำเซบก ลำน้ำโดมใหญ่และลำน้ำโดมน้อย ทำให้เมื่อเกิดอุทกภัยสร้างความเสียหายจำนวนมากแก่ชุมชน

จึงมีการระดมความเห็นศึกษากายภาพของลุ่มน้ำแต่ละแห่งของจังหวัด และทำการต่อเรือใช้ขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ไปเก็บรักษาไม่ให้ถูกน้ำพัดเสียหายเหมือนน้ำท่วมใหญ่ปีนี้ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า ชุมชนที่ถูกน้ำท่วมจำนวน 10 ครอบครัว จะเกิดความเสียหายกับเครื่องใช้ในครัวเรือน หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าและที่นอนหมอนมุ้งเฉลี่ย 400,000-600,000 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงมากของชาวชุมชน บางครอบครัวต้องใช้เวลาเก็บเงินซื้อหานานหลายปี ทำให้เมื่อถูกน้ำท่วมครั้งหนึ่งแทบหมดเนื้อหมดตัว

แต่ถ้าทุกชนชนตามลุ่มน้ำที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ร่วมมือกันต่อเรือใช้ขนสิ่งของเครื่องใช้ออกจากบ้านเรือนที่กำลังจะถูกน้ำท่วม นำไปเก็บรักษาไว้ในที่สูงหรือตามเรือนแพ ก็จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งเรือจะถูกใช้เป็นพาหนะใช้รับส่งคนเข้าออกชุมชนไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ หรือช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยังอาศัยอยู่ในบ้าน และยังใช้ลาดตระเวนดูแลเฝ้าระวังทรัพย์สินตามบ้านเรือนเมื่อเกิดน้ำท่วม

การอบรมวันนี้ มีตัวแทนชาวชุมชนจากลุ่มน้ำเซบาย ลำน้ำเซบก ลำน้ำชี และแม่น้ำมูลรวม 14 ชุมชน กว่า 30 คน เข้าร่วมฝึกปฏิบัติการต่อเรือด้วยการปฏิบัติจริง พร้อมศึกษากายภาพของลุ่มน้ำ และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้ต่อเรือที่เหมาะในการใช้งานแต่ละพื้นที่ของชุมชน โดยพื้นที่ที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว จะแนะนำให้ต่อหัวเรือ โดยยกหัวเรือให้สูงขึ้น เพื่อสู้กับกระแสคลื่นของน้ำ และลดส่วนหัวของเรือลงในลำน้ำที่น้ำไม่ไหลเชี่ยวมาก เพื่อลดการปะทะของเรือกับน้ำ ทำให้เรือแล่นได้เร็วขึ้นและรับปริมาณการบรรทุกสิ่งของได้มากขึ้นด้วย

นายจำนงค์ จิตนิรัตน์ กรรมการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า การช่วยเหลือที่ผ่านมา เน้นการเยี่ยวยาภายหลังน้ำลด แต่ไม่ให้ชาวบ้านเรียนรู้วิธีการป้องกันและรับมือ ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนมูลนิธิชุมชนไท เข้ามาสนับสนุนนำภูมิปัญญาการต่อเรือของชุมชนท้องถิ่นมาสร้างเรือไว้รับมือเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งปีนี้ มีการนำเรือที่ชุมชนคูสว่างและชุมชนหาดสวนสุขต่อไว้มาใช้งาน ทำให้ช่วยลดความเสียหายลงได้มาก แต่การช่วยเหลือทำได้ในวงจำกัด เนื่องจากมีเรือจำนวนน้อย

จึงคิดว่าหากตามชุมชนลุ่มน้ำที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม ได้ต่อเรือไว้ใช้ขนข้าวของเครื่องใช้ หรือมีแพใช้เก็บรักษาทรัพย์สิน 10 ครอบครัวต่อเรือ 1 ลำ ในทุกชุมชนจะช่วยลดผลกระทบเมื่อเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก จึงเข้ามาสนับสนุนให้ตามชุมชนต่อเรือไว้ใช้ตามกายภาพของลุ่มน้ำแต่ละแห่ง เพื่อสามารถใช้เรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ เรือที่ต่อจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งมาจากภาคใต้ และภาคอีสานถูกส่งมาให้ชุมชนนำไปใช้แล้วประมาณ 13 ลำ

และได้นำวิทยากรมาให้ความรู้กับชาวชุมชนที่เข้ามาเรียนรู้ในวันนี้ นำกลับไปชักชวนเพื่อนในชุมชนให้มาช่วยกันต่อเรือไว้ใช้รับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตด้วย    ด้านนายนายจักรกฤษณ์ ศรีดาจันทร์ ชาวบ้านชุมชนหาดสวนสุข เทศบาลเมืองวารินชำราบ เล่าว่า ชุมชนของตนเป็นพื้นที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก ตนจึงปลูกสร้างบ้านในลักษณะสูงที่สุดในชุมชน แต่ระดับน้ำปีนี้ก็สูงมาก จนเกือบไหลท่วมชั้นที่ 2 และระหว่างเกิดอุทกภัย ก็ได้นำเรือที่ชาวชุมชนต่อไว้ใช้เองออกช่วยเหลือทั้งขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ และคนป่วยติดเตียง รวมทั้งใช้รับส่งคนที่ต้องการเข้าไปดูแลทรัพย์สินภายในบ้าน เพราะเมื่อเกิดน้ำท่วมก็จะเกิดการลักขโมยทรัพย์สินกัน

จึงทำให้ชาวชุมชนที่บ้านถูกน้ำท่วม วิตกกังวลไม่ยอมย้ายไปอาศัยตามศูนย์อพยพที่ทางการจัดให้ แต่อาศัยอยู่ตามริมถนนที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่ออยู่ดูแลทรัพย์สินไม่ให้ถูกคนร้ายมาลักขโมยเอาทรัพย์สิน ซึ่งน้ำท่วมปีนี้ ก็ได้เรือที่ร่วมกันต่อใช้ลาดตระเวนดูแลทรัพย์สินให้ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมด้วย จึงคิดว่าเมื่อชุมชนมีเรือไว้ใช้เอง จะได้ประโยชน์อย่างมาก

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนตุลาคมเกิดอุทกภัยน้ำบ้านเรือนที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม สิ่งสาธารณูปโภค สาธารณูปการครอบคลุมทั้ง 25 อำเภอ พื้นที่เกษตรกรามเสียหายกว่า 6 แสนไร่ ถนน สิ่งปลูกสร้างของรัฐ วัด และบ้านเรือนถูกน้ำท่วมเสียหายจำนวน 16,245 หลัง ได้ดำเนินการซ่อมแซมไปแล้ว 8,887 หลัง คงเหลือ 7,358 หลัง

และรัฐบาลยังได้อนุมัติเงินช่วยเหลือประชาชนที่ถูกน้ำท่วมรายละ 5,000 บาท เพื่อนำเงินไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนใหม่อีกจำนวน 15,217 ครัวเรือน ในพื้นที่ 21 อำเภอเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือยังรอการอนุมัติเพิ่มเติมต่อไป

พงษ์สันต์ เตชะเสน : ข่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สุชัย เจริญมุขยนันท

สุชัย เจริญมุขยนันท

นิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรโปรดิวเซอร์ เนชั่น วิทยากรพิราบน้อย โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยุเนชั่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำจงอุบลราชธานี ผู้จัดการศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้อำนวยการทีวีชุมชนอุบลราชธานี E : [email protected] F : ทีวีชุมชนอุบลราชธานี T : 0818786440 LINE : SUCHAINEWS