X
รับมือข่าวลวง

รับมือข่าวลวง สื่อต้องฟื้นความเชื่อมั่น ประชาชนเพิ่มทักษะการวิเคราะห์ หวั่นข่าวปลอมการเมืองกระจายความขัดแย้ง

วงเสวนานักคิดดิจิทัลครั้งที่ 17 ภาคประชาสังคม ร่วมถกทางออกการแก้ปัญหาข่าวลวงให้ถูกทาง  ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล มีทักษะการวิเคราะห์ สื่อฟื้นความเชื่อมั่น แพลตฟอร์มร่วมกำกับดูแล

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. โคแฟค ประเทศไทย (Cofact)  ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเชนจ์ ฟิวเจอร์ มูลนิธิฟรีดิช เนามัน  กองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคม  Center for Humanitarian Dialogue  ร่วมจัดเสวนาออนไลน์นักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 17   ในหัวข้อ “How to รับมือปัญหาข้อมูลสับสน/ข่าวสารลวงหลอก บทเรียนไทยและเทศ”

โดยนาย เทพชัย หย่อง ที่ปรึกษา Thai PBS กล่าวเสวนาหัวข้อ “ฮาวทูรับมือข้อมูลสับสน/ข่าวสารลวงหลอกให้ถูกทาง”  ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาตนได้หารือกับเพื่อนฝูงในสหพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน ซึ่งตนเป็นประธานอยู่ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นสถานการณ์สื่อในอาเซียนที่เกิดปัญหาข่าวลือขึ้นเช่นกันยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่ข่าวลือกระจายตัวและมีความชุกมากขึ้นกว่าช่วงปกติ เพราะคนอยู่บ้านและใช้สื่อออนไลน์ที่เป็นช่องทางในการปล่อยข่าวลือข่าวปลอมมากขึ้น เพื่อหวังผลด้านการเมือง การค้า หรืออื่นๆ ก็ตาม

ซึ่งก็มีคำถามว่าจะหาทางออกกันอย่างไร ทั้งนี้มีคำกล่าวว่าเฟคนิวส์ ข่าวลือ ข่าวปลอม ไม่รู้จักพรมแดน มันสามารถไปทั่วได้ โดยมีการพูดคุยกันว่าจะจัดการอย่างไรในประเทศตัวเองให้ได้ก่อน และร่วมมือกันในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะหลายๆ อย่างเกี่ยวของกับเพื่อนบ้านและอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้

นายเทพชัย กล่าวว่า สิ่งที่ตนคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญและเกิดขึ้นไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่แม้กระทั่งที่ประเทศที่เชื่อว่ามีความก้าวหน้าทางด้านข้อมูลข่าวสารเช่น อเมริกา ก็คือข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เพราะมีผลระยะยาวและไม่สามารถหักล้างด้วยข้อเท็จจริงได้ ข้อเท็จจริงไม่มีความหมาย สำหรับคนที่อยากเชื่อบนโลกออนไลน์ ระยะยาวเรื่องของข่าวปลอมที่เกี่ยวกับการสร้างกระแสทางเรื่องการเมือง สร้างความเกลียดชัง จะเป็นเรื่องที่ตนคิดว่าไม่ว่าจะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม ถ้าคนไม่เชื่อมันก็คือไม่เชื่อ ข้อเท็จจริงมีมากแค่ไหนก็ไม่มีความหมาย เพราะตอนนี้มันกลายเป็นคนที่เข้าไปในออนไลน์ก็เพื่อหาข้อมูลที่ตอกย้ำความเชื่อที่มีอยู่แล้วและปิดกั้นทุกอย่างที่จะไม่ไปรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มาจากแหล่งตนไม่ชอบและไม่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเอง

ซึ่งในงานวิจัยก็มีการพูดถึงทฤษฎีสมคบคิดและตนคิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่อย่างมาก ที่จะนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังและความขัดแย้ง ซึ่งรัฐบาลควรมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในเรื่องนี้ ยิ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่มีความน่าเชื่อถือที่ประชาชนไม่ไว้ใจ มีบทบาทมากขึ้นเท่าไร คนก็ยิ่งไม่เชื่อถือในการที่จะมาอธิบายเหตุผลมากขึ้น ข้อมูลจากเพื่อนๆ ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ หรืออินเดีย มันก็กลายเป็นว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะให้ความกระจ่างกลับกลายเป็นสิ่งที่คนเชื่อน้อยกว่าข่าวลือที่ได้ยินด้วยซ้ำไป เป็นประเด็นสำคัญที่ตนคิดว่าต้องแก้ในระยะยาว

นายเทพชัย กล่าวว่า ดังนั้นเฉพาะหน้าตนเห็นด้วยกับองค์กรอย่างโคแฟคหรือองค์กรอื่นๆ ทีเกี่ยวกับสื่อที่จะช่วยกันยับยั้งข่าวลือ ให้ความกระจ่างและข้อเท็จจริง ทักษะการสื่อสารทั้งหลายมันไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะคนที่เรียนทางด้านสื่อสารมวลชน แต่เป็นทักษะที่เป็นความจำเป็นของชีวิตที่ต้องมาพร้อมกับกฎกติกาและความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย  ส่วนบทบาทของสื่อจะแก้ปัญหาได้อย่างไร แม้แต่คนทำข่าวเองก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน โอกาสเป็นเหยื่อก็มีสูงมาก สื่อกระแสหลักอยู่ในสถานที่ตกต่ำทั้งความอยู่รอดทางเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือ จากนี้จะเห็นข่าวที่เป็นกระแส หวือหวา ไม่ต้องลงทุนมาก ถือเป็นข่าวร้ายในวงการสื่อและสังคมด้วย

“สิ่งที่เราต้องจับตาดูกันมากขึ้น คือข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ที่มากับความเห็นของพิธีการรายการข่าว ซึ่งตรงนี้มันก็เข้าข่ายเป็นเฟคนิวส์ถ้าไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง คุณเชียร์หรือวิจารณ์คนบางคนโดยวิจารณ์จากความรู้สึกและความเห็นส่วนตัวไม่มีข้อเท็จจริงมารองรับสิ่งที่พูด ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าอันตรายมาก เพราะยิ่งจับผิดและแยกแยะได้ยากหากเป็นคนที่สังคมให้ความเชื่อถือ สุดท้ายแล้วจึงต้องกลับมาในเรื่องการสร้างให้ประชาชนรู้เท่าทันในเรื่องเหล่านี้” นายเทพชัยกล่าว

นายเทพชัย กล่าวว่า ในฐานะคนทำสื่อตนเชื่อว่าสิ่งที่จะเชื่อกับเฟคนิวส์ข่าวลวงข่าวปลอมได้ก็คือข้อเท็จจริง และช่องทางที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงก็คือช่องทางของสื่อที่ทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ แต่สื่อเหล่านี้จะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อสังคมช่วยให้อยู่ได้ เราเรียกร้องต่อบทบาทของสื่อกระแสหลักที่เป็นวิชาชีพอย่างมากว่าต้องมีจรรยาบรรณเพื่อมาสู้กับข่าวปลอมแต่ถ้าสื่อกระแสหลักไม่สามารถอยู่ได้ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ตนคิดว่าก็คงลำบากที่จะเห็นสื่อกระแสหลักทำหน้าที่เหล่านี้ ดังนั้นข้อสรุปของตนคือถ้ายังมีความเชื่อมั่นว่าสื่อกระแสหลักจะช่วยในเรื่องข่าวลือข่าวปลอมได้ก็ต้องช่วยให้สื่อกระแสหลักอยู่ได้

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนใหญ่ที่เราค่อนข้างเน้นคือเรื่องข้อมูลเท็จข้อมูลที่บิดเบือน (Disinformation) นำสู่ผลกระทบและการสร้างมลภาวะทางข้อมูลได้ ซึ่งทางยูเอ็นมองว่าเป็นภาวะฉุกเฉิกทางการสื่อสารไม่เฉพาะภาวะฉุกเฉินเรื่องโรคระบาดเท่านั้น วันนี้จะเน้นที่ข้อมูลเท็จข้อมูลที่บิดเบือน  ซึ่งที่ผ่านมีการใช้เฟคนิวส์เพื่อดิสเครดิตสื่อหลัก มีการประดิษฐ์คำขึ้นมาใหม่ทำให้เกิดความรวนเรและคนไม่เชื่อ มีข้อเท็จจริงทางเลือกขึ้นมา ซึ่งคนเลือกจะเชื่อไม่เชื่ออยู่ที่ควรรู้สึกและอารมณ์มากกว่า นอกจากนั้นยังมีการที่เชื่อมโยงกันคือการล้มล้างการตรวจสอบว่าอะไรจริงไม่จริง ซึ่งบางทีเฟคนิวส์ก็ถูกหักล้างโดยผู้มีอำนาจได้ประโยชน์

ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวอีกว่า สำหรับเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลข่าวลวง ในแง่การวิจัยส่วนใหญ่จะพุ่งไปที่กระบวนการแพร่การจายกลไลมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเอไอ หรือบ็อท ก็มีบทบาทในการแพร่กระจายข่าวลวง แต่ส่วนหนึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ก็นำมาป้องกันการแพร่ข่าวลวงได้ ทั้งนี้ยูเนสโก เสนอ 4 แนวทางในการรับมือ เช่น  ชี้ให้เห็นว่าอะไรคือความจริงอะไรคือข่าวลวง งานของโคแฟคก็อยู่ในแนวทางนี้ โดยเน้นไปที่ผู้ผลิตหรือผู้แพร่กระจายเป็นการใช้กฎหมายหรือนิติบัญญัติดำเนินการ เสริมศักยภาพผู้เกี่ยวข้องและให้การศึกษา โคแฟคทำตรงนี้ดีแล้วในแง่การพิสูจน์ ทั้งนี้ตนอยากเสนอให้หยุดเส้นทางการทำเงินหรือรายได้ ไม่ให้สนับสนุนสื่อที่เผยแพร่ข่าวลวง เป็นการหยุดเส้นทางการเงิน การตอบสนองต่อข้อมูลเท็จและข้อมูลที่บิดเบือน

“ โดยภาพรวมมองว่าข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนสะท้อนถึงความผิดปกติของสังคมด้วย ถ้าจะมองว่าผู้ผลิตข่าวสารหลายส่วนก็ไม่ได้ทำตัวให้เป็นหลักยึด มีการแข่งขันฉุดรั้งสู่มาตรฐานที่ต่ำลง เอาเนื้อหาออนไลน์ที่ไม่ได้ตรวจสอบมาเผยแพร่ซ้ำๆ มัวเมามอมเมา ไม่สนใจความคุ้มค่าของคลื่นความถี่ ผู้ที่ควรจะเป็นหลักต่างๆ น่าจะต้องรับผิดชอบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพสื่อ  และนักวิชาการ ต้องรับบทหนักในเรื่องเหล่านี้ แม้สถานการณ์สื่อจะต้องรับบทหนักเรื่องเศรษฐกิจแต่ก็ต้องพิสูจน์หน้าที่ให้สังคมเห็นด้วย คนที่ควรจะเป็นหลักในส่วนต่างๆ ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็จะสะท้อนความผิดปกติของสังคมต่อไป”ศ.ดร.พิรงรองกล่าว

ด้าน ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Arkki ประเทศไทย  กล่าวว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศเป็นประเทศที่มีการกำหนดการรู้เท่าทันสื่อเป็นวิชาภาคบังคับ เด็กทุกคนต้องได้เรียนวิชานี้มานานเกิน 5 ปี ตลอดจนทักษะอนาคตทั้งหมด และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและประชาชนในอนาคต ซึ่งวิธีการสอนเด็กไม่ใช่การเดินไปบอกว่าเป็นข่าวลวง แต่ผ่านการลงมือทำตามความสนใจของเด็ก ไม่ได้สอนผ่านความสนใจของครู เป็นสาเหตุที่ให้การรู้เท่าทันสื่อของประเทศเขาสูง นอกจากนั้นยังมีการฝึกให้เด็กรู้จักฝึกวิเคราะห์แยกแยะโดยเพิ่มทักษะด้านการรู้เท่าทันสื่อผ่านการศึกษาไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก ซึ่งฟินแลนด์เป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับการรู้เท่าทันสื่ออันดับ 1 ของโลก 4-5 ปีซ้อน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 76 จาก 77 ประเทศ ซึ่งเขาวัดจากเสรีภาพสื่อว่าแต่ละประเทศมีเสรีภาพขนาดไหน ถ้าเสรีภาพสื่อสูงแล้วคนยังต้านทานเฟคนิวส์ได้แสดงว่ามีความรู้เท่าทันสื่อสูงมาก ต่อมาคือเรื่องการศึกษาที่สัมพันธ์โดยตรงกับการต้านทานเฟคนิวส์  นอกจากนั้นความสามารถในการอ่านเป็นสิ่งสำคัญในการต้านทานเฟคนิวส์ อ่านได้ยาวเท่าไรยิ่งต้านทางเฟคนิวส์ได้มากเท่านั้น ตลอดจนอ่านแล้ววิเคราะห์สังเคราะห์ได้มากน้อยเพียงได้ ที่สำคัญคือความเชื่อมั่นของคนในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อร่างความสามารถความเท่าทันสื่อของแต่ละประเทศ ยิ่งประเทศที่มีคอร์รัปชั่นสูงการรู้เท่าทันสื่อจะยิ่งต่ำเพราะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น ตลอดจนเรื่องของสื่อมวลชนว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ทั้งนี้บทบาทของผู้ใหญ่ในปัจจุบันมีความสำคัญต่อเด็กที่อยู่ในวัยเปราะบาง ซึ่งต้องมีการสอนให้คัดกรองสื่อได้อย่างรู้เท่าทัน และเป็นสิ่งที่ตนในฐานะนักการศึกษากำลังจะดำเนินการในปีนี้

ด้าน พ.ต.ท.(หญิง) เพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ รองผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท.บช.สอท.  กล่าวว่า ในมุมมองของตำรวจอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดกับเด็ก แฟลตพอร์มต่างๆ พวกนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยหากมีการละเมิดเด็กจะมีการแจ้งมาที่อินตอโพลล์หน่วยงานกลางอยู่แล้ว รวมทั้งเฟคนิวส์อหรือข่าวลวงแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็จะส่งเรื่องมที่ตำรวจอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่ที่นโยบายของแต่ละแพลตฟอร์มในการมองปัญหาเหล่านี้  ซึ่งเราสามารถประสานความร่วมมือเพื่อนำเทคโนโลยีมาช่วยในการแก้ปัญหาต่างๆได้

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สุชัย เจริญมุขยนันท

สุชัย เจริญมุขยนันท

นิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรโปรดิวเซอร์ เนชั่น วิทยากรพิราบน้อย โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยุเนชั่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำจงอุบลราชธานี ผู้จัดการศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้อำนวยการทีวีชุมชนอุบลราชธานี E : [email protected] F : ทีวีชุมชนอุบลราชธานี T : 0818786440 LINE : SUCHAINEWS