X

อุบลฯ เดินหน้าดันโรงเรียน สร้างอาหารปลอดภัย วัตถุดิบไร้สารพิษ สด สะอาด ถูกหลักโภชนาการ

อุบลราชธานี- ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 4 อาคารใหม่ สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดอุบลราชธานี โครงการกินสบายใจ ร่วมกับ โรงเรียนในเครือข่ายและเกษตรกรอินทรีย์ จัดการประชุม “แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางการดำเนินงานอาหารปลอดภัยอย่างมีส่วนร่วม” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านอาหารปลอดภัยโรงเรียนกินสบายใจ ปี 2563

ซึ่งในช่วงเช้าของการจัดประชุมมีการตั้งเวทีพูดคุยความสำคัญของอาหารปลอดภัยในโรงเรียนกินสบายใจ และเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางการดำเนินงานอาหารปลอดภัย โดยมี อ.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ ได้เผยถึงในทิศทางอนาคตด้านอาหารกลางวันปลอดภัยว่า โครงการกินสบายใจเป็นโครงการที่กำลังหาคำตอบให้กับสังคมไทยถึงการตั้งคำถาม “อาหารปลอดภัยมีลักษณะอย่างในปัจจุบัน” โจทย์คำถามของอาหารปลอดภัยจะถูกคลี่คลายลงได้หากทุกคนหันมาต่อต้านการใช้สารเคมี ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ดีควรเริ่มจากการปลูกกันตั้งแต่ระดับภายในโรงเรียน ส่งเสริมการทำอาหารอย่างปลอดภัย ถูกหลักโภชนาการ ภายใต้การส่งเสริมของผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายสยาม หยองเอ่น ผู้ช่วยผู้ประสานงาน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร เล่าถึงการผลักดันอาหารปลอดภัยภายในจังหวัดยโสธรว่า จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์มาแล้วเป็นเวลานาน ซึ่งขณะนี้ตนเองกำลังดำเนินงานในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธรซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนเกษตรกรขยายผลการทำเกษตรอินทรีย์ผลักดันให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงการผลิตงดใช้สารเคมี เพื่อตอบโจทย์อาหารปลอดภัยที่สังคมกำลังให้ความสำคัญ ทั้งนี้เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธรมีเป้าหมายสำคัญที่จะสร้างระบบการบริโภคอาหารปลอดภัยภายในจังหวัดยโสธรให้เข้มแข็ง ผลักดันให้เป็นนโยบายระดับจังหวัดบูรณาการเข้ากับหลายเครือข่าย ซึ่งได้ร่วมมือกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นผลักดันอาหารปลอดภัยภายในโรงเรียน

นายพินิจ คาดพันโน ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านหนองคู ตำบลหนองคู อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เล่าถึงแนวทางการดำเนินงานอาหารปลอดภัยภายในโรงเรียนชุมชนบ้านหนองคูว่า โรงเรียนชุมชนบ้านหนองคูได้มีการผลักดันการทำงานนโยบายอาหารปลอดภัยภายในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยมีคุณครูผู้รับผิดชอบและแม่ครัวของโรงเรียนเป็นกลไกสำคัญของการทำงานครั้งนี้ ซึ่งคุณครูและแม่ครัวของโรงเรียนจะเป็นบุคคลที่คอยคัดเลือกวัตถุดิบก่อนนำไปประกอบอาหาร โดยใช้ความรู้การคัดเลือกวัตถุดิบที่ได้จากอบรมของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร ซึ่งทำให้ขณะนี้โรงเรียนชุมชนบ้านหนองคูเกิดความมั่นใจว่าข้าวและผักเป็นวัตถุดิบปลอดภัยที่สุดของโรงเรียน เพราะข้าวและผักเป็นวัตถุดิบที่มีการผลิตเองภายในชุมชนและโรงเรียน ซึ่งในส่วนของวัตถุดิบด้านโปรตีนโรงเรียนยังต้องอาศัยจากตลาดภายนอกแต่ทั้งนี้ทางโรงเรียนก็พยายามเลือกวัตถุดิบเนื้อสัตว์จากคนในชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงวัตถุดิบจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่มักปนเปื้อนสารเคมี

ด้าน วลัยพร บุรีศรี ครูโรงเรียนชุมชนบ้านหนองคู กล่าวต่อว่า คุณครูและแม่ครัวของโรงเรียนชุมชนบ้านหนองคูตระหนักและตื่นตัวอย่างมากสำหรับนโยบายอาหารปลอดภัยในโรงเรียน โดยวัตถุดิบทุกชนิดทางโรงเรียนได้มีการลงพื้นที่ตรวจแปลงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ก่อนรับซื้อผลผลิต ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจถึงความปลอดภัยไร้สารเคมี ส่วนด้านการประกอบอาหารแม่ครัวของโรงเรียนจะเป็นผู้คิดรายการอาหารของแต่ละวัน โดยอาศัยการคำนวณวัตถุดิบที่ได้จากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในแต่ละสัปดาห์

ส่วนถัดมาด้าน พิสิทธิ์ หอมสมบัติ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคูเมือง (อ่อนอนุเคราะห์) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เผยภาพรวมรูปแบบการดำเนินงานอาหารปลอดภัยภายในโรงเรียนว่า โรงเรียนบ้านคูเมืองได้ให้ความสำคัญถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและอาหารปลอดภัย ซึ่งมีการทำงานร่วมกับโครงการโรงเรียนกินสบายใจของมูลนิธิสื่อสร้างสุข โดยผลักดันให้นักเรียนของโรงเรียนบ้านคูเมืองรู้จักการปลูกผักทานเอง พร้อมจัดการอบรมเพิ่มความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ให้กับคนในชุมชนและเด็กนักเรียน จนต่อยอดเกิดเป็นตลาดสร้างสุขคูเมือง แต่ทั้งนี้ทางโรงเรียนก็ยังได้พยายามผลักดันยกระดับโรงครัวให้เป็นโรงครัวอาหารปลอดภัย ซึ่งปี 2563 โรงเรียนบ้านคูเมืองได้ดำเนินงานอย่างจริงจังโดยให้นักเรียน แม่ครัว และเกษตรกร ร่วมกันออกแบบรายการอาหารประจำวันเพื่อให้สอดคล้องกับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในชุมชน

หลังจากมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวทางการดำเนินงานอาหารปลอดภัยของทางเครือข่าย สง่า ดามาพงษ์ จึงกล่าวเสริมว่า ตนเองจะพยายามผลักดันคำว่า “กินสบายใจ” ให้เป็นเรื่องระดับชาติจับกลุ่มที่กำลังกระจัดกระจายอยู่ในขณะนี้ให้มีรูปแบบและการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการดำเนินงานอาหารปลอดภัยจุดเริ่มต้นสำคัญต้องมาจากภายในโรงเรียนสร้างกลไกร่วมกัน โดยให้เกษตรกรอินทรีย์ในชุมชนและผู้ปกครองมีส่วนร่วมช่วยกันส่งเสริมและสร้างความตระหนักถึงความหมายของคำอาหารปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สุชัย เจริญมุขยนันท

สุชัย เจริญมุขยนันท

นิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรโปรดิวเซอร์ เนชั่น วิทยากรพิราบน้อย โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยุเนชั่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำจงอุบลราชธานี ผู้จัดการศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้อำนวยการทีวีชุมชนอุบลราชธานี E : [email protected] F : ทีวีชุมชนอุบลราชธานี T : 0818786440 LINE : SUCHAINEWS