X

โจน จันได แนะการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน ต้องไม่เดือดร้อนตนเอง เน้นพออยู่พอกิน ลดการใช้สารเคมี

อุบลราชธานี-เมื่อวันที่  13 ส.ค. 63 โครงการกินสบายใจ ร่วมกับ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี และภาคีเครือข่ายโครงการ จัดการอบรมพัฒนาองค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนและออกแบบแปลง(Design) เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ การแปลงสภาพอากาศและภัยพิบัติ ณ ห้องสิรินสัมนาคาร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยการอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเติมความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์และเสริมภูมิต้านทานให้เกษตรกรสามารถรับมือกับภัยพิบัติและสภาพอากาศที่แปรปรวนในอนาคต

โจน จันได เกษตรกร ศูนย์พันพรรณ เปิดเผยประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนว่า ส่วนตัวตนนิยามความหมายของเกษตรอินทรีย์ว่า การพัฒนาดิน ซึ่งการพัฒนาดินต้องควบคู่ไปกับการปลูกพืชที่หลากหลายไม่ใช้สารเคมี ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำเกษตรต้องเริ่มจากการสร้างอาหารสำหรับตนเองให้มีพออยู่พอกินจึงค่อยพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ไปสู่ขั้นเพื่อหารายได้

ทั้งนี้การเริ่มต้นเกษตรอินทรีย์ที่ดี ควรรู้จักการบริหารที่ดิน การทำเกษตรโดยต้องแบ่งพื้นที่ให้เหมาะสมประกอบด้วย สระน้ำ สวนผัก สวนผลไม้ นาข้าว ซึ่งการทำนาแบบใหม่ ไม่ควรทำหมด ให้แบ่งพื้นที่ให้พอเหมาะไม่เกิน 5 ไร่ และพื้นที่ส่วนที่เหลือให้ปรับไปเปลี่ยนเป็นการปลูกป่า เพื่อสร้างระบบนิเวศให้สมบูรณ์และยั่งยืน ปล่อยให้ธรรมชาติทำหน้าที่ช่วยดูแลกันและกัน ลดการใช้สารเคมี

ซึ่งหากเรารู้จักที่จะเปลี่ยนแปลงแนวความคิดใหม่ บริหารที่ดินที่มีอยู่ให้เหมาะสม โดยเมื่อเกษตรกรสามารถลงมือทำได้ในส่วนของ สระน้ำ สวนผักสวนผลไม้ จะเป็นตัวสร้างรายได้ให้กับตนเอง ทั้งนี้การปลูกสวนต้องเป็นการปลูกพืชมากกว่า 50 ชนิดในพื้นที่ครึ่งไร่ โดยเน้นการปลูกพืชหลากหลาย หมุนเวียนการเก็บผลผลิตสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรทุกวันทุกฤดูกาล

นอกจากนี้ โจน จันได ยังเสริมให้เกษตรกรปลูกป่าเพื่อสร้างรายได้ เพราะผืนป่าเป็นสิ่งที่ไม่ต้องลงทุนลงแรง แถมมีผลผลิตสามารถเก็บได้ทุกฤดูกาลและการปลูกป่าให้ได้ผลดี คืออย่าหมั่นรดน้ำบ่อย แต่ใช้ฟางคุมหน้าดินแทนการรดน้ำ โดยเมื่อฝนตก ฟางจะทำหน้าที่เป็นตัวเก็บกักความชื้นพร้อมดูดซึมแร่ธาตุและเมื่อยามหน้าแล้งฟางจะเป็นตัวที่คอยปล่อยสารอาหารและความชื้นให้กับพืช

ส่วนเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยของประเทศไทย ส่งผลให้ผลผลิตของเกษตรกรลดลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นเกษตรกรต้องเตรียมตัวปลูกพืช เช่น เผือก มัน แทนการปลูกข้าวสร้างแหล่งอาหารใหม่และลดการใช้ยาฆ่าหญ้าปล่อยให้หญ้าเกิดปกคุมบริเวณผิวหน้าดินตามธรรมชาติ เพราะหญ้ามีความสามารถอุ้มน้ำชะลอการไหลที่รุนแรงของน้ำ ลดสาเหตุปัจจัยของการเกิดน้ำท่วม

และสุดท้ายนี้ โจน จันได ได้อธิบายแนวคิดระบบโคกหนองนาไว้ว่า “โคก หนอง นา”  เป็นการสร้างระบบใหม่ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ไม่ว่าจะเกิดน้ำท่วมหรือฝนแล้ง ซึ่งการทำระบบโคกหนองนานั้นไม่มีสูตรการออกแบบตายตัวเกษตรกรต้องสังเกตและทดลองด้วยตนเอง โดยให้ดูบริบทพื้นที่ของตนว่าอนาคตจะสามารถทำอย่างไรให้ผืนดินของเราประกอบไปด้วย แหล่งน้ำ สวน ป่า นาข้าว และการสร้างทั้งหมดเหล่านี้ขึ้นมาจะต้องไม่เดือดร้อนตนเองจึงนับว่าเป็นการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนแท้จริง

ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สุชัย เจริญมุขยนันท

สุชัย เจริญมุขยนันท

นิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรโปรดิวเซอร์ เนชั่น วิทยากรพิราบน้อย โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยุเนชั่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำจงอุบลราชธานี ผู้จัดการศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้อำนวยการทีวีชุมชนอุบลราชธานี E : [email protected] F : ทีวีชุมชนอุบลราชธานี T : 0818786440 LINE : SUCHAINEWS