X

นักวิชาการชี้สังคมอุดมปัญหาอับจนปัญญาเพราะไม่ลงทุนกับเด็กปฐมวัย

เปิดร่างพ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ ทุกฝ่ายต้องเอาหัวใจมาให้”เด็กเล็ก”ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ตั้งโรงเรียนสอนการเลี้ยงลูก พ่อแม่ร่วมบริหารศูนย์เด็กเล็ก เข้มคัดครูคุณภาพ

อุบลราชธานี : นายนพพร พันธุ์เพ็ง สื่อมวลชนอาวุโส ได้สรุปประเด็นจากรายการมองรัฐสภา ตอน “เปิดเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ” เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2560 ทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รศ.ดารณี อุทัยรัตนกิจ เป็นวิทยากร และนายสมาน งามโขนง ดำเนินรายการ มีใจความดังนี้

1.พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ เคยผ่านการยกร่างมาก่อนโดยสปท.และรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ได้ให้ความสำคัญต่อเด็กปฐมวัยแต่ใช้คำว่า”เด็กเล็ก”แทน

2.การยกร่างพ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติครั้งนี้ คณะกรรมการยกร่างได้ใช้วิธีหาข้อมูลหลากหลายวิธี ทั้งศึกษาจากร่างเดิมของสปท. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลจริงในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ร่างพ.ร.บ.มีความสมบูรณ์และสามารถสร้างประโยชน์ให้มากที่สุด

3.คำนิยาม”ปฐมวัย” ตามพ.ร.บ.นี้ จะครอบคลุมการดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาจนถึงอายุ 8 ขวบ โดยเด็กจะต้องได้รับการดูแลในแต่ละช่วงวัยอย่างเหมาะสม โดยในแต่ละช่วงวัยจะมีบุคคลและองค์กรมีระดับความเกี่ยวข้องที่แตกต่างกัน

4.การแบ่งระดับการดูแลจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้ 4.1 เด็กในครรภ์ – 2 ขวบ พ่อและแม่จะเป็นผู้ดูแลที่สำคัญที่สุด รวมทั้งหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณะสุข เช่น ศูนย์อนามัย ในช่วงนี้พ่อ-แม่ควรจะเป็นผู้เลี้ยงดูลูกเอง เด็กควรจะได้กินนมแม่ ซึ่งมีสารอาหารที่ดีและครบถ้วน แล้วยังสร้างสายสัมพันธ์ผูกพันแม่ลูก พ่อ-แม่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการเลี้ยงดูลูกอย่างถูกวิธี พ.ร.บ.จึงเสนอให้มีการตั้งโรงเรียนสอนพ่อ-แม่ ให้ความรู้ในระหว่างตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ และพ่อ-แม่เข้าถึงได้ง่าย เมื่อแม่ครบกำหนดลาคลอดต้องกลับไปทำงาน สถานประกอบการควรจัดให้มีสถานที่เลี้ยงดูเด็ก เพื่อให้แม่ได้ให้นมลูก จะเป็นผลดีต่อแม่ ลูก และพ.ร.บ.เสนอให้มีการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานสถานที่รับเลี้ยงเด็ก รวมทั้งบุคลากรต้องผ่านการฝึกอบรมได้มาตรฐาน

4.2 ระหว่าง2 – 3 ขวบ องค์กรปกครองท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญผ่านศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งที่ผ่าน มาอปท.ทำบทบาทหน้าที่ตรงนี้ได้ดีมาก และแต่ละอปท.ได้สร้างสิ่งแวดล้อม และการดูแลเด็กตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น วิทยากรเสนอให้พ่อ-แม่ควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารจัดการด้วย

4.3 ระหว่าง 3-6 ขวบ เข้าสู่โครงการเรียนฟรี 15 ปี ตามรัฐธรรมนูญ ในช่วงนี้จะเน้นการเรียนรู้จากการเล่น เป็นช่วงพัฒนานิ้วและสมองได้ดีที่สุด ต้องปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้อย่างอิสระ และพ่อ-แม่ต้องเข้าใจว่า เด็กปฐมวัยต้องมีสมรรถนะในเรื่องอะไร ไม่เน้นวิชาการ เพราะเด็กจะต้องเรียนรู้สอดคล้องกับการพัฒนาสมอง

4.4 ระหว่าง 6-8 ขวบ เป็นช่วงง่ายต่อการปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัย จริยธรรม พ.ร.บ.จะกล่าวถึงหมวดการผลิตครู ต้องมีการคัดเลือกครูเป็นพิเศษ โดยเฉพาะครูปฐมวัย ครูต้องเข้าใจเด็ก ทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข แล้วเด็กจะดี และเก่งตามมา ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กมีความปลอดภัย ทำให้เด็กรักการเรียนรู้และอยากมาโรงเรียน การฝึกเด็กในช่วงนี้ดีที่สุดคือการฝึกให้เด็กทำงานบ้าน ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ (เข้าข่ายรู้จริง ทำได้)

ข้อเสนอแนะของวิทยากรคือ 1.การคัดกรองเด็กพิเศษจะต้องรีบทำตั้งแต่ปฐมวัยวัย เพราะรู้เร็วจะช่วยพัฒนาเด็กได้ถูกวิธีได้ถูกต้อง 2.การดูแลเด็กปฐมวัย จะเกี่ยวข้องกับหน่วยงาน 5 กระทรวง ซึ่งทั้ง 5 หน่วยงานควรจะมีการทำงาน บูรณาการร่วมกัน

ในความคิดเห็นของผู้สรุปประเด็น เห็นว่า พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ ยกร่างขึ้นมาเพราะมองว่าการลงทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ลงทุนน้อยแต่ได้ประโยชน์มาก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลจะให้งบประมาณ/ลงทุนการศึกษาในระดับช่วงชั้นที่ 4 และระดับอุดมศึกษามาก จึงทำให้สังคมไทยเป็นสังคมอุดมปัญหา แต่อับจนปัญญาดังเช่นปัจจุบัน เพราะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ช่วงที่สำคัญที่สุดก็คือช่วงปฐมวัย ดังคำพูดที่เราเคยรับรู้มาว่า “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว”

บทความโดย : นพพร พันธุ์เพ็ง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สุชัย เจริญมุขยนันท

สุชัย เจริญมุขยนันท

นิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรโปรดิวเซอร์ เนชั่น วิทยากรพิราบน้อย โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยุเนชั่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำจงอุบลราชธานี ผู้จัดการศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้อำนวยการทีวีชุมชนอุบลราชธานี E : [email protected] F : ทีวีชุมชนอุบลราชธานี T : 0818786440 LINE : SUCHAINEWS