อุบลราชธานี-สถาบันครอบครัว สร้างความเข้มแข็ง ปลูกฝังวินัยกับเด็กเล็ก เสริมความรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม พร้อมรับ NEW NORMAL หลังโควิด
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 โครงการพัฒนาพื้นที่ครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและภาคีเครือข่าย ตั้งวงเสวนาออนไลน์“ความปกติใหม่ของครอบครัวหลังโควิด” แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชื่อมโยงพื้นที่ครอบครัวอุ่น ขับเคลื่อนสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง
รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข ศิริพูล ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อคนไทยเป็นอย่างมากทั้งวีถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมทำให้บางสิ่งบางอย่างขาดหาย ซึ่งเมื่อวิถีชีวิตของคนถูกเปลี่ยนแปลงใหม่เกิดการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยและไม่ใช้สิ่งของร่วมกันลดการสัมผัสเชื้อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คนภายในครอบครัวต้องช่วยกันปลูกฝังให้ทุกคนปฏิบัติตามอย่างเข้มงวดเพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้
โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กปฐมวัยต้องเน้นย้ำทำความเข้าใจใช้วิกฤตสร้างวินัยให้เด็กรู้จักการดูแลตนเอง อย่างไรก็ตามโรคระบาดโควิดเข้ามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ด้านครอบครัวจึงต้องคอยสร้างวิถีชีวิตใหม่ควบคู่กันไป ซึ่งเริ่มจากการปรับบทบาทหน้าที่,ปรับการหารายได้,ปรับการกินอยู่ ,รักษาระยะห่าง,กระชับความสัมพันธ์เน้นคุณค่าของเวลาที่อยู่ร่วมกัน ลดความเครียดภายในครอบครัว
ทั้งนี้ความเข้มแข็งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนในครอบครัวรู้จักคุณค่าของครอบครัวตนเอง ใช้ความเชื่อของรุ่นสู่รุ่นสร้างความเชื่อมั่นปลูกฝังเด็กเล็กให้รู้ถึงความเอื้ออาทรการมีน้ำใจแบ่งปันต่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อวันข้างหน้าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีหนุนนำชุมชนเสริมสร้างประเทศชาติ
สุนทร อุทธา นักพัฒนาสังคมชำนาญการ สำนักงาน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า วิกฤตโควิด19 นั้นกระทบวิถีชีวิตคนไทยหลายส่วน ซึ่งในด้านครอบครัวนั้นศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนได้ทำงานเน้นการสร้างสัมพันธภาพภายในครอบครัวให้แข็งแรง โดยการสร้างสัมพันธภาพเริ่มได้จากการสื่อสารพูดจากันถ้อยคำที่ดีและแบ่งเบาภาระงานบ้าน เป็นต้น
นอกจากนี้ภาวะโควิดยังทำให้คนในเมืองหลวงพลิกวิกฤตเป็นโอกาสย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนาคืนอาชีพทำไร่ทำสวน โดยส่วนตนอยากหนุนเสริมการจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ครอบครัวต้นแบบ ซึ่งอยากส่งเสริมให้ครอบครัวเน้นสัมพันธภาพ,บทบาทหน้าที่,หลีกเลี่ยงจากภาวะเสี่ยง,รู้จักพึ่งพาตนเองและเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายอยากฝากให้ทุกครอบครัวยังคงความอบอุ่นชุมชนเข้มแข็งตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดเรื่อยไป
ธานินทร์ ไชยานุกูล สาธารณสุขอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าว่า ในมุมมองสาธารณสุขจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้พี่น้องประชาชน โดยกลไกลสำคัญนั้นคือการสื่อสารกันภายในสังคมและครอบครัว ซึ่งสาธารณสุขมุ่งเน้นให้ประชาชนแตกฉานความรู้ด้านสุขภาพ “Health Literacy” หนุนให้ทุกคนรู้จักการอยู่กับความปกติใหม่ในสังคมหลังโควิด โดยการอยู่ร่วมกันแบบยั่งยืนนั้นต้องมีแกนนำสุขภาพครอบครัวที่เข้มแข็ง
ทั้งนี้เมื่อมีรากฐานแข็งแรงแล้วสิ่งที่ต้องเน้นภายในครอบครัวคือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน อาทิ งดเดินทางไปพื้นที่ที่เสี่ยง,สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกไปนอกบ้าน,พกเจลแอลกอฮอล์,รับประทานอาหารที่สะอาด,รักษาความสะอาดสิ่งของภายในบ้าน,หมั่นออกกำลังกาย โดยแนวปฏิบัติเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวต้องยึดปฏิบัติเป็นความปกติใหม่
ทศพล ไกรพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านศรีไคออก ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตนได้มองเห็นว่า 1) คนครอบครัวต้องปรับความสัมพันธ์ภายในครอบครัว 2) สร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจส่งเสริมการออมภายในครอบครัว 3) แบ่งเวลาให้กับครอบครัวใช้วิกฤตกระชับความสนิทสนม มุ่งเป้าหมายสร้างครอบครัวเข้มแข็งให้เป็นรูปธรรม
จงรักษ์ บุญลอย ผู้ใหญ่บ้านแมด และประธานเครือข่ายธนาคารเวลาบ้านแมด ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ความปกติใหม่ในสถานการณ์โควิดของครอบครัวและชุมชนนั้น ตนได้มีการปรึกษาหารือกับคนในชุมชนหาทางออกของวิกฤต ซึ่งด้านชุมชนนั้นตนได้ประชาสัมพันธ์เน้นย้ำถึงการดูแลตนเอง,การล้างมือ,การใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น ทั้งนี้สถานการณ์โควิดทำให้ชุมชนเกิดความห่วงใยกันและกัน คนในครอบครัวหันมาเอาใจใส่กันมากขึ้นกว่าปกติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรีย์ ธรรมิกบวร ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาพื้นที่ครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้รับผิดชอบประเด็นครอบครัว คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอวารินชำราบ กล่าวว่า NEW NORMAL สร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการอยู่ร่วมกันภายในครอบครัว นอกจากนี้ยังต้องระวังการเกิดความรุนแรงภายในครอบครัวซึ่งความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากความสัมพันธ์ของคนภายในครอบครัว โดยสถานการณ์โควิดทำให้ทุกคนต้องปรับตัวการร่วมกันอย่างมาก
ส่วนการจัดการนั้นคนในครอบครัวต้องพูดคุยสร้างข้อตกลงมาตรการภายในบ้านและการอยู่ร่วมกับลูกหลานต้องตระหนักถึงความปลอดภัยลดความเสี่ยงรับเชื้อสอนวินัยสร้างความรู้ให้กับลูกหลาน พร้อมเน้นอาหารปลอดภัยรับประทานที่ดีต่อสุขภาพและส่งเสริมการออกกำลังกายให้เกิดภูมิคุ้มกัน
อย่างไรก็ตามทุกครอบครัวต้องหันมาช่วยกันปรับตัว เด็กเล็กต้องได้รับการพัฒนาความรู้ การใช้ความรุนแรงในครอบครัวต้องลดลง ซึ่งต้องมีชุมชนเป็นตัวช่วยกลไกล สังคมจะเป็นตัวขับเคลื่อนพัฒนาสถาบันครอบครับ ทุกคนร่วมกันคิดร่วมกันปฏิบัติสร้างบรรทัดฐานครอบครัวอบอุ่นแสดงบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่
ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง