X
ตัดป่าสงวนดงชี

ชาวบ้านโวย ผู้รับเหมา ออป.ใช้ยาฆ่าตอยูคา กระทบหาอาหารป่า ฝนชะหน้าดินลงแหล่งน้ำ

อุบลราชธานี-ชาวบ้านโวย ผู้รับเหมา ออป.ใช้ยาฆ่าตอยูคา กระทบหาอาหารป่า ฝนชะหน้าดินลงแหล่งน้ำ

ชาวบ้านในตำบลสร้างถ่อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของป่าสงวนดงชี ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าดำเนินการปลูกต้นยูคาลิปตัสทดแทนป่าที่เสื่อมโทรมพื้นที่ 300 ไร่ รวมตัวโวยผู้รับเหมาใช้สารเคมีไกลโฟเซตราดฆ่าตอไม้เก่า เกรงกระทบกับอาหารป่า น้ำฝนชะหน้าดินลงสู่แหล่งน้ำหมู่บ้าน ด้าน ออป.ยอมรับผิด เพราะผู้รับเหมามักง่าย ได้ยกเลิกสัญญาจ้าง พร้อมทำแนวเขตป้องกัน

ชาวบ้านศรีบัว ต.สร้างถ่อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี รวมตัวถือป้ายประท้วงการปลูกป่าทดแทนขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ป่าดงชีเนื้อที่รวม 300 ไร่ โดยเรียกร้องให้หยุดนำเครื่องจักรกลหนักรื้อถอนตอต้นยูคาลิปตัสที่เสื่อมสภาพ พร้อมให้หยุดใช้สารเคมีราดทำลายรากตอไม้ต่างๆ เพราะกระทบกับการเก็บหาของป่า ซึ่งเป็นเหมือนซุปเปอร์มาเก็ตของชาวบ้าน 17 หมู่บ้านของตำบลสร้างถ่อ

รวมทั้งยังเกรงน้ำฝนจะชะล้างหน้าดินที่มีสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซต สารเคมีอันตรายลงสู่หนองน้ำของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ แหล่งหาปลาของชาวบ้าน และต้องการให้ ออป.หยุดการดำเนินการใดๆกับพื้นที่ป่าดงชีทั้ง 300 ไร่ในขณะนี้ทันที

นายคำหล้า ส่งสุข อายุ 65 ปี ชาวบ้านศรีบัวเล่าที่มาของป่าสงวนดงชีแห่งนี้ว่า เดิมชาวบ้านเข้ามาเก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ ต่อยไข่มดแดง จับแย้ จับกะปอม ไปทำอาหารเหลือก็ขาย นอกจากนี้ ยังเก็บเศษไม้ไปทำฟืนไม่ต้องใช้แก๊ส เรียกว่าป่าดงชีเป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชาวบ้าน แม้ช่วงเกิดการระบาดของไวรัสโควิด 19 ชาวบ้านก็ได้อาศัยอาหารจากป่าดงชีแห่งนี้ แต่เมื่อมีการนำเครื่องจักรกลหนักเข้ามารื้อตอไม้ยูคาลิปตัส และใช้ยามาฆ่าหญ้า ก็ส่งผลกระทบกับชาวบ้านไม่สามารถเข้ามาเก็บหาอาหารไปจากป่า เพราะกลัวได้รับสารพิษที่นำมาใช้ รวมทั้งยังเกรงฝนจะชะล้างเอาหน้าดินที่ปนเปื้อนสารเคมีลงไปในหนองน้ำที่เป็นแหล่งน้ำที่อยู่ด้านล่างของป่าแห่งนี้ด้วย จึงต้องการป่าเบญจพันธุ์กลับคืนมาให้ชุมชน

ขณะที่นายบุญมี สาระการ ผู้ใหญ่บ้านศรีบัวกล่าวว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคมที่ผ่านมา ออป.มีการประชาคมกับผู้นำหมู่บ้าน เพื่อขอปลูกต้นยูคาลิปตัสที่เป็นไม้เศรษฐกิจโตเร็ว ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจำนวน 300 ไร่ ซึ่งชาวบ้านก็เห็นด้วย เพราะต้องการได้ป่าที่สมบูรณ์เพิ่มขึ้น โดยมีข้อตกลงกับ ออป.ต้นไม้ที่มีขนาดลำต้นตั้งแต่ 30 เซนติเมตร จะต้องไม่ถูกโค่น

แต่ปรากฏเมื่อผู้รับเหมาที่ ออป.ว่าจ้างมารื้อทำแนวปลูกป่า มีการนำสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตที่เป็นสารอันตราย มาฉีดยาหญ้า ฆ่ารากต้นยูคาลิปตัสที่เสื่อมสภาพ ทำให้ชาวบ้านยอมรับไม่ได้ จึงได้มีการประกาศเสียงตามสายเตือนไม่ให้ชาวบ้านไปเก็บเห็ดหรือของป่าในบริเวณที่มีการฉีดสารเคมี พร้อมทำหนังสือแจ้งไปยังอำเภอและสวนป่าให้ลงมาดู และสั่งหยุดดำเนินการไปในขณะนี้

ด้านนายประยูร อุทธสิงห์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสร้างถ่อ เปิดเผยถึงการเข้าดำเนินการปลูกป่าทดแทนป่าเสื่อมโทรมของ ออป.มีการเรียกประชุมผู้นำหมู่บ้านทั้ง 17 หมู่บ้านเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่แรก ออป.จะขอใช้พื้นที่เกือบ 1,000 ไร่ ชุมชนไม่ยอมให้ปลูกแค่ 300 ไร่ และให้ปลูกเฉพาะที่เสื่อมโทรมจริงๆ โดยให้ขุดตอเดิมออกแล้วปลูกทดแทนในจุดเดิม ไม่ใช่การเอารถกลหนักมาปรับจนโล่งเตียนแบบที่เห็น ทำให้ชาวบ้านไม่สบายใจ จึงมีการยับยั้งไม่ให้ผู้รับเหมาดำเนินการ

ต่อมาได้รับแจ้งมีการใช้สารเคมี อบต.จึงได้เชิญทั้งสวนป่าและชาวบ้านมาประชุมหารือ ซึ่งเจ้าหน้าที่สวนป่ายอมรับมีการใช้สารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซต ทำให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่หาของป่าของชาวบ้าน จึงมีมติให้สวนป่าทำพื้นที่สีแดงกั้นแนวเขตพื้นที่อันตรายที่ใช้สารเคมีไปแล้ว และให้ทำคันดินรอบพื้นที่กันน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีไหลลงแหล่งน้ำของชาวบ้าน ซึ่งหาก ออป.ทำตามนี้ ชาวบ้านยังยินดีให้ ออป.ดำเนินการปลูกป่าได้ต่อไป

ขณะที่นายสถาพร สมดี หัวหน้าสวนป่าดงชี (ไม่ให้สัมภาษณ์) แต่ให้ข้อมูลว่า ออป.ยอมรับความผิดพลาดที่ผู้รับเหมาปรับแต่งพื้นที่นำสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตมาใช้ ซึ่งปกติถือเป็นข้อห้ามของหน่วยงาน ออป.ที่ห้ามใช้สารเคมีเหล่านี้อยู่แล้ว

เมื่อได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านได้สั่งให้หยุดดำเนินการทันที ส่วนการแก้ไขปัญหาในจุดที่ได้มีการนำสารไปใช้ ก็ได้ทำการกั้นแนวเขตและติดป้ายเตือนชาวบ้านไม่ให้เข้าไปเก็บหาของป่าจากบริเวณดังกล่าว เพราะจะได้รับอันตราย

นอกจากนี้ จะมีการยกร่องทำคันดินรอบพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชะล้างหน้าดินไหลลงสู่ลำน้ำของหมู่บ้าน ส่วนการใช้เครื่องกลหนักเข้าไปปรับพื้นที่ หากชาวบ้านไม่ต้องการให้ทำต่อไป ก็จะทำในส่วนที่ทำได้ แต่ยืนยันไม่มีการตัดถอนต้นไม้ที่มีวงรอบลำต้นเกิน 30 เซนติเมตร ตามที่ได้มีข้อตกลงกับชาวบ้านไว้ มีเพียงการรื้อถอนตอไม้เก่าที่หมดสภาพ เพื่อปรับพื้นที่ปลูกป่าขึ้นใหม่

สำหรับผู้รับเหมาช่วงที่ทำผิดข้อตกลง ก็ได้ยกเลิกสัญญาไม่ให้ทำงานต่อ และต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้รับเหมาที่เป็นคู่สัญญากับ ออป. เพื่อนำเงินมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนการที่ชาวบ้านบอกต้องการให้ยกเลิกพื้นที่ป่า ออป.ไม่มีอำนาจ ชาวบ้านต้องทำหนังสือแจ้งต่อรัฐบาลเอง

“หน้าที่ของ ออป.ขณะนี้ คือ ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ที่เสื่อมสภาพให้เป็นป่าเศรษฐกิจ ซึ่งชาวบ้านสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ และป้องกันการบุกรุกยึดครองพื้นที่ป่าของประเทศ”

เกียรติรัตน์ ชัยสกุลวงศ์ ข่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สุชัย เจริญมุขยนันท

สุชัย เจริญมุขยนันท

นิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรโปรดิวเซอร์ เนชั่น วิทยากรพิราบน้อย โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยุเนชั่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำจงอุบลราชธานี ผู้จัดการศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้อำนวยการทีวีชุมชนอุบลราชธานี E : [email protected] F : ทีวีชุมชนอุบลราชธานี T : 0818786440 LINE : SUCHAINEWS