X
โซล่าเซลล์ลอยน้ำ

ชาวบ้านสิรินธร ขอความชัดเจน โซล่าร์เซลล์ลอยน้ำ เกรงกระทบการหาปลา

อุบลราชธานี – ชาวบ้านกลัวไม่มีพื้นที่จับปลาจากการผลิตกระแสไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์เขื่อนสิรินธร

ที่หน้าที่ว่าการอำเภอสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีชาวบ้านหัวสะพาน หมู่ 2 ต.คำเขื่อนแก้ว อ.สิรินธร ประมาณ 50 คน ซึ่งประกอบอาชีพหาปลา จัดล่องแพอาหาร ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร มายื่นหนังสือกับนายสนอง มาลัยขวัญ นายอำเภอ เพื่อขอความชัดเจนการทำโครงการผลิตกระแสจากแผงโซล่าร์เซลล์ลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เนื้อที่ 450 ไร่ โดยเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้งบลงทุนกว่า 2,265 ล้านบาท มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ากว่า 87 ล้านหน่วยต่อปี

โดยนายรำไพ แสนอ้วน อายุ 48 ปี ชาวบ้านที่มายื่นหนังสือคนหนึ่งอ้างว่า เกรงได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ เพราะพื้นที่ใช้จับปลา และล่องแพอาหารน้อยลง รวมทั้งกลัวคลื่นความร้อนจากแผงโซล่าเซลล์ที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า จึงต้องการให้ชี้แจงความชัดเจน พร้อมเรียกร้องขอค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพครัวเรือนละ 9,000 บาทต่อเดือน หรือปีละ 108,000 บาท เป็นเวลานาน 25 ปี พร้อมให้ชาวบ้านได้ใช้ไฟฟ้าฟรีตลอดไปด้วย

ซึ่งนายสนอง มาลัยขวัญ นายอำเภอได้เชิญชาวบ้านมาพูดคุยหารือ ก่อนรับหนังสือนำส่งให้ผู้ใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานี นำไปพิจารณาอีกครั้ง

ด้านนายสังวาล พรมสำลี หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงเรื่องที่ชาวบ้านมายื่นหนังสือขอความชัดเจนเรื่องผลกระทบจากโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ว่า สำหรับพื้นที่ที่ใช้ทำโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังความร้อนของโซล่าเซลล์ เป็นพื้นที่เป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิรินธร ซึ่งเป็นพื้นที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว

แต่ที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้เปิดให้ชาวบ้านมาใช้พื้นที่ด้านประมงด้วยการจับปลาในเขื่อน และใช้เป็นเส้นทางการสัญจรทางน้ำ แม้จะมีการวางแผงโซล่าร์เซลล์บนผิวน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ก็ยังมีพื้นที่เหลือให้จับปลาได้อีกมาก

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการไฟฟ้ามีโครงการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้สัตว์น้ำ โดยมีการปล่อยสัตว์สัตว์น้ำลงในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งการวางแผงโซล่าเซลล์ไม่ส่งผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำลดลง แต่อาจส่งผลดีต่อด้านใต้ของโครงการ จะทำเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ อนาคตจะมีสัตว์น้ำได้เติบโตเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เพิ่มขึ้นอีก

ส่วนเรื่องการเกรงปัญหาคลื่นความร้อนจากแผงโซล่าร์เซลล์ที่นำมาวางจำนวนมาก ตามหลักวิศวกรรมเป็นแผงชนิดไม่สะท้อนความร้อน และเป็นแผงที่ได้มาตรฐานที่มีใช้อยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของคลื่นความร้อนตามที่ชาวบ้านกังวล ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อมีการลงพื้นที่สร้างอาชีพเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบอ่างเก็บน้ำ การไฟฟ้าได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการนี้มาตลอด ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจดี

ส่วนข้อเรียกร้องให้จ่ายเงินชดเชยค่าเสียโอกาสทำประมงให้กับชาวบ้านรายละ 9,000 บาทต่อเดือน คงเป็นไปไม่ได้ เพราะพื้นที่ทำโครงการอยู่ในพื้นที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่ได้ไปใช้พื้นที่ของเอกชนรายใด แต่ที่ผ่านมาได้เปิดให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบอ่างได้เข้ามาใช้ประโยชน์แบบสร้างสรรค์ ทั้งประกอบอาชีพจับปลา แพอาหาร หรือจัดให้มีการล่องแพในอ่างเก็บน้ำ

เกียรติรัตน์ ชัยสกุลวงศ์ ข่าว

ติดตามข่าวอุบลราชธานีได้ผ่านเพจ อุบลคอนเนก

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สุชัย เจริญมุขยนันท

สุชัย เจริญมุขยนันท

นิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรโปรดิวเซอร์ เนชั่น วิทยากรพิราบน้อย โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยุเนชั่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำจงอุบลราชธานี ผู้จัดการศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้อำนวยการทีวีชุมชนอุบลราชธานี E : [email protected] F : ทีวีชุมชนอุบลราชธานี T : 0818786440 LINE : SUCHAINEWS