X

รีสอร์ท-รอส.เขาค้อแถลง จนท.จับ 135 รีสอร์ทข้อหารุกป่าไม่เป็นธรรม อ้างป่าเหี้ยนตั้งแต่การสู้รบ-สัมปทานป่า

เพชรบูรณ์-รีสอร์ท-รอส.เขาค้อแถลง จนท.จับ 135 รีสอร์ทข้อหารุกป่าไม่เป็นธรรม อ้างป่าเหี้ยนตั้งแต่การสู้รบ-สัมปทานป่า ประกาศป่าสงวนฯทับที่ดินชาวบ้าน พร้อมแถลงการณ์เรียกร้องรวม 8 ข้อ 

เวลา 09.00 น. วันที่ 14 พฤษภาคม กลุ่มตัวแทนรีสอร์ทเขาค้อและชาวบ้านรอส.ในพื้นที่อ.เขาค้อ ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ ทองจันทร์ ปธ.เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 4 ตำบลฯเขาค้อ, นายโสภา เปรมโสภณ ราษฏรอาสาสมัคร(รอส.),  นายไพศาล เพชรวรา ทนายความ, ดร.เนรมิตร พรมทา รองปธ.เครือข่ายฯตำบลเขาค้อ, นางบุปผา จันทร์เพ็ง ประธานชมรมคนรักษ์เขาค้อและพวก ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงพร้อมเรียกร้องความเป็นธรรม กรณีถูกคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีกับ 135 รีสอร์ทนอกแปลง รอส.และอยู่ในเขตป่า ที่วัดราชพฤกษ์ ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ โดยมีผู้ประกอบการรีสอร์ทและชาวบ้านรอส.ราว 300 คน รวมทั้งพระครูชัยพิชิตพัชรสถิต เจ้าอาวาสวัดราชพฤกษ์เข้าร่วม ทั้งนี้ในการแถลงข่าวดังกล่าวมีการชูป้ายเรียกร้องและขอความเป็นธรรมอีกด้วย

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลังการต่อสู้ที่ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต 15 ปี วันนี้ต้องมาต่อสู้กับอะไร ชาวเขาค้อมีความรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวและอยากให้ความรู้สึกนี้ย้อนแย้งกลับไปสู่คนที่ไม่ดีกับชาวเขาค้อ ในขณะที่นายโสภา กล่าวถึงสาเหตุจากขาดทุนประกอบอาชีพมีหนี้สิน รอส.จึงเป็นต้องขายที่ดินออกไป และเหตุผลในการทำผิดเงื่อนไข 9 ข้ออย่างจำใจ และในการปักเขตและประกาศเขตป่าสงวนทับที่รอส. แล้วก็ไปบอกว่าบุกรุกซึ่งไม่ยุติธรรม ส่วนนายไพศาลตั้งข้อสงสัยถึงเงื่อนไข 9 ข้อที่ภาคราชนำมาอ้างและจะปลดรอส.ว่าเมื่อกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ยกเลิกไปแล้วก็ไม่ควรมีผลบังคับใช้

ด้านนางบุปผา จันทร์เพ็ง ประธานชมรมคนรักษ์เขาค้อ กล่าวพาดพิงถึงบ้านพักทหารม้าและเขาค้อลอร์ดและยังบ้านพักของอุทยาน โดยชี้ว่าหากมีการเขียนกฎหมายให้สร้างได้ทำไมไม่เปิดให้ประชาชนได้สร้างบ้าง การให้ข่าวของเจ้าหน้าที่เรื่องจัดการ 135 รีสอร์ท, รีสอร์ทในแปลง รอส.ผิดเงื่อนไข จนคนเขาค้อถูกประณามและยังมาบอกให้อยู่นิ่งเฉยทั้งที่ชาวเขาค้อเดือดร้อน

“คนรอส.และลูกหลานรอส.เหล่านี้มีที่ดินเท่าไหร่ บางคนแค่ 2 งาน บางคนแค่ 3 ไร่ หรือ 20 ไร่ แล้วกังหันลมกี่ไร่ กังหันลมรวยเท่าไหร่ แล้วเราคนจนแล้วทำไมมาตราหน้าว่าพวกเราเป็นนายทุน แล้วทำไมไม่โจมตีเขาว่าเขาเป็นนายทุน  บ้านพักทหารม้าทำได้ทำไป กังหันลมทำไป ขอพวกเราอยู่ด้วยเท่านั้นเอง ไงก็ต้องสู้กันให้ถึงที่สุดคนเขาค้อกดดันหัวใจกันมามากแล้ว คุณกลัว 157 จากใครก็ไม่รู้แต่คุณไม่กลัว 157 จากประชาชนโดยเฉพาะจาก 4 ตำบลบ้างหรือไร”นางบุปผากล่าว

จากนั้นนายปรีชา เดชบุญ เลขานุการเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้อ่านแถลงการณ์ชี้แจงและมีข้อเรียกร้องรวม 8 ข้อ โดยเนื้อหาสรุปชี้แจงถึงประเด็นการถูกกล่าวหาเรื่องบุกรุกป่า และการให้เจ้าหน้าที่ปรับการแจ้งดำเนินคดีโดยให้ผู้ถูกกล่าวหาไปแสดงตัวและไม่ต้องหลักทรัพย์ประกันตัว รวมทั้งเสนอแผนพัฒนาของเครือข่ายสภาฯ โดยให้อบต.หนองแม่นา,อบต.เขาค้อ ผู้ขอใช้ประโยชน์ฐานะนิติบุคคล หากได้รับอนุญาตให้สำรวจการครอบครองใหม่ และยังให้นำเสนอแผนแบบบูรณาการจากการมีส่วนร่วม นำแผนโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กเดิม โครงการศาสตร์พระราชา โครงการเศรษฐกิจพอเพียง มาผสมผสานปรับใช้ ขอใช้เป็นแปลงรวม ทำข้อบัญญัติตำบลและเสนอขอใช้พื้นที่ตามระเบียบของกรมป่าไม้ต่อผู้มีอำนาจต่อไป…

***แถลงการณ์เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนอำเภอเขาค้อ***

กรณีเจ้าหน้าที่รัฐเสนอข่าวคนเขาค้อที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินป่าสงวนฯ

จากกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐหลายท่าน ได้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับคนเขาค้อว่า บุกรุกป่าสงวน ที่เป็นป่าต้นน้ำ อันเป็นเหตุให้ เขาค้อได้รับผลกระทบกับสังคมภายนอก เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเขาค้อ เพชรบูรณ์ และของประเทศในที่สุด เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนเขาค้อ ซึ่งประกอบไปด้วยบุคลคลในหลากหลายอาชีพที่อาศัยอยู่บนเขาค้อ อันประกอบไปด้วย ราษฎรอาสาสมัคร ( รอส.),ทายาท รอส.,เกษตรกรในพื้นที่,ข้าราชการบำนาญ,ผู้ประกอบการบ้านพัก,ฯลฯ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้สื่อโปรดให้ความในกรณีข้อกล่าวหาดังกล่าวด้วย

1.หลังจากสมรภูมิการสู้รบสงบลงในปี 2525 สงบแล้วในปี 2526 ทหารได้นำพาราษฎรอาสาสมัครช่วยรบ (รอส.) ขึ้นมาอยู่บนเขาค้อ ให้สิทธิอาศัยและทำกินในที่ดิน นับตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา และเมื่อ 10 พ.ย.2529 ทางการได้ประกาศเป็นป่าสงวนเขาปางก่อ-วังชมภู  ทับพื้นที่ทำกินที่ทหารจัดให้ รอส.ดังกล่าว คนเขาค้อจึงมิได้เป็นผู้บุกรุกป่าสงวนตามที่เป็นข่าว และในข้อกล่าวหาว่า คนเขาค้อบุกรุกป่าต้นน้ำชั้น 1-2 เป็นการกล่าวหาโดยปราศจากข้อมูล ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด คนเขาค้อจึงตกเป็นจำเลยของสังคม กล่าวคือ ข้อมูลจาก สนง.ป่าไม้ จ.เพชรบูรณ์ พบว่า พื้นที่ของเขาค้อ กว่า 80เปอร์เซนต์ เป็นพื้นที่ชั้นลุ่มน้ำ3-4 และได้ถูกกันเป็นป่าโซน e ไว้แล้วเกือบเต็มที่พื้นที่ๆยังมีภาระผูกพันกับการให้อนุญาตไว้กับทหาร อีกทั้งมิได้เป็นเป้าหมายหลักแห่งการทวงคืนผืนป่าแต่อย่างใด

2.มติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2509 และ 25 ม.ค.2518 อนุญาตให้กรมทางหลวงทำถนน และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเขต จัดสรรให้ราษฎรทำกินและอาศัยอยู่ในเขตป่าหมายเลข 22 โดยให้ผู้รับอนุญาตปฏิบัติตามเงื่อน 10 ข้อ อันมีวาระสำคัญและจำเป็นทางกฎหมาย โดยเฉพาะในข้อ 9.ดังนี้

“เนื่องจากบริเวณที่ได้รับอนุญาตเป็นป่า ที่ครม.มีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ เมื่อบริเวณดังกล่าวประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้วเมื่อใดและผู้รับอนุญาต ยังมีความประสงค์ที่จะใช้พื้นที่ดังกล่าว เพื่อการสร้างทาง หรือจัดที่ดินให้ประชาชนทำกินและอยู่อาศัยอีก ผู้รับอนุญาตจะต้องยื่นคำขอทำประโยชน์ต่อกรมป่าไม้อีกครั้งหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507ทันที” ซึ่งในข้อปฏิบัตินี้ปรากฏว่า ทางทหารไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการขอใช้ใหม่แต่ประการใด จึงมีผลให้ราษฏรอาสาสมัครและหน่วยงานที่ได้รับการอนุญาตจากทหาร จำนวน 83 แห่งบนเขาค้อ ตกอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด

3.ป่าไม้ในพื้นที่เขาค้อ ถูกทำลายไปก่อนหน้าที่ทหารจะได้รับอนุญาต จากการให้สัมปทานป่าไม้กับภาคเอชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2507-2509 และจากการสู้รบในสมรภูมิโดยทหารใช้ระเบิดนาปาล์ม และจากการโค่นต้นไม้ ไปทำบ้านให้กับ รอส.หมู่บ้านละ 50 หลังคาเรือน ของ 32 หมู่บ้าน ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก

4.พื้นที่ของเขาค้อได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา และสภาวะที่สมบูรณ์ทางธรรมชาติ รอส.ถูกทอดทิ้งขาดการเหลียวแลจากทหาร การประกอบอาชีพทางการเกษตร มีข้อจำกัดและขาดการส่งเสริมที่ต่อเนื่อง ประกอบกับทางราชการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว คนเขาค้อเกิดสภาวะหนี้สินเอาตัวไม่รอด จึงเสนอขายที่ดิน ให้กับผู้ที่หลงใหลในภูมิอากาศที่บริสุทธิ์ของเขาค้อ พัฒนากลายเป็นที่พักตากอากาศส่วนตัว และรีสอร์ทในที่สุด จึงเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ รอส.ผิดเงื่อนไขกับทหารในกฎเหล็ก9ข้อ ที่เป็นเพียงเงื่อนไขอันมิใช่กฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการผิดเงื่อนแห่งไขสัญญา เฉกเช่นเดียวกับทหารผิดเงื่อนไขกรมป่าไม้เช่นกัน

5.ผลกระทบจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติการแจ้งความดำเนินคดีตามแผนจากการประชุมร่วม 6 กันยายน 2560 และเริมปฏิบัติการตรวจสอบแจ้งดำเนินคดีเมื่อ10 พ.ค.61 เป็นการทำงานที่ไม่เป็นไปตามสัจจะวาจาที่ทหารได้พูดไว้ที่ ชค.(สี่แยกรื่นฤดี) เมื่อวันที่ 9พ.ค.61เวลา 10.30 น. โดยขอให้ จนท.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการแจ้งความดำเนินคดีใหม่ ลดผลกระทบในความเดือดร้อนของผู้ถูกกล่าวหา การเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาไม่จำเป็นต้อง ขนเจ้าหน้าที่จำนวนมากมาย 6-7 คันรถเช่นที่ผ่านมา คนเขาค้อมีทะเบียนบ้าน มีที่อยู่หลักแหล่งที่ชัดเจน ไม่ใช่มหาโจร และไม่มีการหลบหนี  โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 10 พ.ค.61 มีการดำเนินคดี 11 ราย ผู้ถูกกล่าวหาต้องอยู่โรงพักถึง 02.00 น.ของวันรุ่งขึ้น และใช้เงินประกันตัวถึงรายละ 6-7.5 หมื่นบาท แตกต่างจากพื้นที่ของอำเภอน้ำหนาว ที่ผู้ถูกกล่าวหามาแสดงตัวแล้วก็ปล่อยตัวไป

6.สภาองค์กรชุมชนทั้ง 4ตำบลในพื้นที่ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยสันติวิธี ตามระเบียบของกรมป่าไม้ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนฯพ.ศ.2509 ตั้งแต่การเก็บข้อมูล การครอบครองพื้นที่ ในปัจจุบันที่เปลี่ยนมือไป ซึ่งพบว่า รอส.ทำผิดเงื่อนไขดังกล่าว มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มีราษฎรอาสาสมัครที่ยังมีชีวิตอยู่ 325 คน จาก 1525 คน และไม่พบการบุกรุกที่ใหม่ในที่ดินป่างสวนฯ ตลอดจนการทำประชาคมในระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล และในเวทีระดับอำเภอ พร้อมยื่นหนังสือขอใช้พื้นที่ต่อ หัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบูรณ์(นายขจรศักดิ  อนันตวงศ์/ในขณะนั้น) ณ โรงเรียนร่มเกล้าเขาค้อ เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2551(2มิ.ย.58) ท่ามกลางชาวบ้านที่เป็นผู้แทนในแต่ละหมู่บ้าน ร่วมเวทีประชาคมในครั้งนั้น จำนวน520 คน

7.ในข้อใช้พื้นที่ตาม ข้อ 6. ยังไม่ได้รับหนังสือตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานกรมป่าไม้ เนื่องจากสภาองค์กรชุมชนทั้ง 4 ตำบล อาจไม่อยู่ในสภาพการเป็นนิติบุคคลและไม่เข้าข่ายในการพิจารณาอนุญาตตามที่ขอได้

8.ข้อเสนอและแผนการพัฒนาของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนอำเภอเขาค้อต่อไปในอนาคต

8.1 เสนอให้ อบต.หนองแม่นา และ อบต.เขาค้อ เป็นผู้ขอใช้ประโยชน์ฐานะนิติบุคคลในท้องถิ่นและมีบุคลากรพร้อมที่จะบริหารจัดการที่ดิน หากได้รับอนุญาต โดยนำร่องในพื้นที่ อบต.หนองแม่นา ก่อน

8.2 สำรวจการครอบครองใหม่ โดยใช้ข้อมูลในปัจจุบันเดิมที่ได้รบการยอมรับจากหน่วยงานรัฐ แยกประเภท รอส.,ทายาท รอส.,ผู้ครอบครองรายใหม่ที่ทำการเกษตร,ผู้ครอบครองใหม่ที่ประกอบการ

8.3 นำเสนอแผนแบบบูรณาการจาการมีส่วนร่วม นำแผนโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กเดิม โครงการศาสตร์พระราชา โครงการเศรษฐกิจพอเพียง มาผสมผสานปรับใช้ ขอใช้เป็นแปรงรวม ทำข้อบัญญัติตำบลและเสนอขอใช้พื้นที่ตามระเบียบของกรมป่าไม้ ต่อผู้มีอำนาจต่อไป

  • เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนอำเภอเขาค้อ
  • วันที่ 14 พฤษภาคม 2561

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน