X

11 อ่างเก็บน้ำฯ เพชรบูรณ์ มีน้ำต้นทุนราว 30% เตรียมแผนรับมือฝนทิ้งช่วงยาว สถานการณ์ อ.บึงสามพันน่าเป็นห่วง

เพชรบูรณ์-11 อ่างเก็บน้ำมีน้ำต้นทุนราว 30% เตรียมแผนรับมือฝนทิ้งช่วงกันน้ำไว้เพื่ออุปโภคบริโภค งดปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร ด้านสถานการณ์อ.บึงสามพันน่าเป็นห่วง สระเก็บน้ำผลิตประปาเหลือน้ำแค่ราว 15% จี้การประปาฯเ ร่งรับมือ

วันที่ 20 กรกฎคม นายเชษฐา ดิษยมาลย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบูรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์อ่างเก็บกักน้ำทั้ง 11 แห่งของ จ.เพชรบูรณ์ว่า ในภาพรวมอ่างเก็บกักทั้ง 11 แห่งปริมาณเก็บกักความจุ 193 ล้านล.บ.เมตรเศษ วันนี้มีน้ำเก็บกักราว 59 ล้าน ล.บ.เมตร หรือราว 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ฝนทิ้งช่วงเพราะร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย เกิดผิดปกติถูกลมตะวันตกเฉียงใต้ดันขึ้นไปประเทศจีน ทำให้ฝนที่เคยตกในช่วงนี้กับไม่ตกตอนนี้และกลายเป็นฝนไปตกที่ประเทศจีนเยอะ แต่ทั้งนี้ร่องมรสุมนี้จะถูกดันกับมาลงพาดผ่านประเทศไทยอีกรอบ เพราะฉะนั้นสถานการณ์ฝนตกในวันนี้คงไม่ถึงกับขาดหายทีเดียว เป็นแค่เพียงช่วงทิ้งระยะไปแต่ฝนยังมีโอกาสตกอยู่เพียงแต่น้อยลงไปเท่านั้นเอง

นายเชษฐากล่าวว่า ขณะนี้จึงมีการวางมาตรการไว้สำหรับน้ำอุปโภคบริโภค โดยอ่างเก็บน้ำแห่งไหนที่จะต้องดูแลเรื่องอุปโภคบริโภคจะมีการงดใช้น้ำด้านการเกษตร โดยทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้ใช้น้ำให้น้อยที่สุดโดยใช้ปริมาณน้ำฝนเป็นหลัก ส่วนน้ำอุปโภคบริโภคซึ่งมีอ่างต้องดูแลคือ อ่างป่าแดง อ่างป่าเลา อ่างท่าพล ดูแลเขตพื้นที่อำเภอเมืองเป็นหลัก ส่วนทางใต้ลงไปได้แก่ อ.หนองไผ่ อ.วิเชียรบุรี จะมีอ่างลำกงและอ่างห้วยเล็งช่วยดูแลอยู่ หากเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้นจริงๆทั้ง 2 อ่างนี้ก็จะปล่อยน้ำลงสู่ลำคลองต่างๆ เพื่อให้ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก โดยอ่างเหล่านี้ห่างแม่น้ำป่าสักราว 17-18 กม. ก็จะสามารถโรยน้ำไปลงแม่น้ำป่าสัก โดยทางการประปาและทางท้องถิ่นก็จะสามารถสูบน้ำขึ้นไปใช้ในการผลิตประปาได้ โดยมีการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว

“ส่วนอ่างเก็บน้ำทางพื้นที่ตอนบนของจังหวัดได้แก่ อ่างห้วยขอนแก่น อ่างน้ำก้อ อ่างน้ำชุน ทั้ง 3 อ่างนี้ยังมีน้ำ เพราะพื้นที่ติดกับเขตป่าของอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวหรือเขาค้อ ซึ่งสภาพป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอย่างต่อเนื่องแม้จะไม่มีฝนตกก็ตาม เพราะฉะนั้นการทำเกษตรกรรมในเขตพื้นที่ตอนเหนือ ก็ยังคงมีการปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรอยู่ แต่ตอนล่างซึ่งมี 8 อ่างจะต้องระมัดระวังเรื่องการใช้น้ำ”นายเชษฐากล่าว

ผอ.โครงการชลประทานเพชรบูรณ์กล่าวว่า ส่วนพื้นที่ที่วิกฤตได้แก่บริเวณอำเภอบึงสามพ้น เพราะไม่มีอ่างเก็บน้ำอยู่จึงเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ขณะนี้ได้มีการหารือกับกับทางการประปะส่วนภูมิภาคบึงสามพันแล้ว โดยให้วางมาตรการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ได้แล้ว เพราะสระเก็บน้ำของการประปาที่บึงสามพันมีปริมาณเก็บกักเหลือค่อนข้างน้อยแค่ราว 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หาก 2 เดือนไม่มีน้ำเติมลงไปจะเข้าสู่ช่วงวิกฤต ฉะนั้นคงต้องใช้มาตรการเดียวกับอ่างเก็บน้ำป่าแดงทีก่อนหน้านี้มีการโรยน้ำลงมาช่วย แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาช่วยกันตามน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกสูบไปใช้กลางทางหรือหากถูกใช้ก็ต้องให้น้อยที่สุดโดยต้องแบ่งปันกันไป

นายเชษฐากล่าวว่า ส่วนสถานการณ์น้ำที่อ่างป่าแดงในปัจจุบัน หลังจากมีฝนตกลงมาช่วงหนึ่งทำให้มีน้ำไหลลงอ่างในปริมาณพอสมควร ทำให้ถึงขณะนี้มีปริมาณน้ำเก็บกักราว 4 ล้านล.บ.เมตรเศษ อย่างไรก็ตามหากโชคร้ายไม่มีฝนตกลงมาในช่วงนี้ ปริมาณเก็บกักในเวลานี้ก็จะเพียงพอให้ใช้ไปได้จนถึงราวเดือนตุลาคมนี้ ส่วนการปล่อยน้ำให้การประปาฯและทางค่ายทหารเพื่อใช้สำหรับผลิตน้ำประปานั้น ปัจจุบันทางอ่างป่าแดงปล่อยน้ำให้วันละ 20,000 ล.บ.เมตร

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน