X

ชาวเพชรบูรณ์กว่า 13,000 คน สนใจแห่ร่วมเสวนาศาสตร์กัญชาที่ มรภ.เพชรบูรณ์

ชาวเพชรบูรณ์กว่า 13,000 คน สนใจแห่ร่วมเสวนาศาสตร์กัญชาที่ มรภ.เพชรบูรณ์

วันที่ 25 พฤษภาคมที่ห้องประกายเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ สภากัญชาแห่งประเทศไทย(สกท.) เครือข่ายสหกรณ์การเกษตรและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์และสถาบันภูพาน ศูนย์อโรคยาศาลและโรงเรียนกัญชาไทย จัดโครงการเสวนา “งานเสวนาวิชาการศาสตร์กัญชา กัญชาสู่งานวิจัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ จังหวัดเพชรบูรณ์ขึ้น โดยมีชาวเพชรบูรณ์และประชาชนในจังหวัดข้างเคียงกว่า 13,000 คน ให้ความสนใจเข้าร่วมฯ จนทำให้ผู้ร่วมประชุมทะลักออกมานอกห้องประชุม กระทั่งมีการจัดเต้นท์มาตั้งเพื่อรองรับ นอกจากนี้สมาคมแพทย์แผนไทย นำผลิตภัณฑ์พื้นบ้านและผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมน้ำมันกัญชา 0.5% ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายมาจำหน่าย โดยได้รับความสนใจและมีผู้อุดหนุนกันเป็นจำนวนมาก

ด้านดร.อัศดา วุฒธนานันท์ รองประธานภาคเหนือและประธานสภากัญชาจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ในการเสวนาในครั้งนี้มุ่งเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์กัญชา เพื่อผลวิจัยทางการแพทย์ โดยมีความร่วมมือจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะจาก มรภ.เพชรบูรณ์ โดยมีประชาชนเข้าร่วมเกินเป้าหมาย จากเดิมตั้งเป้าไว้จะมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 5000 คน แต่สรุปยอดจำนวนผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งหมดมีจำนวนถึง 13,000 กว่าคน ซึ่งแสดงว่าประชาชนอยากเรียนรู้และต้องการศึกษาถึงศาสตร์์กัญชา เพื่อทางการแพทย์และนำไปรักษาตนเองหรือคนข้างเคียง

ดร.อัศดา กล่าวว่า สำหรับการผลักดันกัญชาของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยสำนักวิจัยฯ ทาง มรภ.เพชรบูรณ์จะเป็นผู้ดำเนินการ ในขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ก็ให้ความสำคัญและประกาศอยากส่งเสริมให้ถูกกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาศเข้าถึงกัญชาเพื่อการแพทย์ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิและองค์กร รวมทั้งเครือข่ายในการสนับสนุนช่วยเหลืออีกด้วย และตอนนี้มีพื้นที่ซึ่งสมาชิกได้บริจาคเป็นโรงเรือนหรือศูนย์อโรคยาศาลอยู่ที่อำเภอเมืองจะเป็นจุดเรียนรู้ต่อจากนี้ไป

ดร.อัศดา กล่าวว่า สำหรับสมาชิกสภากัญชาฯ เพชรบูรณ์ที่มีการสมัครเข้ามาราว 58,800 คน โดยภายในสิ้นเดือนนี้ ครบ 150,000 คนตามที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งในจำนวนนี้ คงไม่ใช่จำเป็นต้องปลูกกัญชาทั้งหมด คำว่ากัญชา การรักษาเชิงเดี่ยวตามวิจัยทางการแพทย์ ก็ยังมีทั้งคุณและโทษ แต่การบำบัดรักษาจริงๆ แล้วต้องใช้ตำรับยา ซึ่งอาจจะเป็นกัญชงข้าวเย็นเหนือข้าวเย็นใต้ สมุนไพรอื่นๆอีกมากกว่า 200 ชนิด ซึ่ง พี่น้องก็จะได้ปลูก และบางพื้นที่ ปลูกแล้วสารที่วิจัยออกมาแล้ว อาจไม่ได้ใช้ในทางการแพทย์ ก็จะมีการไปใช้ในประโยชน์อย่างอื่น และก็ต้องไปปลูกตำรับยาเพิ่มเติม

ดร.อัศดากล่าวว่า สำหรับปัญหาที่น่าห่วงในขณะนี้ก็คือ ในกรอบของกฎหมายที่กำหนดให้เดินมีอุปสรรคบ้าง แต่ตอนนี้ทางภาครัฐก็ได้ผ่อนปรนและได้ปลด-ออกจากยาเสพติดซึ่งก็รอผลกฎหมายลูก ที่จะมาบังคับใช้ และเรื่องวินัยของมวลสมาชิก ถ้าปลูกแล้ว ไปใช้ผิดประเภท โดยไปใช้ในด้านสันทนาการหรือ อย่างอื่นๆซึ่งตอนนี้ ทางปปส. ก็ส่งเครื่องมือตรวจมาให้ โดยจะให้ทุกอำเภอทุกตำบลควบคุมการปลูก ซึ่งจะต้องมีมาตรการและอุปกรณ์เครื่องมือในการควบคุม อย่างเข้มข้น โดยต้องมีการแจ้งพิกัดและกัญชาทุกต้นต้องอยู่ในความควบคุมทั้งหมด ยังไม่ให้ปลูกเสรี และการปลูกจะต้องได้ organic 100% โดยเป็นเกรดพรีเมี่ยม

“แต่อย่างไรก็ตามแปลงเพาะปลูกกัญชาขนาดนี้ยังไม่มีเกิดขึ้น ต้องมีการอบรมให้สมาชิกได้รู้ และเมื่อเข้าใจเป็นอย่างดีแล้วก็จะต้องมีการเดินตามกรอบของกฎหมาย ต้องมีการทำบันทึกข้อตกลงตามอนุ 1 และอนุ 4 เสร็จแล้วต้องขออนุญาต ทางสจ.และทางกระทรวง แต่อีกนัยหนึ่งคืออนุ 2 ซึ่งชมรมแพทย์แผนไทยจังหวัดเพชรบูรณ์ตอนนี้ มีความเข้มแข็งก็จะเริ่มดำเนินการ ปลูกแต่จำเป็นต้องอาศัยห้องวิจัยของนักวิจัยเราเพราะเครื่องมือของแพทย์แผนไทยยังไม่ครบถ้วน”ประธานสภากัญชา จ.เพชรบูรณ์กล่าว

เมื่อถามว่า เป้าหมายด้านทางธุรกิจนจะไปถึงหรือไม่ ดร.อัศดากล่าวว่า “เป้าหมายเดิม ผมขอตั้งเป็นคุณค่าก่อน ซึ่งวัตถุประสงค์เรื่องมูลค่าจะตามมาในภายหลัง แต่ ณ วันนี้ภายใน 2-3 ปี เราจะเน้นเรื่องคุณค่าใช้ในทางการแพทย์ บำบัดรักษาทำอย่างไร ให้ในศูนย์อโรคยาศาลทุกแห่งทุกอำเภอ เรา จะดึงผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลที่ไปแออัด ให้ได้มากที่สุดก่อน”

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน