X

นักธรณีเผย”แอ่งเพชรบูรณ์” แหล่งพบฟอสซิลสัตว์วงศ์แรด-กวาง เคยเป็นทะเลสาบ-บึงสลับทุ่งหญ้า

เพชรบูรณ์-นักธรณีเผย”แอ่งเพชรบูรณ์” แหล่งพบฟอสซิลสัตว์วงศ์แรด-กวาง คาดในโลกดึกดำบรรพ์เคยเป็นทะลสาบหรือบึงสลับทุ่งหญ้ามาก่อน

วันที่ 22 ธ.ค.61 ดร.สมบุญ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรณีธรณีวิทยา กล่าวถึงการขุดพบซากฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ขณะก่อสร้างอ่างโคกเดิ่นฤาษี ต.บ้านกลาง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อราวเดือนมีนาคมปี 2558 ที่ผ่านมา กระทั่งผลการตรวจสอบพบเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์แรดและวงศ์กวาง รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลาน อายุราว 13-15 ล้านปีในยุคไมโอซีนว่า แหล่งที่พบซากฟอสซิลเหล่านี้เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า สภาพภูมิศาสตร์พื้นที่บริเวณนี้ในยุคดึกดำบรรพ์ไม่เกิน 20 ล้านปีหรือในยุคไมโอซีน  สันนิษฐานว่าเคยเป็นทะเลสาบหรือบึงน้ำจืดสลับทุ่งหญ้า โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยเป็นแหล่งอาหาร นอกจากนี้ยังคาดว่าฟอสซิลสัตว์ฯที่ขุดพบที่โคกเดิ่นฤาษีอยู่ในยุคเดียวกับฟอสซิลปลาที่มีการขุดพบที่บ้านหนองปลา อ.หล่มสัก รวมทั้งฟอสซิลปลาที่ ต.ท่าพล อ.เมืองเพชรบูรณ์ก่อนหน้านี้

“ซากฟอสซิลที่แหล่งโคกเดิ่นฤาษีซึ่งส่วนหนึ่งที่มีการขุดพบเป็นโครงกระดูกของสัตว์ดึกดำบรรพ์นั้น มีการพบหลายชิ้นส่วนโดยพบกระจัดกระจาย จากการตรวจวิเคราะห์ในเบื้องต้นทราบว่าเป็นสัตว์เลี้ยงนมด้วยนมวงศ์แรด และนำชิ้นส่วนฟอสซิลเหล่านี้ไปเก็บไว้ที่ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จ.ขอนแก่น ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญคงจะมีความพยายามแกะศึกษาถึงชิ้นส่วนฟอสซิลเหล่านี้ว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นพยายามปะติปะต่อรูปร่างเพื่อให้ทราบว่ามีความสมบูรณ์ขนาดไหน”ดร.สมบุญกล่าว

ดร.สมบุญกล่าวว่า สำหรับฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์แรดและวงศ์กวาง ก่อนหน้านี้มีการพบด้วยกันหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นที่โคราชและแม่เมาะซึ่งเป็นแอ่งในยุคเดียวกัน ส่วนที่เพชรบูรณ์ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพบฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยในช่วงยุคสมัยนั้นในทางวิชาการก็จะบอกว่า เป็นช่วงที่เกิดหลังจากแผ่นดินอินเดียกับยูเลียเซียชนกันเต็มที่ จนเกิดการโกร่งตัวยกขึ้นและเกิดการแตกหักเป็นหลุมด้วยกันหลายหลุม กระทั่งเกิดเป็นแอ่งต่างๆมีแอ่งแม่เมาะ, แอ่งแพร่, แอ่งเพชรบูรณ์ ฯลฯ โดยความสำคัญของการพบซากฟอสซิลเหล่านี้ก็คือ จะช่วยบ่งบอกถึงสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศในช่วงยุคสมัยนั้นได้  แต่น่าเสียดายแหล่งที่ขุดพบฟอสซิลเหล่านี้ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไปแล้ว

“ส่วนแรดและกวางในวงศ์นี้เมื่อยุคสมัย 15 ล้านปีก่อน สภาพโดยรวมทั้งรูปร่างหน้าตาอาจจะไม่แตกต่างจากปัจจุบันเท่าไหร่ เพียงแต่ขนาดอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อย่างไรก็ตามปัจจุบันนักวิชาการยังคงศึกษาค้นคว้าฟอสซิลเหล่านี้ต่อไป เพื่อต้องการจะระบุให้ได้ว่า ชิ้นส่วนที่พบคืออะไรและอยู่ในตำแหน่งไหน หากมีความสมบูรณ์มากพอ ก็จะนำมาประกอบขึ้นเป็นรูปร่างของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ในภายหลัง”ดร.สมบุญกล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน