X

สกู๊ปรายงาน : จับตา! โรงงานกำจัดกากอุตฯ ที่ศรีเทพ จะเดินตามแผนฟื้นฟูหรือไม่?

สกู๊ปรายงาน : จับตา! โรงงานกำจัดกากอุตฯที่ศรีเทพ จะเดินตามแผนฟื้นฟูหรือไม่?

ในการลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ของคณะ ศปป.4 กอ.รมน. นำโดย พล.ท.จิรวัฒน์ พันธ์สวัสดิ์ ผอ.ศปป.๔ กอ.รมน. เพื่อติดตามผลการปฎิบัติงานหน่วยงานภาครัฐ พร้อมร่วมประชุมกับหน่วยราชการต่างๆของจ.เพชรบูรณ์ ที่อ.หล่มเก่า จ.พชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีนายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์ นำตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ฯ เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว 1 ในปัญหาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ยังค้างคาใจประชาชนในพื้นที่ ถึงการติดตามแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐ มีความจริงใจมากน้อยแค่ไหน ได้ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมแห่งนี้ โดยตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รายงานถึงกรณีมีบริษัทรายเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งทำธุรกิจโรงงานกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม ในเขต อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ถูกชาวบ้านในเขตพื้นที่ อ.ศรีเทพ ร้องเรียน จนถูกนำเรื่องขึ้นฟ้องต่อศาลปกครองนครสวรรค์

กระทั่งศาลฯมีคำพิพากษาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อธิบดีกรมโรงงาน, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ, และผู้บริการองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ที่ถูกฟ้องร้องคดี ให้กำกับดูแลระงับเหตุรำคาญจากกลิ่นหม็น ฝุ่น สารปนเปื้อน และให้บริษัทเอกชนที่ถูกฟ้องร้องคดีจัดทำแผนฟื้นฟูแหล่งน้ำใต้ดิน และปรับปรุงแก้ไขน้ำบริเวณโรงงาน ขุดกลบแหล่งน้ำบาดาลที่มีการปนเปื้อน เป็นสิ่งที่ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมดังกล่าว โดยเฉพาะการติดตามความคืบหน้า หลังศาลปกครองฯมีคำพิพากษาไปแล้วมีผลดำเนินการคืบหน้าไปในระดับไหน

ตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวอีกว่า โรงงานแห่งนี้ถูกกรมโรงงานสั่งหยุดตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2565 ถึงปัจจุบัน ซึ่งโรงงานมีพื้นที่ราว 80 ไร่ ได้รับอนุญาติดำเนินธุรกิจตาม พ.ร บ โรงงานฯ และอยู่ในประเภทคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือของเสียที่ไม่เป็นอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนคำสั่งหลักของกรมโรงงานหลังคำพิพากษา โดยบ่อฝังกลบ 3 บ่อ ได้สั่งให้ปิดคลุมผ้าใบในบ่อ 1,2 และเนื่องจากมีท่อระบายแก๊ส จึงให้ติดตั้งระบบบำบัดมลพิษทางอากาศในบ่อที่ 1 ส่วนบ่อที่ 3 เนื่องจากมีน้ำกับดินปนเปื้อนสารเคมี จึงสั่งให้บริษัทฯสูบน้ำออกไปใส่ถัง พร้อมเก็บดินปนเปื้อนไปกำจัด แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ถูกกำจัดยังถูกเก็บไว้ภายในบริเวณโรงงาน เพราะไม่มีใครกล้ารับไปกำจัด

“นอกจากนี้ทางคณะเจ้าหน้าสำนักงานอุตฯจังหวัดฯ ยังลงพื้นที่ไปตรวจติดตามทุกเดือน หรือหาดมีกรณีที่กรมโรงงานลงตรวจสอบทางสำนักงานอุตฯจังหวัด ก็จะลงตรวจติดตามพร้อมพูดคุยกับผู้ร้อง ทุกวันนี้โรงงานยังถูกคำสั่งหยุดเหมือนเดิม ไม่มีการนำกากอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่ ส่วนที่ค้างอยู่ต้องรอการดำเนินการของกรมโรงงาน โดยสภาพของบริษัทฯนี้คนทำงานในพื้นที่ไม่มีแล้ว และจากลงพื้นที่ตรวจสอบล่าสุดมีพนักงานอยู่ 1 คน ทำทุกอย่างตั้งแต่เป็น รปภ.ถึงคลุมผ้าใบ และตอนนี้ทางบริษัทเหมือนทำแผนจะฟื้นฟูแหล่งน้ำใต้ดิน แต่จากการมองดูศักยภาพของบริษัทไม่น่าจะทำได้”

“ทุกวันนี้ยังอยู่ในอำนาจของกรมโรงงาน ทางสำนักงานอุตฯเองได้แค่ลงพื้นที่ไปตรวตสอบ และรายงานให้กรมโรงงานทราบ และในกรณีที่มีการร้องเรียนก็จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบ อาทิ มีการร้องว่ามีกานำของเสียมากลบฝะง ก็จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบแล้วรายงานให้กรมโรงงานได้รับทราบ ส่วนผลตรวจการปนเปื้อนในระยะหลัง ทั้งค่าน้ำ อากาศ ไม่เกินมาตรฐานการปนเปื้อน แต่ก็ยังได้รับการร้องเรียนว่ามีกลิ่น ล่าสุดเพิ่งเดินทางไปเก็บน้ำเสียให้ทางศูนย์วิจัยและเตือนภัยภาคเหนือ ในส่วนอากาศตรวจล่าสุดก็ไม่เกินค่ามาตรฐาน”

“ตอนนี้สั่งหยุดตามมาตรา 39 วรรค 1 ต่อไปหากบริษัทแก้ไขไม่ได้ ขั้นตอนต่อไปคือ เพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 39 ววรค 2 โดยทางราชการจะเข้าไปดำเนินการเอง จากนั้นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับเอกชน แต่ในส่วนนี้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดฯยังไม่ทราบว่า ทางกรมโรงงานจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพราะคำสั่งต่างๆที่มาถึงทางโรงงาน ทางจังหวัดจะไม่รับทราบเลย ต้องไปขอจากทางโรงงานว่าได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง” ตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรมฯเพชรบูรณ์

ตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรมฯเพชรบูรณ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายไง้อีกว่า “แผนฟิ้นฟูทางกรมโรงงานได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟู โดยมีตัวแทนกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นต้น รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยแผนฟื้นฟูได้รับการเห็นชอบ เรียบร้อยแล้ว และได้มีการนำเสนอแผนฟื้นฟูไปให้กรมโรงงาน เพื่อจะให้ทางโรงงานเอกชนดำเนินการตามแผนนี้ แต่ทางโรงงานฯยังไม่ยอมเสนอแผน ตามที่กรมโรงงานเห็นชอบเข้าไป ในส่วนนี้ทางบริษัทมีสาขาอยู่หลายแห่งดำเนินธุรกิจจนครบวงจร แต่จะดำเนินการได้จริงมากน้อยแค่ไหนไม่ทราบเช่นกันแต่มีใบอนุญาต”

ในขณะนี้นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดบ้อม (ทส.) กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงบริษัทฯชื่อแบรนด์นี้ ถูกดำเนินคดีแบบนี้หลายแห่ง ซึ่งบริษัทแม่อยู่ในเขตนิคมแถวๆโรจนะ และได้ ISO ที่สามารถจะเอาขยะสารปนเปื้อนมาคัดแยก แต่ต้องทำให้ครบขั้นตอน แต่ปัญหาที่เกิดก็คือ ถูกปล่อยปละละเลย โดยเอามาให้ซัพคอนแทรคดำเนินการ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การทำระบบบำบัด พอมีปัญหาก็จะทิ้งในจุดนี้ หยุดเพราะคำสั่งให้หยุด แต่ปัญหามลพิษเหล่านี้เกิดในระยะยาวกับประชาชนในพื้นที่บริเวณนั้น

“จึงอยากจะบอกว่าน่าสงสารพี่น้องประชาชนรอบๆบริเวณนั้น ระยะเวลาจะ 5-10 ปีหรือ 100 ปี เพราะไม่รู้ว่าใต้ดินมีอะไร บางส่วนมีข้อมูลว่าเป็นขยะที่ออกมาจากโรงงานที่เป็นขยะอันตราย การกำจัดขยะเหล่านี้มีค่าตอบแนหรือต้นทุนสูง แต่มาลดต้นทุน มาซื้อเอกสารสิทธิ์แล้วก็มาเปิดโรงงาน”นายชีวะภาพกล่าว

“ฉะนั้นจำเป็นจะต้องติดตามเรื่องแผนฟื้นฟูว่า เขาทำได้ในระดับไหนและทำตามได้ไหม แต่ไม่ได้เกี่ยวกับกรมโรงงานเพียงอย่างเดียว ทสจ. ก็ต้องไปดูเรื่องน้ำบาดาล มีการขุดเจาะอย่างไร ผิดกฎหมายตรงไหนก็ต้องทำให้ครบมิติ และในการตรวจค่าน้ำ จะตรวจเพียงน้ำผิวดินไม่ได้จะต้องลงไปลึก การที่ศาลปกครองเป็นห่วงเป็นใยให้ทำแผนฟื้นฟู ซึ่งทำได้ แค่ไหนอย่างไรเป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วนำไปสู่ว่า ISO เขาควรจะยกเลิกหรือลดระดับหรือไม่ ซึ่งอยากเรียนตรงๆว่า ใครเป็นคนที่ให้ ISO ตรงนี้ต้องมาดูกันละ ไม่งั้นก็เชื่อว่าเดี๋ยวก็จะมีชื่อบริษัทหรือโรงงานแบบนี้ไปที่อื่นอีด เพราะเท่าที่จำได้เหตุทำนองนี้ไม่ได้เกิดเพียงครั้งเดียว แต่มีปัญหา 3-4 แห่งแล้วๆก็ย้ายไปแล้ว ซึ่งศักยภาพในการซื้อที่ดินมีสูง เพราะเป็นบริษัทที่มีทุนสูงอยู่ในตลาดหุ้น”

“ส่วนข้อสุดท้ายผมเป็นห่วง และก็เห็นใจทาง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด แม้ประกาศบางตัวก็ยังต้องไปขอบริษัทหรือโรงงานอยู่ ซึ่งคงต้องมีการพูดคุยกันในระดับนโยบาย ซึ่งหากมีโอกาสผมจะนำเรียนกับผู้ใหญ่ในกระทรวง ทส. เพราะเป็นเรื่องสำคัญ”ผู้ตรวจราชการ กระทรวง ทส. กล่าวย้ำ

สำหรับประเด็นโรงงานกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม ที่ อ.ศรีเทพ จึงต้องจับตากันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จะลงเอยอย่างไร?

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน