X

เพชรบูรณ์พบฟอสซิลนอติลอยด์ ยุคเพอร์เมียน อายุ 280 ล้านปี “วิศัลย์”ชี้ตอกย้ำถึงน้ำหนาวเป็นท้องทะเลดึกดำบรรพ์มาก่อน

เพชรบูรณ์พบฟอสซิลนอติลอยด์ ยุคเพอร์เมียน อายุ 280 ล้านปี ใกล้แหล่งพบฟอสซิสอาร์โคซอร์-โปรซอโรพอต “วิศัลย์”ชี้ตอกย้ำถึงน้ำหนาวเป็นท้องทะเลดึกดำบรรพ์มาก่อน

วันที่ 10 มกราคม นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ ( Phetchabun Geopark) ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวานนี้ (9 ธันวาคม) ทางอุทยานฯได้รับมอบตัวอย่างฟอสซิลซากดึกดำบรรพ์ จากนายไชยนันท์ มินิชิต (แล่) และนางสาวสุจิตรา บุญประคม (นิด) ชาวบ้านที่บ้านห้วยหญ้าเครือ ต.น้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งพบซากดึกดำบรรพ์โดยบังเอิญจากการไถที่ไร่ภายหลังทีมงานอุทยานฯ ซึ่งลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้นสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นซากดึกดำบรรพ์ของนอติลอยด์ (Nautiloid) เป็นสัตว์ทะเลในตระกูลกลุ่มเดียวกับ “หมึกทะเล” ซึ่งเป็นหมึกที่มีเปลือกแข็งหุ้มภายนอก ที่รู้จักกันดีในปัจจุบันคือ “หอยงวงช้าง”

นายวิศัลย์กล่าวว่า ในปัจจุบันฟอสซิลชนิดนี้พบกันอยู่บ่อยๆ และมีหลายขนาด แต่สำหรับฟอสซิลนอติลอยด์ที่ค้นพบมีสภาพค่อนข้างความสมบูรณ์มาก ส่วนการกำหนดอายุความเก่าแก่นั้น สันนิษฐานอยู่ในชั้นหินยุคเพอร์เมียนราว 280 ล้านปี ก่อนยุคไทแอสซิก ฉะนั้นในการพบซากดึกดำบรรพ์ชนิดนี้ จึงสามารถเล่าเรื่องรวมทั้งยืนยันถึงข้อสันนิษฐานปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยา ที่บ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณพื้นที่อำเภอน้ำหนาว เคยเป็นท้องทะเลดึกดำบรรพ์ยุค 280 ล้านปีมาก่อน จากนั้นยกตัวขึ้นมาเป็นแผ่นดิน เนื่องจากเปลือกโลก 2 แผ่นมาชนกัน

ผู้ทรงคุณวุฒิ อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ส่วนจุดบริเวณสถานที่ซากดึกดำบรรพ์ตระกูลหมึกทะเลชิ้นนี้ ณ บริเวณไร่ที่บ้านห้วยหญ้าเครือนั้นเป็นเนินเขา จากสภาพดังกล่าวทำให้เกิดข้อสันนิษฐานขึ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฟอสซิลด้งกล่าว จะกลิ้งตกลงมาจากพื้นที่ที่สูงกว่า หลังจากมีการปรับไถพื้นที่หลายครั้ง อย่างไรก็ตามคงต้องทำการสำรวจอีกครั้งว่า อาจจะค้นพบซากดึกดำบรรพ์ชนิดอื่นอีกหรือไม่

นายวิศัลย์กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่บ้านห้วยหญ้าเครือนั้น ก่อนหน้านี้มีการค้นพบฟอสซิลซากดึกดำบรรพ์กระดูกหน้าแข้งโปรซอโรพอต และพบฟอสซิลกระดูกสันหลังอาร์โคซอร์ ส่วนจุดบริเวณที่ค้นพบฟอสซิลนอติลอยด์ แม้จะค้นพบในบริเวณใกล้กัน แต่ไม่ถึงกับพบในบริเวณเดียวกัน

“ซึ่งหากนำฟอสซิลที่ค้นพบในแหล่งนี้มาไล่เลียงกัน พบว่าซากดึกดำบรรพ์นอติลอยด์ที่พบล่าสุดนั้นมีอายุเก่าแก่กว่า เพราะเป็นสัตว์ทะเล และอยู่ในชั้นหินยุคเพอร์เมียน อายุราว 280 ล้านปี และหมดยุคนี้ก็จะมาเป็นยุคไทรแอสซิกราว 200 ล้าน จากสัตว์ทะเลมาเป็นบก โดยเราค้นพบฟอสซิลอาร์โครซอร์และไดโนเสาร์”นายวิศัลย์กล่าว

ผู้ทรงวุฒิ เพชรบูรณ์จีโอปาร์ค กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้ฟอสซิลนอติลอยด์ดังกล่าวได้ถูกนำมาเก็บรักษาและตั้งแสดงที่อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ ที่หนองนารี อ.เมืองเพชรบูรณ์ และประสานไปยังกรมทรัพยากรธรณีให้ทำการสำรวจเพิ่มเติม โดยคาดหวังว่าจะพบฟอสซิลซากดึกดำบรรพ์ชนิดอื่นเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยเติมเต็มและทำให้การเล่าเรื่องถึงปรากฎการณ์ธรณีที่น้ำหนาว รวมถึงความมหัศจรรย์ของแผ่นดินเพชรบูรณ์ตั้งแต่เหนือจรดใต้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

นายวิศัลย์ยังกล่าวชี้แจงถึง ความไม่คืบหน้าการขุดสำรวจเพิ่มเติม จุดที่พบฟอสซิลกระดูกหน้าแข้งโปรซอโรพอตและกระดูกสันหลังอาร์โครซอร์ ว่า แรกสุดในจุดที่พบฟอสซิลกระดูกหน้าแข้งไดโนเสาร์ ก็เป็นพื้นที่ทำไร่ของชาวบ้าน จึงประสานไปที่กรมทรัพยากรธรณีและทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานให้ความสนใจและทำแผนเข้ามาขุดค้น

“แต่ติดที่ อ.น้ำหนาวเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จึงต้องทำเรื่องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยระยะเวลาผ่านไปเกือบ 2 ปีแล้ว คาดว่าคงจะมีความคืบหน้า และคิดว่าคงจะมีการขุดสำรวจเพิ่มเติมในเร็วๆนี้”นายวิศัลย์กล่าว

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน