X

ทีมวิจัยฯสำรวจแหล่งพบฟอสซิลปลา สมัยไมโอซีนอายุ 10-15 ล้านปี (ชมคลิป)

เพชรบูรณ์-ทีมวิจัยฯสำรวจแหล่งพบฟอสซิลปลา สมัยไมโอซีน อายุ 10-15 ล้านปี (ชมคลิป)

วันที่ 27 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะวิจัยโครงการศึกษาความหลากหลายซากดึกดำบรรพ์ปลากระดูกแข็งสมัยไมโอซีน จ. เพชรบูรณ์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนจัดการซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี ประกอบด้วยคณะอาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำโดย ดร.อุทุมพร ดีศรี อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มมส. หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยดร.บูเซียน คาลูฟี (Dr. Bouziane Khalloufi) นักวิจัยศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ผศ.ดร. คมศร เลาห์ประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา และนิสิตภาควิชาชีววิทยา รวมทั้งสิ้น 9 คน ลงพื้นที่ทำการขุดสำรวจชั้นดินบริเวณที่มีการขุดพบฟอสซิลปลาเมื่อปี 2544 ที่ ต.ท่าพล อ.เมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งคณะวิจัยฯได้มีการใช้รถแบ็กโฮเปิดหน้าดินและขุดหลุมสำรวจความลึกราว 3-4 เมตร เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลแนวการวางตัวของชั้นหินและชั้นที่มีการพบฟอสซิลปลาดังกล่าว

ในการขุดสำรวจเก็บข้อมูลครั้งนี้ทางคณะวิจัยฯ พบชั้นตะกอนที่พบฟอสซิลปลาและพืชสะสมตัวในชั้นแรกที่ความลึกราว 1 เมตรจากผิวดินใหม่ และยังพบลึกลงไปอีกหลายชั้น พื้นที่นี้ในอดีตเคยเป็นทะเลสาบน้ำจืดมาก่อน มีการทับถมตะกอนท้องน้ำพร้อมกับพืชและสัตว์มากมาย เมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายสิบล้านปีต่อมา สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป จากทะเลสาบกลายเป็นพื้นดินแทน จนกระทั่งมีการขุดพบซากปลาและซากพืชที่แปรสภาพเป็นฟอสซิลแล้ว

ดร.บูเซียน คาลูฟี (Dr. Bouziane Khalloufi) นักวิจัยศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา กล่าวผ่านล่ามว่า การศึกษานี้มีความสำคัญต่อองค์ความรู้บรรพชีวินวิทยา ทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิต ในสมัยไมโอซีน เมื่อราว 10-15 ล้านปีก่อน ทั้งนี้ประเทศไทยมีการค้นพบฟอสซิลปลาโบราณจำนวนมากจากยุคไดโนเสาร์ ประมาณ 150 ล้านปีก่อน แต่การเจอฟอสซิลปลาในยุคที่ใหม่กว่าเช่นนี้ยังต้องการข้อมูลวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก ซึ่งนับว่าแหล่งปลาในจังหวัดเพชรบูรณ์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะที่นายศิตะ มานิตกุล นักวิจัยศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา และนิสิตปริญญาเอก หลักสูตรบรรพชีวินวิทยา กล่าวว่า การพบซากดึกดำบรรพ์ปลาในเพชรบูรณ์ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการวิจัยอย่างเป็นระบบมาก่อน ซึ่งคุณมาลัย บุญยืน เจ้าของพื้นที่ได้ให้ความอนุเคราะห์กับทีมวิจัยเข้าเปิดพื้นที่ เพื่อศึกษาการลำดับชั้นของตะกอน เพื่อเข้าใจการวางตัวของชั้นหินที่มีการพบซากดึกดำบรรพ์ในแหล่งนี้ หลังจากนั้นก็จะนำข้อมูลพร้อมฟอสซิลกลับไป เพื่อนำไปเปรียบเทียบฟอสซิลปลาที่เคยพบมาก่อนหน้านี้ว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือไม่ หรือมีการพบชนิดใหม่เพิ่มเติม นอกจากนี้ข้อมูลการสำรวจจะช่วยขับเคลื่อนความเป็นเพชรบูรณ์จีโอพาร์คหรืออุทยานธรณีเพชรบูรณ์ให้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบอีกด้วย

ทั้งนี้จากรายงานการขุดพบฟอสซิลปลาในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ระบุว่ามีการพบรวม 2 ครั้งๆ แรก ที่บ้านหนองปลา ต.น้ำเฮี้ย อ.หล่มสักเมื่อปี 2538 จากการขุดสระน้ำเพื่อกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่พบว่า ในชั้นหินโคลนมีซากปลาที่มีความสมบูรณ์อยู่จำนวนมาก เป็นซากดึกดำบรรพ์ปลาน้ำจืดสายพันธุ์ต่างๆรวม 9 สายพันธุ์ เป็นปลาสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน 6 สายพันธุ์ ต่อมาปี 2544 มีการพบเป็นแหล่งใหญ่อีกแห่งที่บ้านท่าพล ต.ท่าพล อ.เมืองเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกว่า พบฟอสซิลปลาประปรายในอีกหลายแห่งด้วย

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน