X

ถกแก้ข้อพิพาทที่ดินโคกตาดเหลว ร้องให้รังวัดใหม่ถูกดำเนินคดีบุกรุกผิดแปลง กมธ.หาทางออกไม่เจอ ผู้ว่าฯยันต้องขับ 26 ชาวบ้าน

เพชรบูรณ์-ถกแก้ข้อพิพาทที่ดินสาธารณะประโยชน์โคกตาดเหลว ชาวบ้านร้องให้รังวัดใหม่อ้างถูกดำเนินคดีผิดแปลง กมธ.หาทางออกไม่เจอ ผู้ว่าฯยันต้องขับ 26 ชาวบ้านตามคำสั่งศาล

วันที่ 16 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่จ.เพชรบูรณ์เมือวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ดินสาธารณะประโยชน์โคกตาด หมู่ที่ 1 ต.นางั่ว อ.เมืองเพชรบูรณ์ ตามคำร้องของชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี โดยอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีต้องตกเป็นผู้ต้องหาคดีบุกรุกที่ดินโคกตาดและถูกบังคับคดีให้ออกจากที่ดินหลังศาลมีคำตัดสินแล้ว ทั้งที่ข้อเท็จจริงที่ดินที่เป็นข้อพิพาทนั้น อยู่นอกระวางที่ดินสาธารณประโยชน์โคกตาด ซึ่งชาวบ้านไม่นำหลักฐานแสดงในชั้นศาล

ทั้งนี้ระหว่างคณะกรรมาธิการฯลงพื้นที่ได้มีชาวบ้านราว 50 คน รวมทั้งนายประทีป นวลเศษฐ ทนายความ และนายยุพราช บัวอินทร์ อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ ได้ให้ข้อมูลถึงที่มาที่ไปโดยระบุว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์โคกตาด กระทรวงมหาดไทยประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2469 กว้าง 100 เส้น ยาว 100 เส้น พร้อมระบุแนวเขตทั้ง 4 ทิศไว้ชัดเจน ในปี 2541 มีการออกรังวัดออก นสล.ที่ 159 ตามระวางภาพถ่ายทางอากาศที 5241 IV แผ่นที่ 7,8 เนื้อที่ 1977 ไร่เศษ

ต่อมาปี 2553 มีชาวบ้านยื่นศาลปกครองฟ้องอำเภอและท้องถิ่นหลังสั่งห้ามนำวัวไปเลี้ยง แต่คำให้การในชั้นไต่สวนพบว่ายังไม่สามารถระบุแนวเขตที่ดินตาม นสล.159 ได้อย่างชัดเจน แต่ภายหลังกับพบว่า มีการขยับเลื่อนแนวเขตที่ดินตาม นสล.159 ออกไป จนท้ายที่สุดหลุดออกจากนอกกรอบระวางแผ่นที่ 7,8 โดยไปทับซ้อนที่ดินชาวบ้านซึ่งอยู่ในเขตป่าและเขตชลประทานบางส่วน จนต่อมาทางเทศบาลนางั่วได้นำคำวินิจฉัยศาลปกครองที่สั่งให้ดำเนินคดีกับผู้บุกรุก จนเป็นเหตุทำให้ชาวบ้าน 26 รายถูกดำเนินคดี โดยมี 1 รายถูกตัดสินจำคุกและอีกรายอยู่ในชั้นฎีกา ส่วนที่เหลือรับสารภาพและถูกบังคับคดีให้ออกจากที่ดิน จนต้องไปร้องต่อกรรมาธิการฯ

จากนั้นนายประทีปได้นำเอกสารที่พบพิรุธโดยมีการขีดฆ่าแก้ไขระวางใหม่ นอกจากนี้ทางผู้เชี่ยวชาญกรมแผนที่ทหาร ซึ่งได้เข้าร่วมชี้แจงถึงผลการอ่านแผนที่ดังกล่าว โดยชี้ว่าระวางแผ่นที่ 7,8 เนื้อที่ราว 5,000 ไร่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่พิกัดที่ดิน นสล.ที่ 159 มีความคลาดเคลื่อนโดยหลุดออกไปจากระวางแผ่นที่ 7,8 และไปทับซ้อนที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัย

ต่อมาคณะกรรมาธิการฯยังได้ร่วมประชุมกับนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ซึ่งนำตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยในซีกชาวบ้านมีนายยุพราชและนายประทีปเป็นตัวแทน โดยข้อเรียกร้องซีกชาวบ้านยังยืนกรานขอให้มีการตรวจสอบว่ามีการดำเนินคดีกับชาวบ้านผิดแปลงหรือไม่ โดยให้มีผู้เชี่ยวชาญอ่านแปลแผนที่ จากกรมแผนที่ทหารร่วมตรวจสอบด้วย และระหว่างเชื้อโควิด-19 ยังระบาด ขอให้ชะลอการบังคับคดีชาวบ้าน 26 รายก่อน จนกว่าขบวนการตรวจสอบจะเสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตามบรรยากาศในที่ประชุมมีความตึงเครียด หลังจากตัวแทนชาวบ้านได้จี้ถามถึงข้อสงสัยถึงเอกสารที่พบว่ามีความเคลื่อนและมีการแก้ไขอย่างผิดสังเกตุ โดยตัวแทนที่ดินฯและเทศบาลฯ นอกจากตอบคำถามไม่ชัดเจนแล้วยังแสดงความไม่แน่ใจอีกด้วย ในขณะที่นายสาครรุ่งเรือง รองผู้ว่าฯยังกล่าวย้ำถึงแผนที่ทหารยังมีความไม่แน่นอนและไม่ชัดเจนเท่าแผนที่ของที่ดินฯ ส่วนนายสืบศักดิ์ยืนยันบังคับคดีกับชาวบ้าน 26 รายตามคำสั่งศาล แต่จะใช้แนวทาง คทช.ช่วยเหลือในภายหลัง แต่ก็แสดงความไม่แน่ใจจะทำได้หรือไม่ ทำให้การประชุมฯจบลงทั้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและมีความคืบหน้าแต่อย่างใด

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน