เพชรบูรณ์-ชลประทานฯแจงแผนผันน้ำ 5 อ่างเก็บกักคืบ แก้วิกฤตขาดแคลนน้ำดิบผลิตประปา หล่อเลี้ยงพื้นที่ อ.เมืองฯและพื้นที่ 4 อำเภอตอนล่าง ส่วนอ่างป่าแดงยืดเวลาน้ำหมดถึงเดือนพ.ค นี้
วันที่ 5 มีนาคม นายเชษฐา ดิษมาลย์ ชลประทานจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวถึงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำ 5 แห่ง เพื่อแก้วิกฤตแหล่งน้ำดิบ ในเขตพื้นที่อ.เมืองเพชรบูรณ์และ 4 อำเภอตอนล่างของจังหวัดขาดแคลนไม่พอเพียงผลิตน้ำประปาว่า เดิมในวันที่ 1 มีนาคมจะเริ่มผันน้ำจากอ่างห้วยขอนแก่นและอ่างน้ำก้อที่อ.หล่มสัก ลงมาที่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ แต่เนื่องจากเกิดความไม่เข้าใจขึ้นในกลุ่มผู้ใช้น้ำภาคการเกษตรของ อ.หล่มสัก,อ.หล่มเก่าที่ไม่เห็นด้วย กระทั่งนายสาคร รุ่งเรือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯจึงเชิญกลุ่มผู้ใช้น้ำมาชี้แจง จนมีข้อตกลงว่าทางราษฎรจะขอใช้น้ำเพื่อการเกษตรก่อนและในวันที่ 1-10 มีนาคม ทางชลประทานฯจะปล่อยน้ำให้ปริมาณอ่างละ 10 ล้านลบ.เมตรรวม 10 วัน หลังจากนั้นจึงจะผันน้ำลงมาช่วยพื้นที่อ.เมืองฯในวันที่ 11-21 มีนาคมในปริมาณอ่างละ 1.5 ล้าน ลบ.เมตรรวม 10 วันเช่นเดียวกัน
นายเชษฐากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางผันน้ำให้มาตามคลองชลประทานซึ่งเป็นคอนกรีต แทนการผันน้ำผ่านทางคลองธรรมชาติ จะทำให้ลดการสูญเสียน้ำได้มาก ทำให้น้ำมาถึงจุดบรรจบที่ต.ท่าพลอย่างเต็มที่ ในขณะที่อ่างป่าเลาที่ต.ท่าพลจะปล่อยน้ำอีก 5 แสนลบ.เมตรมาสมทบ รวมปริมาณน้ำทั้ง 3 อ่างราว 3.5 ล้าน ลบ.เมตร โดยน้ำก้อนนี้ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็จะไปถึงหลังบริเวณวัดสนธิกร ซึ่งการประปาเพชรบูรณ์ร่วมกับทาง อบจ.เพชรบูรณ์ ตั้งเครื่องสูบน้ำรอไว้จะทำกสรสูบน้ำไปเก็บกักไว้ที่สระบริเวณหลังองค์พระใหญ่ โดยคาดการณ์ว่าจะสูบน้ำเก็บไว้ได้ราว 1 ล้าน ลบ.เมตร ทำให้ยืดระยะเวลาใช้น้ำไปได้ราว 3 เดือนหรือถึงราวเดือนกรกฎาคมนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- เดชอิศม์” เดินหน้าล้างอาถรรพ์ 13 ปี “ตึก OPD รพ.ตรัง” ทิ้งงาน-สร้างไม่เสร็จ
- DSI บุกทลายเหมืองบิทคอยน์ 10 จุด ในพื้นที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ลอบดัดแปลงหยอดกาวมิเตอร์ไฟ ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สูญเงินกว่า 20 ล้าน
- "ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ" พลังศรัทธาเหนือการท้าทาย
- ลำพูน ผบช.ภาค5 ลุยแจกข้าวกล่องปันน้ำใจช่วยชาวบ้าน ย้ำแกงค้ายาอย่าเหิมใช้ช่วงน้ำท่วมขนยา
“น้ำก้อนนี้จะถูกจ่ายไปที่หนองนารีเพื่อผลิตน้ำประปาจ่ายบริการให้แก่ราษฎรในเขตพื้นที่ตอนบนของเขตอ.เมืองฯ อีกส่วนจะถูกส่งไปที่จุดกรองน้ำอ่างป่าแดง เพื่อผลิตน้ำประปาจ่ายบริการให้แก่ราษฎรที่อยู่อาศัยในเขตอ.เมืองตอนล่าง ขณะเดียวกันก็จะลดการใช้น้ำจากอ่างป่าแดงลงจากเดิมวันละ 1.2 หมื่นลบ.เมตรเหลือราว 7,000 ลบ.เมตร เนื่องจากมีน้ำดิบจากหนองนารีมาชดเชย ฉะนั้นหากเป็นไปตามแผนปริมาณน้ำในอ่างป่าแดงแทนที่จะหมดในเดือนเมษายนนี้ก็จะยืดไปได้ถึงเดือนพฤษภาคม”ผอ.โครงการชลประทานเพชรบูรณ์กล่าว
นายเชษฐากล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ปัญหาในพื้นที่ตอนล่าง 4 อำเภอได้แก่ อ.หนองไผ่, อ.บึงสามพัน, อ.วิเชียรบุรี และ อ.ศรีเทพ ซึ่งเดิมทางการประปาทั้ง 4 อำเภอมีสระกักเก็บน้ำดิบไว้โดยคาดการณ์ว่า น้ำจะหมดในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และน้ำต้นทุนจริงๆสำหรับผลิตประปานั้นใช้จากแม่น้ำป่าสัก แต่ปัจจุบันแม่น้ำป่าสักเกิดภาวะน้ำแห้งขอด จึงมีแผนจะผันน้ำจากอ่างลำกงที่อ.หนองไผ่และอ่างห้วยเล็งจากอ.วิเชียรบุรีลงไปช่วย
นายเชษฐากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ปล่อยน้ำจากอ่างลำกงไปแล้ววันละ 2 แสน ลบ.เมตร โดยน้ำก้อนนี้เดินทางมาได้ราว 20 ก.ม.แล้ว และผ่านฝายนับ 10 ตัวซึ่งคาดการณ์ว่า เหลืออีก 20 วันน้ำจะเดินทางมาถึงจุดสูบน้ำของการประปาหนองไผ่ และเมื่อน้ำเต็มสระเก็บกักแล้วน้ำก้อนนี้ก็ลงไปที่อ.บึงสามพันระยะทางอีกราว 50 ก.ม. ซึ่งเป็นความหวังกันพอสมควร อย่างไรก็ตามสำหรับอ่างลำกงตามแผนจะปล่อยน้ำ 100 วัน
นายเชษฐากล่าวต่อว่า ส่วนอ่างห้วยเล็งที่วิเชียรบุรีปล่อยน้ำวันละ 6.5 หมื่นลบ.เมตร ในขณะที่ทางราษฏรต้องการน้ำวันละ 1 แสนลบ.เมตร แต่ปัญหาคือยังไม่สามารถควบคุมการลักลอบสูบน้ำได้ เกษตรกรเห็นน้ำก็แอบสูบเพื่อเตรียมทำนา ทำให้น้ำจะเดินทางไปไม่ถึงจุดสูบน้ำของประปาและจะทำให้มีปัญหาตามมา ตอนนี้ขอให้ทางอำเภอและท้องถิ่นไปทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่า น้ำที่ปล่อยน้ำไม่ใช่น้ำเพื่อเกษตรกรรม แต่เป็นน้ำที่จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคเพียงอย่างเดียว
“ระยะทางเดินน้ำจากอ่างห้วยเล็งราว 40 ก.ม.มีฝายทั้งหมด 22 ตัว และรายงานล่าสุดน้ำผ่านฝายตัวที่ 12 มาแล้ว เหลือฝายอีกราว 10 ตัวซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่ก็เป็นความหวังเดียวเพราะว่า ไม่มีทางจะผันน้ำจากแหล่งอื่นมาช่วยได้ ในขณะที่ทางเดืนน้ำจาก อ.วิเชียรบุรีไปอ.ศรีเทพระยะทางกงราว 50 ก.ม.เช่นเดียวกัน และน้ำต้องไปตามแม่น้ำป่าสักซึ่งกว้างพอสมควร ก็มีความพยายามจะช่วยเต็มที่ให้ถึงที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาไปถึงอ.ศรีเทพได้หรือไม่”นายเชษฐากล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: