X

ทีมธรณีวิทยาฯสำรวจแหล่งฟอสซิล 240 ล้านปีแห่งที่ 3 ที่บ้านวังปลาฯบึงสามพัน (มีคลิป)

เพชรบูรณ์-ทีมธรณีวิทยาฯสำรวจแหล่งฟอสซิล 240 ล้านปีแห่งที่ 3 ที่บ้านวังปลาฯบึงสามพัน ชาวบ้านสุดทึ่ง!หลังรับรู้โลกดึกดำบรรพ์เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์เกือบสิ้นโลก (มีคลิป)

วันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะทีมธรณีวิทยาเพชรบูรณ์ นำโดยนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ , นายภูเบศร์ สาขา นักธรณีวิทยาปฏิบัติการ กรมทรัพยากรธรณี, นายสุชิน อินทร์สา นักวิชาการและอดีตอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์คณะวิทยาศาสตร์ มรภ.เพชรบูรณ์ ลงพื้นที่สำรวจแหล่งฟอสซิลดึกดำบรรพ์แห่งที่ 3 ที่บ้านวังปลา ต.พญาวัง อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ เพื่อจัดเก็บข้อมูลใช้ประกอบการผลักดันจัดตั้ง“อุทยานธรณีวิทยาเพชรบูรณ์”(PHETCHABUN GEOPARK) และเตรียมข้อมูลสำหรับนำเสนอต่อยูเนสโก โดยมีกำนันผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครอง ในพื้นที่อ.บึงสามพันร่วมสำรวจด้วย

สำหรับซากฟอสซิลที่พบในแหล่งนี้เป็น “หอยตะเกียง” หรือ “Brachiopods” สัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วโดยมีรูปร่างคล้ายหอย ซึ่งพบอยู่ในชั้นหินทรายแดง-หินทรายสีเทาเหลือง คาดอยู่ในยุคเพอร์เมียนหรือยุคเดียวกับแหล่งฟอสซิลภูน้ำหยดและแหล่งฟอสซิลซับชมภูอายุราว 240-280 ล้านปี ทั้งนี้ทางทีมงานสำรวจยังชี้แจงให้ความรู้แก่คณะเจ้าหน้าที่และเหล่าผู้นำชุมชุมรวมทั้งชาวบ้านให้เข้าใจถึงคุณค่าฟอสซิลเหล่านี้ จนทำให้ทุกคนต่างรู้สึกทึ่งถึงความมหัศจรรย์ของการเกิดปรากฏการณ์โลกยุคดึกดำบรรพ์ในยุคเพอร์เมียน หลังจากโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนทำให้สิ่งมีชีวิตในยุค 240-280 ล้านปี เกิดการสูญพันธ์ช่วงปลายยุคซึ่งเป็นการสูญพันธ์ครั้งใหญ่ที่สุดที่พบบนโลก สิ่งมีชีวิตบนโลกได้สูญพันธ์ไปถึง 96-97 (ข้อมูลวิกิพีเดีย)

นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ กล่าวว่า สำหรับความสำคัญของฟอสซิลแหล่งนี้นอกจากอยู่ในชั้นหินทรายซึ่งบ่งบอกถึงการสภาพเดิมในบริเวณนี้ สันนิษฐานว่าจะเป็นพื้นที่บกหรือชายทะเล เมื่อไปเชื่อมต่อเป็นจิ๊กซอว์ร่วมกับแหล่งฟอสซิลซับชมภูซึ่งฟอสซิลอยู่ในชั้นหินปูน และแหล่งฟอสซิลภูน้ำหยดซึ่งมีฟอสซิลปะการังเป็นจำนวนมาก ทำให้พอจะมองภาพทางภูมิศาสตร์ในบริเวณนี้ได้ว่าเป็นชายทะเลและทะเลน้ำตื้นไปจนถึงก้นทะเลในปลายยุคเพอร์เมียน

“ฟอสซิลแหล่งนี้เคยมีการสำรวจไปแล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ต้องการลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติม และกระตุ้นให้เหล่าผู้นำชุมชนและชาวบ้านให้ตระหนักถึงคุณค่าและให้ช่วยกันดูแลรักษาไว้ โดยเฉพาะแหล่งฟอสซิลนี้ค่อนข้างอยู่ในที่เปลี่ยวและห่างไกลจากชุมชน ที่สำคัญยังไม่มีมาตรการดูแลจึงเกรงว่า จะมีผู้ค้าหรือนักสะสมฟอสซิลรวมทั้งบรรดากลุ่มทำเครื่องรางของขลังจะแอบมาโจรกรรมไป จึงจำเป็นต้องเชิญเหล่าผู้นำในท้องถิ่นและชาวบ้านให้มารับรู้รับทราบ รวมทั้งขอความร่วมมือให้ชาวบ้านได้ช่วยกันดูแลอีกด้วย”นายวิศัลย์กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน