X

เพิ่งตื่น! ถกเดือดลดเผาอ้อยใช้ยาแรง ออกประกาศห้ามเผา นายก ส.ชาวไร่อ้อยฯอ้างมี PM2.5 เกษตรกรอ้อยตกเป็นจำเลยสังคม โบ้ยควันไก่ย่างทำให้ค่าฝุ่นวิเชียรบุรีพุ่ง

เพชรบูรณ์เพิ่งตื่น! ถกเดือดลดเผาอ้อยใช้ยาแรง ออกประกาศห้ามเผา นายกส.ชาวไร่อ้อยฯอ้างมี PM2.5ทำให้เกษตรกรอ้อยตกเป็นจำเลยสังคม โบ้ยควันไก่ย่างทำให้ค่าฝุ่นวิเชียรบุรีพุ่ง ภาคปชช.คาใจมติกอน.ขัดแย้งกฎหมาย

วันที่ 24 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา มีการประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีนายสาคร รุ่งเรือง รองผู้ว่าฯเพชรบูรณ์เป็นประธาน ในขณะที่มีตัวแทนส่วนราชการและตัวแทนจากโรงงานน้ำตาลรวมทั้งจากสมาคมชาวไร่อ้อยในพื้นที่เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ในการประชุมมีการหารือถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในเขตพื้นที่ป่า และยังมีการหารือถึงมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อีกด้วย กระทั่งที่ประชุมมีมติให้ใช้ยาแรงโดยจะมีประกาศห้ามเผาทั้งในเขตพื้นที่ป่าและนอกพื้นที่ป่า

นายสมัย สมสุรินทร์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อย อ.บึงสามพัน กล่าวว่า อุตสากรรมอ้อยน้ำตาลมีมานานแล้วแบะมีแต่ทำเงินเข้าประเทศและไม่ได้ทำความเสียหาย แต่พอมี PM2.5 ขึ้นมาเกษตรกรอ้อยกลายเป็นจำเลยสังคม คิดว่าคงไม่เป็นธรรมเท่าไหร่ อย่างกรณีเครื่องวัดของทางสำนักงานสาธารณสุขที่ไปติดตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลวิเชียรบุรีจะขึ้นสูงในวันอาทิตย์ ซึ่งเพชรบูรณ์เป็นแหล่งท่องเที่ยว จะมาโทษที่อ้อยอย่างเดียวคงไม่ได้ ตรงนั้นมีไก่ย่างย่างมากที่สุด และเครื่องวัดก็อยู่ภายในอาคาร และนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมเกษตรกรที่ให้เปลี่ยนจากการปลูกข้าวช่วงราคาข้าวต่ำ เกษตรกรก็ย้ายมาปลูกอ้อยซึ่งการอ้อยจะอยู่ 5 ปีไม่สามารถจะเลิกได้

นายสมัยกล่าวว่า ทำไปแล้วจะทำอย่างไรโรงงานส่งเสริมไปแล้วต้องเอาคืน กสิกรทำไปแล้วแล้วไม่กัดจะทำอย่างไร เราก็เลยไปทำข้อต่อรองกับรัฐบาล จนสัดส่วนออกมาที่ 50:50 โรงงานไหนทำไม่ได้ก็จะถูกปรับ เราไม่ได้เพิกเฉยเราก็ยอมรับว่า ทำผิดก็พยายามหาทางแก้แต่จะให้แก้โดยเร็วคงไม่ได้ ก็พยายามทำทุกอย่างแล้ว ตอนนี้รัฐบาลก็ช่วยเยียวยาสนับสนุนให้อ้อยตัดมีมากขึ้น โดยอุดหนุนเงินมา 10,000 ล้านบาท และแบ่งให้อ้อยสดมา 3,500 ล้านบาท

“การปลูกอ้อยครั้งแรกเกษตรกรไม่เข้าใจไปปลูกให้ร่องติดทำให้รถเข้าไปตัดไม่ได้ แต่หลังจากปีนี้ไปจะเหลือน้อย อ้อยที่รถตัดไม่ได้ก็คงจะยุติไป ส่วนโรงงานที่ส่งเสริมก็ต้องเปลี่ยนแปลงวิธี อยากให้ผู้สื่อข่าวหรือหัวหน้าส่วนราชการที่ให้ข่าวอะไรไปที่เป็นผลกระทบ จะทำให้เกษตรกรหมดหนทางให้อยู่ได้ ผมได้พูดคุยในที่ประชุมก็แบบนี้แหละเราเหมือนเป็นจำเลยสังคมไปแล้ว เกษตรกรอ้อยจะไปไหนไม่ได้แล้ว ขนาดผมยังไม่อยากรายงานตัวเป็นนายกสมาคมฯเลย”นายสมัยกล่าว

ในขณะที่นายเวทิน พุ่มอินทร์ ทสจ.เพชรบูรณ์ชี้แจงว่า ไม่ได้ว่าเกษตรกรอ้อยเป็นจำเลย แต่ดูข้อเท็จจริงจากดาวเทียมจุดฮอตสปอตซึ่งตอนนี้เพชรบูรณ์เป็นอันดับ 1 เมื่อเช้าตื่นขึ้นมาก็เจอข่าวทุกช่องและมีการเอาภาพฝุ่นฟุ้งจากการเผาไร่อ้อยขึ้น ทำให้เพชรบูรณ์ชื่อเสียงเสียหายมาก ฮอตสปอตเมื่อวันที่ 21 ม.ค.มี 29 จุดและวันที่ 22 ม.ค 29 จุดมีตัวเลขหมด มองว่าหลังผู้ว่าลงนามในเขตห้ามเผาในเขตพื้นที่ป่าหากใครเผาต้องขออนุญาต ถ้าฝ่าฝืนมีความผิดอันดับแรกขัดคำสั่งทางเจ้าหน้าที่เชิญมาหากมีความเสียหายก็ต้องดำเนินคดีต่อไป

นายดุสิต จันทรกานต์ กล่าวชี้แจง ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารท้องที่เขต 22 สรุปตั้งแต่วันที่ 17-22 ม.ค.ครบ 1 สัปดาห์ โรงงานน้ำตาลที่ศรีเทพยังมีอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานเกินร้อยละ 50 จนทำให้นายสาครกล่าวว่า “แสดงว่ามาตรการไม่ได้ผล” นอกจากนี้นายดุสิตยังชี้แจงถึงข้อมูลอ้อยไฟไหม้ในจังหวัดข้างเคียง โดยอ้างข้อมูลเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ซึ่งโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศมี 57 แห่ง โดยมี 37 แห่งที่มีอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานเกินร้อยละ 50 โดยที่สุพรรณบุรีอยู่อันดับสุดท้ายมีอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานร้อยละ 75 ส่วนที่โรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองศรีเทพ เฉลี่ยที่ร้อยละ 62.01

ในขณะที่นายสาครให้ทางตัวแทนโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรมชี้แจง โดยสรุปทางตัวแทนโรงงานอ้างว่า หลังรับมาตรการจากที่ประชุมระดับจังหวัดไปแล้วได้พยายามส่งเสริมให้เกษตรกรตัดอ้อยสดให้มากขึ้นและมีการทำป้ายประชาสัมพันธ์ อีกส่วนเครื่องสางใบอ้อยมี 40 ตัวโรงงานสั่งเพิ่มอีก 10 ตัวแต่ต้องใช้ระยะเวลา 10-20 วัน คงต้องอาศัยภาครัฐช่วยโดยเฉพาะกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยสอดส่องเรื่องเผาอ้อย โดยไทยรุ่งเรืองร่วมตั้งเงินรางวัล 50,000 บาท สมาคมฯตั้งเงินรางวัลอีก 50,000 บาทรวม 100,000 บาท ให้กับผู้แจ้งเบาะแสการลักลอบเผาจนนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีได้ ส่วนอ้อยสดที่เข้าโรงงานแค่ร้อยละ 38 นั้น ทางโรงงานฯจะพยายามเพิ่มให้มากขึ้น

นอกจากนี้ตัวแทนโรงงานน้ำตาลฯกล่าวชี้แจงอีกว่า ในปีที่ผ่านมาค่อนข้างแล้งแต่เพชรบูรณ์อ้อยค่อนข้างสมบูรณ์กว่าทุกที่ ทำให้พ่อค้าจากจังหวัดอื่นส่งพ่อค้าเข้าแย่งซื้อในพื้นที่ ทำให้มีการเผาอ้อยเพิ่มเติม ทำให้ไปโดนพื้นที่ทางโรงงานส่งเสริมไว้ด้วย จึงมีความจำเป็นต้องรับอ้อยตรงนี้ไว้ ซึ่งนายสาครจึงกล่าวย้ำว่า โดยสรุปทางโรงงานฯทำไม่ได้ทางผู้ว่าฯจำเป็นต้องรายวานไปยังคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)เพื่อให้พิจารณาแก้ไขต่อไป

ในขณะที่นายปัณฑัต ปานเงิน แกนนำกลุ่มรักษ์บ้านเกิด แจ้งในที่ประชุมหลังยังติดใจในประเด็นมติคณะกรรมการอ้อยและนำตาลทราย(กอน.) ซึ่งออกมาให้รับอ้อยเผาจะกี่เปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่ โดยท้วงติงว่าการเผาผิดกฎหมายแต่มติออกมาขัดแย้งกับกฎหมายได้อย่างไรและใช้อำนาจอะไร จากนั้นยังระบุว่า พื้นที่ปลูกอ้อยของเพชรบูรณ์มีราว 6 แสนไร่ หากให้เกษตรกรเผาอ้อยได้ร้อยละ 50 ก็ตกราว 3 แสนไร่เพชรบูรณ์จะตกอยู่ในสภาพเช่นไร แต่ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีตัวแทนส่วนราชการสามารถชี้แจงให้เกิดความกระจ่างได้ นายสาครจึงแจ้งให้รายงานไปเช่นเดียวกัน

นายสาครกล่าวสรุปในการประชุมว่า เพื่อป้องกันการเผาให้เข้มข้นขึ้นในพื้นที่ป่าขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบให้ลงพื้นที่และทุกครั้งที่มีไฟให้จับพิกัดมา แต่หากเป็นที่ดินทำกินให้แจ้งความร้องทุกข์ หากมีหลักฐานเพียงพอก็ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีไป ส่วนพื้นที่นอกป่าให้ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยประกาศห้ามเผา และให้ฝ่ายปกครองร่วมกับเกษตรอำเภอลงพื้นที่ทุกครั้ง หากเจอผู้กระทำผิดให้ดำเนินคดีเช่นเดียวกัน หากไม่เจอให้หาพิกัดและเจ้าของไร่เพื่อไปร้องทุกข์กล่าวโทษ อยากให้มาตรการเข้มข้นขึ้นเพื่อจะได้เปลี่ยนใจผู้ที่มีศักยภาพแต่ไม่ยอมเปลี่ยน ไม่เช่นนั้นพฤติกรรมก็ยังเหมือนเดิมแก้กัน 10 ปีก็ไม่หาย

นอกจากนี้นายสาครยังหารือถึงการเข้มงวดกับรถบรรทุกอ้อยเผา และให้แจ้งร่วมกระทำผิดเพื่อเป็นแนวทางสอบสวนหาผู้กระทำผิด ในขณะที่นายสมัยยกประเด็นการขออนุญาตเผาทำได้หรือไม่และใครจะเป็นผู้อนุญาตขึ้นสอบถาม โดยที่นายนพดล คำนึงเนตร ปภ.จังหวัดฯชี้แจงว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยนายกอบต.เป็นเจ้าพนักงานเป็นผู้ประกาศ

 

ในขณะที่นายสมัยโต้แย้งว่า หากนายกอบต.ไม่อนุญาตให้เผาเกษตรกรไม่เอาน้ำมาราดหน้าอบต.หรือ คิดให้ดีก่อนเพราะตนก็เป็นนายกอบต.ด้วย หากไม่ให้เผาเกษตรกรก็ตัดอ้อยไม่ได้จะทำอย่างไร และล่อแหลมหากไม่อนุญาตก็ผิด หากเผาแล้วจับพวกตนก็ไม่ต้องลงสมัครนายกฯทำยากมาก จากนั้นโยนให้ทางกำนันผู้ใหญ่บ้านออกประกาศแทนโดยอ้างว่าอยู่ในอำนาจถึงอายุ 60 ปี ซึ่งนายสาครและตัวแทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดโต้แย้งว่า เป็นพ.ร.บ.หรือกฎหมายที่กำหนดให้ท้องถิ่นต้องเป็นผู้ประกาศ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน