X

“วิศัลย์”ตกใจ! ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งปรี๊ด ซัด รง.น้ำตาลอย่าเอาแต่กอบโกย

เพชรบูรณ์-“วิศัลย์”ตกใจ! ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งปรี๊ด ซัดรง.น้ำตาลอย่าเอาแต่กอบโกย ให้จัดหารถตัดอ้อย-คุมไม่ได้ลดพื้นที่เพาะปลูก ติดตั้งเครื่องวัดสภาพอากาศในอำเภอที่สุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุม

วันที่ 15 มกราคม นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ และแกนนำกลุ่มคนเพชรบูรณ์ไม่เอาเหมืองแร่ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์เปิดข้อมูลเรื่องค่าฝุ่น PM2.5 ที่อ.เมืองฯและอ.วิเชียรบุรี พุ่งสูงปรี๊ดเกินมาตรฐาน และเริ่มมีผลต่อสุขภาพของประชาชนว่า  เป็นที่น่าตกใจและเป็นที่ยืนยันชัดเจนว่าการเผาไร่อ้อยสร้างความเดือดร้อนในภาพรวมให้กับชาวเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะเศรษฐกิจเพชรบูรณ์เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว และเมืองเกษตรปลอดภัย ซึ่งฤดูเผาไร่อ้อยและการเปิดหีบอ้อยก็จะมาทำในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวพอดี จึงเป็นการทำลายเศรษฐกิจของเพชรบูรณ์ ฉะนั้นใครที่นิ่งเฉยคิดว่าไม่เห็นผลกระทบก็จะเห็นตัวอย่างค่อนข้างชัดเจน

นายวิศัลย์กล่าวว่า การทำโรงงานน้ำตาลหรือไร่อ้อยที่มีผลตามกันมา ไม่ใช่ปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของสารพิษตกค้างในดิน เรื่องอุบัติเหตุบนถนนอันเกิดจากรถบรรทุกอ้อยหรือเศษอ้อยร่วงหล่นบนท้องถนน ปัญหาถนนได้รับความเสียหายจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน และยังมีปัญหาเรื่องมลภาวะเป็นพิษจากโรงงานน้ำตาล รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสังคมซึ่งเป็นผลกระทบที่ตามมาอย่างมากมายแน่นอน ในมุมมองของตนจึงแบ่งออกเป็น 2 กรณี กรณีแรกซึ่งเพชรบูรณ์เป็นเมืองพิเศษและเป็นเมืองท่องเที่ยว,เกษตรปลอดภัย ไม่ควรจะให้มีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีกแล้ว โดยเฉพาะในโซนเหนือซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ โซนเกษตรปลอดภัยและโซนการท่องเที่ยว ซึ่งไม่น่าจะมีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นอีก

นายวิศัลย์กล่าวว่า ส่วนโรงงานน้ำตาลที่อ.ศรีเทพและอ.บึงสามพัน เนื่องจากมีเกษตรกรปลูกอ้อยแล้วและโรงงานก็ก่อตั้งเรียบร้อยแล้ว วิธีการแก้ไขจะต้องมีมาตรการบังคับให้โรงงานน้ำตาลจัดหารถตัดอ้อย ไม่ใช่ผลักหรือโยนปัญหาไปให้ทางเกษตรกร ซึ่งโรงงานน้ำตาลลงทุนเป็นพันๆล้านมีผลประโยชน์ทุกปี กอบโกยกำไรมากมายจนสร้างความร่ำรวยให้ผู้ลงทุน แต่กลับโยนปัญหาเรื่องตัดอ้อยเผาอ้อยไปให้กับเกษตรกร ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีกำลังที่จะไปซื้อรถตัดอ้อย ฉะนั้นจึงต้องเป็นภาระของทางโรงงานน้ำตาลที่จะต้องจัดหารถตัดอ้อยให้เพียงพอต่อจำนวนลูกไร่ของทางโรงงานฯ มิฉะนั้นก็จะเปิดดำเนินการไม่ได้ และหากไม่มีรถตัดอ้อยเพียงพอต่อเกษตรกรที่ปลูกอ้อยป้อนให้กับทางโรงงาน ก็ต้องลดปริมาณและลดพื้นที่การเพาะปลูกลงไป

“นอกจากนี้เท่าที่ทราบเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพอากาศ PM 2.5 ในเพชรบูรณ์มีเพียงแค่ 2 เครื่อง 2 จุดเท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าตกใจมาก ถ้าหากว่าทางหน่วยราชการหรือทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มเครื่องมือตรวจจับสภาพอากาศ โดยเฉพาะในอำเภอที่สุ่มเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศ คิดว่าเราน่าจะได้ข้อมูลที่ดีกว่านี้ มีการวางแผนแก้ไขปัญหาได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งสามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุได้ว่า ปัญหาฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐาน PM 2.5 มาจากทิศทางใด และจะแก้ไขให้ถูกแนวทางได้อย่างไร”ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯกล่าวย้ำ

นายวิศัลย์กล่าวอีกว่า ส่วนที่มั่นใจว่าการเผาไร่อ้อยเป็นปัจจัยหลักทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งขึ้นสูงปรี๊ดขนาดนี้ เพราะเพชรบูรณ์ในอดีตไม่เคยมีผลกระทบจากค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานขนาดนี้ โดยเฉพาะการเผาเพื่อเตรียมแปลงเพาะปลูกการเกษตรในเพชรบูรณ์ก็มีมานานแล้ว แต่ไม่ได้เดือดร้อนหรือกระทบต่อวีถีชีวิตของผู้คนหรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญและมีผลต่อสุขภาพชองประชาชนกระจายเป็นวงกว้างมากมายขนาดนี้  แต่ขณะนี้ทุกคนต่างก็เห็นกับตาว่ามีการเผาไร่อ้อยกันทุกหัวระแหง จนแลเห็นท้องฟ้ามีสีแดงฉานเต็มไปหมด ฉะนั้นจึงฟันธงได้ว่าปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานขนาดนี้มาจากเรื่องการเผาไร่อ้อยเป็นปัจจัยหลักอย่างแน่นอน

“ยิ่งเวลานี้เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพของชาวเพชรบูรณ์เป็นเรื่องที่น่าห่วงกังวลอย่างยิ่ง โดยวิสัยทัศน์คำที่ว่าเพชรบูรณ์ดินแดนแห่งความสุขของคนอยู่และผู้มาเยือนหรือเพชรบูรณ์เมืองอยู่สบาย รวมถึงทิศทางการพัฒนาของจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่จะเป็นเมืองที่น่าอยู่จะเปลี่ยนแปลงไปทันที สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดก็มีตัวอย่างให้เห็นในหลายจังหวัดที่มีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ ว่าเป็นปัญหาเดิมๆ ซ้ำซากแก้ไขไม่ได้ เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเพชรบูรณ์ก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นและได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพและปัญหาเรื่องของระบบทางเดินหายใจ ขณะเดียวกันทางรัฐบาลก็ต้องสูญเสียและทุ่มเทงบประมาณเพื่อจะมาดูแลรักษาสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ห่วงที่สุด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน