X
กากอิเล็กทรอนิกส์

รอง ผบ.ตร.ลงพื้นที่ดำเนินคดี รง.หลอมแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์

ฉะเชิงเทรา – รอง ผบ.ตร.ลงพื้นที่ตรวจดำเนินคดีโรงงานหลอมคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ หลังชาวบ้านร้องเรียนผลกระทบ ตรวจสอบพบแรงงานกว่า 262 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย ทั้งยังกระทำความผิด พ.ร.บ.โรงงาน ที่นำขยะรีไซเคิลมาวางกองไว้ยังภายนอกตัวอาคารเป็นจำนวนมาก ก่อนสั่งปิดให้ทำการปรับปรุงเป็นเวลา 30 วันพร้อมดำเนินคดีในหลายข้อหาหนัก

วันที่ 22 พ.ค.61 เวลา 09.30 น. พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. พร้อมกำลัง จนท.ตำรวจและเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 100 นาย ได้เดินทางลงพื้นที่นำกำลังเข้าจู่โจมตรวจสอบภายโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 33 ม.12 ต.แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ริมเส้นทางภายในหมู่บ้านหนองหอย ห่างจากด้านหลังของนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ ทางทิศใต้มาประมาณ 800 เมตร

หลังการตรวจสอบพบแรงงานต่างด้าวจำนวนกว่า 251 คน มีทั้งสัญชาติเมียนม่า กัมพูชา ลาว และมีคนไทย 11 คน รวม 262 กำลังทำงานคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ และหลอมละลายตะกั่วเพื่อถอดคัดแยกอุปกรณ์ออกจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้สั่งให้หยุดเครื่องจักรและยุติการทำงานลง จากนั้นจึงได้นำคนงานออกมาทำการเจาะตรวจเลือด และเก็บตัวอย่างปัสสาวะ เพื่อส่งไปตรวจหาสารโลหะหนักในกระแสเลือดของคนงานที่กำลังทำงานอยู่ว่าเกินกว่าค่ามาตรฐานหรือไม่

พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา

ก่อนที่จะทำการตรวจสอบเอกสารขอดูใบอนุญาตในการก่อตั้งโรงงาน และเอกสารเกี่ยวกับการจ้างงานแรงงานต่างด้าว ซึ่งพบว่ามีแรงงานต่างด้าวบางส่วนนั้นเข้ามาทำงานโดยไม่ถูกต้อง และการดำเนินการนำเข้าเศษขยะกากอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีที่มาอย่างชัดเจน โดยโรงงานแห่งนี้มีใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท 105 และ106 ที่สามารถทำการคัดแยกขยะของเหลือใช้และหลอมโลหะได้ แต่การจัดเก็บกากขยะอุตสาหกรรมภายในโรงงานนั้นทำอย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการนำมากองทิ้งไว้กลางแจ้งยังภายนอกตัวอาคารเป็นจำนวนมาก

หลังการตรวจสอบในเวลา 13.00 น. พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบโรงงานแห่งนี้ได้มี นายเหยา (YAO) อายุ 40 ปี ชาวจีนรับเป็นผู้จัดการโรงงาน โดยมีนายจี้หยิน อายุ 62 ปี ชาวฮ่องกง เป็นเจ้าของซึ่งอยู่ในต่างประเทศ แต่ได้แอบลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นขยะต้องห้ามที่ในหลายประเทศไม่อนุญาตให้นำเข้าประเทศของตนเอง นำเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านทางหลายช่องทางหลายบริษัท ซึ่งจะมีการตรวจสอบที่มาต่อไป

นำกำลังบุกค้นโรงงาน

สำหรับโรงงานแห่งนี้ได้เคยถูกเพลิงไหม้ที่บริเวณเตาหลอมโลหะ (ตะกั่ว) ที่มีการติดตั้งไว้ที่บริเวณด้านหลังจำนวน 22 เตาเผา มาแล้วเมื่อวันที่ 23 มี.ค.61 ที่ผ่านมา จนเกิดมลพิษรั่วไหลออกไปโดยรอบโรงงานและมีชาวบ้านร้องเรียนเข้าไปยังหน่วยงานของทหาร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย จึงได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพร้อมกระทรวงทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ผนึกกำลังกันร่วมปฏิบัติการกวาดล้างกิจการทำลายชาติครั้งใหญ่นี้ขึ้น

ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว มีสารโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว สารปรอท แคดเมียม ซึ่งเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ ทำลายระบบเลือด และก่อมะเร็ง ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้สั่งให้โรงงานแห่งนี้ปิดการดำเนินการในวันนี้ เพื่อทำการปรับปรุงจัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ภายนอกตัวอาคารให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน พร้อมยังได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า

บุกโรงงานรีไซด์เคิ้ล

นำเข้ามาซึ่งวัตถุดิบอันตรายชนิดที่ 3 คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาที่ 2 คือ สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ชุมชน ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข ม.25 และ 28/1 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท ข้อหาที่ 3 ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับแจ้ง ตามพ.ร.บ.โรงงาน 2535 ม.13 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

นอกจากนี้การกองขยะอันตรายกลางแจ้งนั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสียมลพิษหรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการของโรงงาน คือ การเก็บขยะนอกโรงงาน อันเป็นความผิดตามมาตรา 8 (5) พ.ร.บ.โรงงาน มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท

กองทิ้งไว้ด้านนอก

ส่วนข้อหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวนั้น กล่าวหาว่า ให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดตาม ม.54 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ที่พักพิงช่วยเหลือซ่อนเร้นคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รับคนงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน เป็นความผิดตามมาตรา 27 พ.ร.บ.การทำงานของแรงงานต่างด้าว มีโทษปรับ 10,000 – 100,000 บาท ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาทั้งหมดที่แจ้งแก่โรงงานแห่งนี้ พล.ต.อ.วิระชัย กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน