X

กำนันเขาดิน ยกทัพบุกอำเภอ ขนชาวบ้านเสวนาหนุนพื้นที่พัฒนาพิเศษ

กำนันเขาดิน นำทัพชาวบ้านบุกศูนย์กลางอำเภอ จัดเวทีเสวนาแสดงจุดยืนความต้องการให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ ตามแผน อีอีซี พร้อมเชิญหลายภาคส่วนเข้าร่วมวง ขณะคนพื้นที่ข้างเคียงแห่ร่วมรับฟัง พร้อมร้องขอให้ผู้พัฒนาร่วมทำเอ็มโอยู รับคนในพื้นที่เข้าทำงานเป็นลำดับแรกก่อนพิจาณารับคนไกล หวั่นซ้ำรอยโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่เมินรับคนท้องถิ่นเข้าทำงานจริงในภายหลัง

 วันที่ 27 ส.ค.62 เวลา 09.00-13.30 น. ที่หอประชุมที่ว่าการ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีชาวบ้านจำนวนกว่า 400 คน นำโดย นายโชคป์ทวีท์ อ้นถาวร กำนัน ต.เขาดิน พร้อมชาวบ้านพื้นที่ข้างเคียงเดินทางมาร่วมกันจัดเวทีเสวนา “วิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม กับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ต.เขาดิน ให้เป็นไปตามแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออกตามนโยบายของรัฐบาล

หลังจากยังมีนักเคลื่อนไหวนอกพื้นที่ และนายหน้าผู้ปล่อยเช่าช่วงที่ดินในพื้นที่ ผู้เสียประโยชน์จากโครงการฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศใช้ผังเมืองอีอีซี ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ โดยในเวทีการเสวนาได้มีการเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงาน EEC-HDC มาพูดคุยเสวนาถึงความเป็นมาของโครงการอีอีซีและความจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) เพื่อเดินหน้าพัฒนาประเทศ และการพัฒนาคนรองรับ

โดยนายประโยชน์ โสรัจจกิจ ประธานหอการค้า จ.ฉะเชิงเทรา ได้เดินทางมาร่วมเสวนาและพูดถึง ประโยชน์ที่ชาว จ.ฉะเชิงเทรา จะได้รับจากการพัฒนาพื้นที่ตามโครงการอีอีซี โดยระบุถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะชาว ต.เขาดิน เท่านั้น แต่จะเกิดประโยชน์ต่อคนทั้งจังหวัดตลอดจนคนทั้งประเทศ โดยกล่าวถึงความเหมาะสมของ จ.ฉะเชิงเทราว่า มียุทธศาสตร์ความเหมาะสมที่พร้อมจะเดินหน้ารองรับการพัฒนา

เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งที่มีภูมิประเทศที่ดีที่สุดของประเทศ และมีค่าจีดีพี อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาค และเป็นอันดับ 5 ของประเทศ โดยมีองค์ประกอบ 3 อย่างที่จะต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกัน ทั้งเกษตรกรรม พาณิชย์กรรม และอุตสาหกรรม เพื่อให้มีอาชีพที่หลากหลายจึงเป็นสิ่งที่ต้องนำมาทบทวน

เนื่องจากในภาคเกษตรนั้น หากมีการผลิตมากก็จะส่งผลทำให้ราคาตกต่ำ หากผลิตน้อยราคาก็จะแพงขึ้น จึงไม่มีความมั่นคงแน่นอนในชีวิตความเป็นอยู่ของคนใน จ.ฉะเชิงเทรา ส่งผลทำให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ล้าหลังกว่าในกลุ่ม 3 จังหวัดอีอีซี

ขณะที่ นายนิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ได้มาร่วมพูดคุยถึงการพัฒนาทางด้านการศึกษา ในการเตรียมพัฒนาคนหรือบุคลากร เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อขจัดปัญหาการว่างงาน และยกระดับรายได้ของวิชาชีพ ตลอดจนความร่วมมือของผู้ประกอบการในการให้ทุนสนับสนุนการผลิตบุคคลากรโดยที่ผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและมีรายได้ระหว่างเรียน เมื่อเรียนจบมีงานมารองรับในทัน

นอกจากนี้ยังมี จ่าเอกวัฒนชัย บุญมานะ นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่น จ.ฉะเชิงเทรา ประธานชมรมปลัด อบต.ฉะเชิงเทรา นายสุทธา เหมสถล ประธานเครือข่ายคนรักถิ่นบ้านฉาง จ.ระยอง ได้นำตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ใน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง มานำเสนอเปรียบเทียบถึงผลดีผลเสียที่เกิดขึ้น จนทำให้ปัจจุบัน อ.บ้านฉาง กลายเป็นบ้านฉางสมาร์ทซิตี้ ให้แก่ชาว จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับฟังถึงความเจริญก้าวหน้าของพื้นที่อย่างเป็นระบบ

จนกลายเป็นเมืองน่าอยู่ที่สมบูรณ์แบบ จากการวางรากฐานการพัฒนาพื้นที่ไว้ก่อนล่วงหน้า จนกลายเป็นเมืองตัวอย่างที่ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ก่อนที่จะถูกประกาศให้เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษตามโครงการของรัฐบาล ในขณะที่การเข้ามาพัฒนาพื้นที่ในภาคอุตสาหกรรมนั้น ยังได้มีการทำข้อตกลงในการตรวจสอบติดตามผู้ประกอบการจากการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วยหน่วยงานราชการ ชาวบ้าน และผู้ประกอบการ เพื่อตรวจสอบสภาพแวดล้อม เช่น น้ำหรือมลภาวะ ตลอดจนปัญหาอื่นๆ และการดำเนินการด้านต่างๆ

ส่วนนายวิเชษฐ์ เกตุแก้ว ตัวแทนชุมชนพื้นที่ข้างเคียง ต.เขาดิน ซึ่งเดินทางมาจาก อ.พานทอง จ.ชลบุรี ได้พูดถึงวิถีชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอย่างต่อเนื่องของพื้นที่ อ.บางปะกง และ อ.พานทอง หลังจากมีถนนมอเตอร์เวย์ตัดผ่าน และช่องทางการสร้างรายได้ของคนในชุมชนที่ต้องปรับตัว ด้วยการพัฒนาสินค้าดั้งเดิมของชุมชนให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทันสมัย โดยต้องการได้รับการส่งเสริมจากผู้ประกอบการที่เข้ามาอยู่ร่วมในพื้นที่

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ (ลูกกุ้ง) อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ปรึกษาสมาคมกุ้งตะวันออกไทย อดีตนักเคลื่อนไหวต่อต้านการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.เมือง จ.ชลบุรี ได้มาแสดงความคิดเห็นถึงการเลือกอนาคตของคนเขาดินเอง ที่ชาวบ้านและผู้ประกอบการจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายจากการพัฒนาพื้นที่

น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ผู้บริหารโครงการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม บลูเทค ซิตี้ ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่เขาดิน ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่สะอาด โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของคนพื้นที่ ตลอดจนการช่วยเหลือดูแลชาวบ้านดั้งเดิมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยระบุว่าทางโครงการฯ ยินดีรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านมาโดยตลอด และขอความเป็นธรรมจากชาวบ้านและคนในสังคม ให้ช่วยสนับสนุนโครงการหลังจากมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวนอกพื้นที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน

ขณะที่นายวิวัฒน์ โฆษิตสกุล ที่ปรึกษาโครงการบลูเทคซิตี้ กล่าวถึงโรงงานและผลิตภัณฑ์ที่จะเข้ามาดำเนินกิจการในพื้นที่ ต.เขาดิน นั้นว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สะอาดด้วยเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ตามนโยบายอุตสาหกรรมยุค 4.0 ของรัฐบาล ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ออกมาสู่ชุมชนข้างเคียงจนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างใกล้ชิด

ตลอดจนความสนใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน สร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีมูลค่าของการลงทุนนับแสนล้านบาท และยังจะมีการพัฒนาทางด้านการศึกษาให้แก่คนในพื้นที่ ด้วยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ในการผลิตบุคคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพของแรงงาน ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้จากค่าแรงงานที่สูงขึ้นตามความสามารถที่ได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นอีกด้วย

โดยบรรยากาศในการเสวนา ได้มีผู้เข้าร่วมรับฟังต่างสนใจแสดงความคิดเห็นจำนวนหลายราย โดยส่วนใหญ่มีความคิดเห็นในทิศทางสนับสนุนโครงการ และอยากให้โครงการเกิดขึ้นโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ได้มี นายบำรุง ประวงษ์ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 80/3 ม.14 ต.บางปะกง ได้แสดงความเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับคำสัญญาจากผู้ประกอบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับปากไว้ว่าจะพิจารณารับคนในพื้นที่เข้าทำงานก่อนเป็นลำดับแรกนั้น ว่าอาจจะไม่เป็นไปตามคำพูดที่ได้เคยรับปากไว้ เหมือนกับโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในพื้นที่

ซึ่งเคยเข้ามาก่อตั้งเมื่อหลายสิบปีก่อน ว่าจะพิจารณารับคนในพื้นที่เข้าทำงานก่อนเป็นลำดับแรก แต่ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจนคนในพื้นที่จริงๆ ไม่ได้เข้าทำงานในโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นไปตามคำสัญญาที่พูดไว้ในยุคสมัยนั้น จึงต้องการให้มีการทำเป็นข้อตกลง หรือสัญญาแบบเป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยการลงนามเอ็มโอยูร่วมกันไว้เป็นหลักฐาน

ซึ่งทาง น.ส.กุลพรภัสร์ ผู้ก่อตั้งโครงการ บลูเทค ซิตี้ ได้รับปากว่า ยินดีที่จะมีการดำเนินการ ทำเอ็มโอยูดังกล่าวไว้ ซึ่งจะได้ร่วมกันกับผู้นำชุมชน และผู้เกี่ยวข้องในการร่างสัญญาความร่วมมือดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันไว้ในอนาคตต่อไป

ขณะนายโชคป์ทวีท์ กล่าวว่า อยากให้คนที่คิดต่างที่ออกไปเคลื่อนไหว ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานนั้น ได้เอาข้อจริงมาพูดคุยกันมากกว่าข้อเท็จ ว่าคุณต้องการอะไร อย่าไปสร้างกระแสเพื่อหลอกลวงชาวบ้าน และทำให้ประเทศชาติเสียหาย หากมีเวลาก็อยากให้นัดมาพูดคุยถึงข้อจริงกันดีกว่าข้อเท็จ ว่าคุณต้องการอะไรอย่าทำให้บ้านเมืองเสียหายอีกเลย นายโชคป์ทวีท์ กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน