X
ช่วยกันดูแลพื้นที่

ชาวหนองตีนนก ผวาอีอีซี จัดเวรยามสอดส่องเฝ้าพื้นที่ตลอด 24 ชม.

ฉะเชิงเทรา – ชาวหนองตีนนก ผวาหนักโครงการอีอีซี หวั่น สนข.ส่งคนเข้าพื้นที่ล่ารายชื่อชาวบ้านช่วยหนุนสร้างท่าเรือบก พร้อมรวมตัวจัดเวรยามสอดส่องเฝ้าระวังพื้นที่ตลอดเวลา โดยคอยติดตามตรวจตราและเข้าซักถามข้อมูลจากผู้คนแปลกหน้าที่ขับรถเข้ามายังภายในหมู่บ้านทันที

วันที่ 27 ม.ค.62 เวลา 14.30 น. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่โครงการก่อสร้างท่าเรือบก (ICD) ยังในพื้นที่หมู่ที่ 4 ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา หลังมีชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการก่อสร้าง และร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนมีการเคลื่อนไหวนำมวลชนไปปิดประตูเวทีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการฯ ยังที่หอประชุมที่ว่าการ อ.บ้านโพธิ์ เมื่อวานนี้

ชาวหนองตีนนกผวา

ปรากฏว่า ขณะที่ผู้สื่อข่าวกำลังทำการสำรวจและถ่ายภาพภายในบริเวณหมู่บ้าน ได้มีกลุ่มชาวบ้านนำโดย นายประสาท อินม่วง รองนายก อบต.หนองตีนนก นายอำนวย สุวินัย ประธานสภา อบต.หนองตีนนก และชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ติดตามเข้ามาสอบถามและตรวจสอบทีมงานผู้สื่อข่าวถึงการเข้ามาเดินสำรวจถ่ายภาพในหมู่บ้านในครั้งนี้ ว่า เข้ามามีวัตถุประสงค์อะไรและเป็นใครมาจากไหน

คอยตรวจตราหมู่บ้าน

โดยนางแน่งน้อย เรืองเกิด อายุ 58 ปีอยู่บ้านเลขที่ 29/3 ม.4 ต.หนองตีนนก กล่าวว่า ที่ต้องมีการเฝ้าระวังพื้นที่กันเองอย่างเข้มงวดลักษณะนี้ เนื่องจากชาวบ้านต่างสับสนและยังไม่มีความชัดเจนในหลายๆ โครงการที่กำลังจะเข้ามาในหมู่บ้าน โดยเฉพาะการหวั่นเกรงว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) จะแอบเข้ามาลักไก่ล่ารายชื่อผู้สนับสนุน

เฝ้าระวังพื้นที่

เพื่อเอาไปส่งทำรายงานได้ จะทำให้การเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวบ้านนั้นจะไม่สามารถที่จะยับยั้งโครงการท่าเรือบกได้ ทุกคนจึงยังไม่วางใจและชาวบ้านยังไม่ทราบว่าจะมีอะไรเข้ามาในหมู่บ้านเราอีกบ้าง เช่น กรณีการเข้ามาขุดเจาะสำรวจพื้นที่ชั้นดินของ สนข.โดยพละการ การเข้ามารังวัดพื้นที่โดยที่ไม่ได้มีการแจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบมาก่อน

มาสำรวจไม่บอกชาวบ้าน

พวกเราชาว ม.4 เป็นหมู่บ้านที่เสียพื้นที่ทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่การทำกิน ฉะนั้นพวกเราจึงต้องเฝ้าดูแลและหวงแหนพื้นที่ของเราไว้ เพราะยังไม่รู้ว่าใครจะเข้ามายังไง และมาทำอะไรกัน หากมีความผิดปกติ คนแปลกหน้าหรือใครเข้ามาในพื้นที่ ก็จะมีการประสานถึงกันเพื่อเข้ามาตรวจสอบ และหาทางว่าจะแก้ไขกันอย่างไร ขณะนี้ต้องช่วยกันและปรึกษากันโดยตลอดในการตัดสินใจ

ผวาคนเข้ามาแอบทำโครงการท่าเรือบกในพื้นที่

ที่ชาวบ้านต้องหวั่นวิตกกันขนาดนี้เพราะว่าบ้านจะไม่มีอยู่กันแล้ว นี่คือผลจากการที่โครงการ ICD จะลงในพื้นที่ ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่เป็นอันทำมาหากินกันแล้ว เพราะหวั่นเกรงจะเสียทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำกินที่คาดว่าจะต้องเสียอย่างแน่นอนในพื้นที่ ม.4

มีการเข้ามาขุดเจาะสำรวจดิน

ซึ่งความผูกพันของคนในพื้นที่นั้น เราเกิดกันอยู่ที่นี่ดั้งเดิม ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ โดยอยู่อาศัยกันมาเป็นแบบครอบครัว แบบบ้านพี่เมืองน้องที่มีการนับหน้าถือตากันภายในหมู่บ้าน ทิ้งบ้านไว้ก็ยังมีคนคอยเฝ้าดูแลให้ ในหมู่บ้านจึงไม่มีอาชญากรรมร้ายแรง ไม่มีโจรขโมยหรือการลักทรัพย์กันมาก่อน เราอยู่กันอย่างมีความสุขทุกครัวเรือนพวกเราอยากดำรงความสุขอันนี้ไว้

ทำกินมานาน

ไม่ใช่ลักษณะของสังคมเมือง ที่บ้านหลังคาชนกันแต่ก็ยังไม่รู้จักกัน จึงมีความผูกพันตรงนี้ที่เรามีกันอยู่ สำหรับสังคมคนในหมู่บ้าน ทั้งต่อพื้นที่ต่อบุคคลต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอยู่กันมาแบบสังคมไทยดั้งเดิม พวกเราจึงไม่อยากละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกเรา

พื้นที่เกษตรกรรม

ซึ่งหากมีโครงการท่าเรือบกเข้ามาในพื้นที่ชาวบ้านก็จะแตกกระจายกันไปและก็ยังไม่รู้ว่าพวกเราจะไปอยู่กันที่ไหนเพราะยังไม่มีความชัดเจนหรือความคืบหน้าอะไรจากทางโครงการ และเราจะรวมกันอยู่แบบสังคมญาติพี่น้องได้เหมือนเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ ม.4 นั้นมีจำนวนทั้งหมด 110 ครอบครัว นางแน่งน้อย กล่าว

หวั่นเสียที่ดินทำกิน

ด้านนายประสาท อินม่วง รองนายก อบต.หนองตีนนก กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังเกิดความไม่สบายใจของชาวบ้านต่อโครงการดังกล่าวได้ทำหนังสือยื่นไปถึงยังทางสำนักงานเลขาโครงการ อีอีซี แล้ว ส่วนการเฝ้าระวังหมู่บ้านของชาวบ้านที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพียงการเข้าไปสอบถามข้อมูลจากผู้ที่เข้ามายังภายในหมู่บ้านเท่านั้น ว่าเข้ามาทำอะไรในพื้นที่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นใครแปลกหน้าหรือมีรถยนต์แปลกๆ ขับเข้ามาในพื้นที่

หวั่นเสียพื้นที่ทำกิน

เช่น การมาถ่ายภาพมาส่องกล้องในพื้นที่ ก็จะมีการโทรศัพท์บอกกันเป็นเครือข่าย เพราะชาวบ้านมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ตลอด ที่ผลประโยชน์จากโครงการท่าเรือบกนั้นไม่ได้ตกอยู่ที่ชาวบ้าน แต่ผลกระทบในด้านต่างๆ จะมาตกถึงยังชาวบ้าน เช่น ผลกระทบจากสภาวะสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อที่อยู่ที่กินที่อาศัยของชาวบ้าน ที่เคยอยู่กันมาตั้งแต่เกิด ตั้งแต่บรรพบุรุษก็อยู่กันมาบนผืนแผ่นดินนี้

บ่อเลี้ยงกุ้ง

โดยอาชีพของคนในตำบลนี้ ถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดแหล่งใหญ่ ทั้งปลาเบญจพรรณ เช่น ปลานิล ปลาจิตลดา ปลาตะเพียน ปลาสวาย ปลาดุก และบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา รวมพื้นที่ทั้งหมดในตำบลนี้ประมาณ 9 พันกว่าไร่ โดยมีพื้นที่ที่ทาง สนข.ต้องการนำไปใช้ทำโครงการท่าเรือบกเบื้องต้นใน ม.4 จำนวน 650 ไร่ถึง 950 ไร่ นายประสาท กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน