X
สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน

สร้างป่าให้ปูทะเลด้วยทุ่งสมุนไพร แนวคิดใหม่จากอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม

ฉะเชิงเทรา – สร้างป่าให้ปูทะเลอยู่ ด้วยทุ่งสมุนไพรชายเลน แนวคิดใหม่จากอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอบแทนคุณคนรอบข้าง ตามคำมั่นที่เคยให้ไว้ก่อนการปักหมุดก่อตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้ พร้อมต่อยอดจับมือร่วมกับสถาบันการศึกษา เข้ามาส่งเสริมช่วยพัฒนาให้เป็นสินค้าชั้นนำประจำถิ่น ถือเป็นแนวทางการสร้างมูลค่าให้แก่อาชีพดั้งเดิมยังคงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของตำบลคนเขาดิน ได้ก้าวไปสู่ระดับมาตรฐานสากลควบคู่กับความยั่งยืนแห่งอาชีพในอนาคต

เพิ่มมูลค่าสมุนไพรในชุมชน

ทุ่งสมุนไพรในป่าชายเลนริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ที่ผุดให้ขึ้นมาโดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในพื้นที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการอนุรักษ์สร้างสมดุลให้แก่สภาพแวดล้อม เลียบแนวป่าชายเลนริมฝั่งลำน้ำบางปะกงให้กลับมามีชีวิตคืนสู่ความเป็นธรรมชาติ มีสัตว์น้ำน้อยใหญ่ได้เข้ามาอยู่อาศัย และเป็นแหล่งต้นทุนทางอาหารให้แก่คนในชุมชนรอบข้าง สร้างรายได้ตอบแทนวิถีชีวิตให้แก่คนในพื้นถิ่น ได้ใช้ประโยชน์ทำมาหากินดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันแบบสังคมดั้งเดิมได้ต่อไป

สร้างแหล่งอาหารเองในชุมชน

น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรม ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตีั ได้เล่าถึงแนวคิดในการเนรมิตผืนดินจำนวนกว่า 100 ไร่ ตลอดแนวเลียบชายฝั่งลำน้ำบางปะกง ในพื้นที่ตำบลเขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทราให้ฟังว่า การสร้างป่าให้ปูอยู่และเป็นเสมือนบ้านหลังน้อยๆ ของเหล่าสัตว์น้ำทั้งหลาย ทั้งยังถูกใช้เป็นพื้นที่ในการมีส่วนร่วมสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนให้มีความมั่นคงมั่งคั่งก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้ในอนาคต เป็นแหล่งหาเลี้ยงชีพให้แก่คนในพื้นถิ่นได้เข้ามาจับปูจับปลานำออกไปขาย

ผู้คืนพื้นที่ธรรมชาติสู่สังคม

ส่วนพืชสมุนไพรที่ปลูกไว้ในแปลง ชาวบ้านจะได้นำไปดัดแปลงแปรรูปเป็นสินค้าส่งออกไปขายจากชุมชน เช่น ต้นเหงือกปลาหมอที่สามารถอยู่ในน้ำเค็มและน้ำกร่อยได้ รวมทั้งยังเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ เช่น ต้นโกงกางที่ให้รสชาติคล้ายมันฝรั่ง เมื่อนำไปชุบแป้งทอดถือเป็นเมนูที่อร่อยมากชนิดหนึ่ง ทั้งยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมไปถึงต้นปรงทะเลที่นำไปใช้เป็นผักแกงส้มทำอาหารได้

อาหารจากแปลงสมุนไพร

โครงการ “ปล่อยร้อยได้ล้าน” นี้เป็นการปล่อยพันธุ์ปูทะเลลงสู่ทุ่งสมุนไพรในผืนป่าชายเลน เพื่อเป็นการปรับสภาพแวดล้อมคืนสู่ความเป็นธรรมชาติให้แก่พื้นที่บริเวณนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนรอบข้าง โดยได้เริ่มทำโครงการนี้ขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา หลังจากผ่านสถานการณ์ของโรคโควิค 19 ระบาดนั้น ได้ทำให้คนกลับไปสู่สภาพแห่งรากเหง้าดั้งเดิม โดยการหันไปใช้สมุนไพรในการนำมาทำการรักษาและป้องกัน

เลี้ยงปูทะเลในนาขาวัง

เหงือกปลาหมอถือเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมายรอบด้าน เช่น ใช้ทำสบู่ ทำยาสระผม ทำครีมนวดให้ผมนุ่มได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี และยังรักษาโรคสะเก็ดเงินสะเก็ดทองได้ สามารถปลูกอยู่กับป่าชายเลนได้ร่วมกับพืชสมุนไพรอื่นๆ อีกหลายชนิดที่กำลังจะสูญหายไป จึงได้นำมาปรึกษากับคนในชุมชนจนเกิดเป็นโครงการทุ่งสมุนไพรแห่งนี้ขึ้นมา พร้อมกับการสร้างการมีส่วนร่วมจากสถานศึกษา และโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อปลูกฝังสร้างจิตสำนึกให้เด็กๆ ได้มีจิตผูกพันในรากเง้าดั้งเดิมโดยไม่ละทิ้งหรือมุ่งแต่ไปหาซื้อกินแต่เพียงอย่างเดียว จนอาจลืมที่จะสร้างมันขึ้นมาด้วยตนเอง

ปลูกฝังเยาวชนในพื้นที่ให้รักการสร้าง

สำหรับการพัฒนาในอนาคตนั้น ทางโครงการได้จับมือกับทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้เข้ามาช่วยในการออกแบบหรือดีไซด์ ในเรื่องของแพคเกจจิ้ง เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผลิตขึ้นมาได้จากกลุ่มชาวบ้านให้มีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงช่วยเขียนเวิร์คโฟลให้มีแบบแผนเป็นระบบในการดึงดูดความสนใจ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ เนื่องจากในอนาคตนั้นนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้ จะมีโรงงานอุตสาหกรรมให้มีผู้เข้ามาเยี่ยมชม และได้เข้ามาชมในพืชพันธุ์ป่าไม้ที่เรายังอนุรักษ์ไว้ด้วย

การมีส่วนร่วมของเยาวชน

ทำให้ได้ทั้งประโยชน์และมีอนาคต ดีต่อสุขภาพเพราะสุดท้ายคนเรานั้นก็ต้องดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด ตามที่ได้เคยให้คำมั่น รับปากไว้ต่อชาวบ้านในพื้นที่ว่า “เราเป็นภาคเอกชนที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ จึงอยากแสดงให้ชุมชนได้เห็นว่า เราไปอยู่ที่ไหนแล้วจะไม่ไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้” อุตสาหกรรมกับชุมชนต้องอยู่ร่วมกันได้ และจะอยู่อย่างไร ต้องอยู่ให้เป็น อยู่แบบมีความสุขร่วมกัน โดยเราพอที่จะมีกำลังในการสนับสนุนชุมชนให้เกิดแรงบันดาลใจ ตามที่เขาอยากจะมีอยู่ในพื้นที่ ทุ่งสมุนไพรป่าชายเลนแห่งนี้จึงถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทยที่จะสามารถต่อยอดได้ น.ส.กุลพรภัสร์ กล่าว

การพัฒนาบรรจุภัณฑ์

ขณะที่ ผศ.ดร.สถาพร ดียิ่ง ผู้ทำวิจัยเรื่องการเพาะเลี้ยงปูทะเลที่เหมาะสมกับพื้นที่ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.ราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ปูทะเลมีอัตราการไข่และให้ลูกสูงถึง 1 ล้านตัวต่อน้ำหนักตัวแม่พันธุ์ปู 1 ขีด ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้แม่พันธุ์ที่มีน้ำหนักเหมาะสมที่ขนาด 3.5 ขีด แต่มีอัตราการรอดต่ำหรือสามารถที่จะนำมาฟักเพาะเลี้ยงออกมาเป็นลูกปูได้เพียงประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น

ผู้วิจัยการเลี้ยงปูทะเลที่เหมาะสมกับพื้นที่

สำหรับสายพันธ์ปูทะเลที่มีอัตราการเติบโตได้ดี ในพื้นที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง นั้นคือปูขาวหรือปูทองหลาง ทั้งยังมีรสชาติดีกว่าปูในกลุ่มเดียวกันรวม 4 ชนิด คือ ปูดำ ปูม่วงและปูเขียว นอกจากนี้ปูขาวยังมีอัตราการเติบโตได้ดีกว่าปูทั้ง 3 ชนิด โดยใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 3 เดือน จะสามารถจับขายได้ในราคา กก.ละ 500 บาท สำหรับปูตัวผู้ ส่วนปูตัวเมียหรือปูไข่นั้น ราคาจะสูงกว่าถึง กก.ละ 1,000 บาท ในขนาดน้ำหนักประมาณ 2-3 ตัวต่อ 1 กก. โดยเป็นขนาดที่มีไม่พอขาย และจะมีพ่อค้ามาสั่งจองรับซื้อถึงบ้าน เนื่องจากปูที่เลี้ยงในพื้นที่บางปะกงแห่งนี้เนื้อจะแน่น

นาขาวัง

ปัจจุบันยังมีชาวบ้านประกอบอาชีพเลี้ยงปูอยู่ประมาณ 70 ราย และยังมีกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงปูนั้นมีอาชีพหลักคือทำนาสลับกับการเลี้ยงปูครั้งละ 6 เดือน โดยจะทำนาในช่วงประมาณเดือน มิ.ย.-ธ.ค. และจะเริ่มเลี้ยงปูหลังจากการเก็บเกี่ยวในเดือน ธ.ค.-มิ.ย. โดยเป็นการสลับกันเลี้ยงแบบใช้น้ำเค็มเข้ามาเลี้ยงในแปลงนา เพื่อกำจัดวัชพืช ฆ่าเชื้อ กำจัดโรคและแมลง ซึ่งเป็นการกำจัดศรัตรูพืชไปในตัว

ผืนนาขาวัง

เมื่อถึงฤดูการทำนาจะเปลี่ยนถ่ายน้ำเค็มออกจากแปลงนา และสูบน้ำจืดเข้ามาล้างผืนนาก่อนที่จะปล่อยทิ้ง จากนั้นจึงเริ่มทำนา การเลี้ยงปูจึงเป็นการประกอบอาชีพแทนการขาดรายได้ที่หายไปในช่วง 6 เดือนในระหว่างที่ยังทำนาไม่ได้ เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณนี้จะมีน้ำเค็มหนุนในช่วงฤดูแล้ง หรือในช่วงปลายปีไปจนถึงกลางปี ซึ่งเป็นรายได้ทดแทนเทียบเคียงได้กับการทำนา 1 ฤดูกาล เรียกว่าการทำนาแบบขาวัง แต่ในอดีตนั้นเกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น หากปล่อยปู 100 ตัวจะเก็บได้แค่ 30 ตัว เนื่องจากปูจะซนคลานออกไปบ้าง แต่เมื่อมีการกันขอบแปลงนาด้วยผ้ายางแล้ว ทำให้สามารถเก็บผลผลิตได้มากถึงร้อยละ 70 ตัวต่อการปล่อย 100 ตัว ผศ.ดร.สถาพร กล่าว

ผลิตภัณฑ์ความอร่อย

ด้าน ผศ.ธนารักษ์ จันทรประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาศิลปะอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพร่วมกับนิคมฯ บลูเทคซิตี้ว่า ความร่วมมือเกิดขึ้นจากการทำเอ็มโอยูร่วมกัน ที่จะทำให้ศูนย์สมุนไพรเริ่มต้นได้ จึงได้นำนักศึกษาในคณะฯ ลงมาในพื้นที่ เพื่อให้เขาได้นำศักยภาพการออกแบบที่ได้เรียนรู้มาดำเนินการออกแบบและพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดยแต่ละคนนั้นมีความถนัดที่แตกต่างกัน ในการที่จะพัฒนาสินค้าให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ตามความถนัดของตน

ผศ.ธนารักษ์ จันทรประสิทธิ์

เริ่มจากการที่ได้เข้ามาดูในพื้นที่ว่ามีทรัพยากรธรรมชาติอะไรอยู่บ้าง มีการเข้าไปเยี่ยมชุมชนต่างๆ เพื่อได้ทราบว่าแต่ละชุมชนนั้นมีอาชีพและปัญหาอะไร ที่เราสามารถจะเข้าไปช่วยเหลือได้ เพื่อทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราเข้ามาทำนั้น ในชุมชนเองได้เคยทำอยู่แล้ว หรือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีอยู่ เช่น การนำเศษวัสดุเหลือใช้จาก “ต้นจาก” และผักตบชวาที่เป็นปัญหาด้านการคมนาคมทางน้ำ จากที่เคยเป็นขยะที่เหลือทิ้งกลับมาสร้างให้มีมูลค่า

สร้างความน่าสนใจให้เกิดขึ้นในชุมชน

โดยการนำความรู้ทางวิชาการมาถ่ายทอดเชื่อมโยงกับทรัพยากรในทุกมิติ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน เช่น การนำเศษซากจากที่เคยถูกนำไปทำหลังคาหรือห่อขนมมาแล้วต้องทิ้ง นำมาทำสีย้อมผ้าบาติก และเปลี่ยนจากเศษสีในการย้อมผ้าบาติกนำมาเป็นขี้เถ้า เพื่อทำเป็นน้ำยาเคลือบสำหรับงานเครื่องปั้นดินเผา ที่มีการเรียนรู้อยู่ในภาควิชาการทำเครื่องปั้นดินเผา โดยการนำดินจากที่นี่ไปศึกษาที่จะแปรรูปว่าจะทำเครื่องปั้นดินเผาได้อย่างไร

นำวัตถุดิบจากเศษเหลือใช้มาพัฒนา

เมื่อเคลือบแล้วนำมารวมกันจะได้เป็นภาชนะงานเครื่องปั้นดินเผาที่มีความเป็นตัวตนของพื้นที่ มีความโดดเด่นของพื้นที่ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์พื้นที่ได้อย่างครบวงจร จากวัตถุดิบทั้งหมดในพื้นที่ โดยเราจะเข้ามาถ่ายทอดให้กับชุมชน รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เคยเกิดขึ้นอยู่แล้ว ทั้งเป็นยาและอาหาร เช่น สบู่แชมพูเวชสำอางต่างๆ

สินค้าเดิมจากชุมชน

ในส่วนของสถาบันจะสามารถพัฒนาทางด้านคุณภาพ อายุการใช้งาน และสรรพคุณให้สูงขึ้นได้อย่างมีมาตรฐานมากขึ้น จากนั้นจะนำมาทำเป็นภาพลักษณ์ให้สวยงาม เช่น การบรรจุหีบห่อให้น่าสนใจ และตรงกับตลาดมากขึ้น โดยได้สำรวจทรัพยากรในพื้นที่จนทราบแล้วว่ามีอะไรมากน้อยบ้าง มีอะไรที่เป็นตัวเด่น โดยชาวบ้านนั้นรู้สรรพคุณอยู่แล้ว แต่การนำมาใช้ประโยชน์จากเดิมที่อาจมีแค่เพียงการใช้ในครัวเรือนหรือใช้ส่วนตัวเฉพาะกลุ่มเล็กๆ อย่างไม่มีการเผยแพร่ จนอาจมองว่าไม่น่าจะเป็นสินค้าที่สามารถขายได้ จึงได้มานำเสนอถึงวิธีการของเราให้ชุมได้เห็นว่า สิ่งที่ชุมชนมีอยู่นั้นสามารถไปได้ไกลมากกว่านี้ ผศ.ธนารักษ์ กล่าว

รอการสัมผัสรสชาติที่เขาดิน

ส่วนด้าน น.ส.เพ็ญพิชชา ทวีกิจเกษม อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ภาควิชาศิลปะอุตสาหกรรม ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการลงพื้นที่ มายังชุมชนบ้านเขาดินแห่งนี้ว่า ได้ใช้องค์ความรู้ที่เรียนมาทั้งด้านการวางแปลน การใส่ใจในรายละเอียด และกิจกรรมการมีส่วนร่วม ได้ถูกนำมาใช้ในพื้นที่ตรงนี้เพื่อทำให้เกิดความสดใหม่ ในสิ่งที่ชุมชนมีอยู่ได้เพิ่มมากขึ้น เสมือนกับการค้นหาว่าเรากำลังจะทำอย่างไรเพื่อสร้างสวนสมุนไพรนี้ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ควบคู่กับการได้รับความรู้จากการได้ลองใส่ไอเดียลงไปในการสร้างความแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นจริง น.ส.เพ็ญพิชชา ระบุ

น.ส.เพ็ญพิชชา ทวีกิจเกษม

โครงการทุ่งสมุนไพรในป่าชายเลนที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นแนวทางในการยกระดับจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนในชุมชน และความมีอยู่ของทรัพยากรในพื้นถิ่น ให้เกิดการพัฒนาสู่การสร้างมูลค่าให้แก่สิ่งที่เคยมีอยู่ไม่ให้สูญสลายไป ทั้งยังเป็นการคงไว้ในอาชีพแบบดั้งเดิมของคนในชุมชน ควบคู่กับอาชีพใหม่ในภาคอุตสาหกรรม และการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่เข้มแข็งมีความยั่งยืนไปสู่อนาคตที่ดีกว่าของชุมชนคนบ้านเขาดิน ถิ่นเลี้ยงปูทะเลสร้างมนต์เสน่ห์แห่งใหม่ด้วยทุ่งสมุนไพร

สินค้าในพื้นถิ่น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน