X
แพทย์พยาบาลทยอยลาออก

วิกฤติบุคลากรการแพทย์ขาดแคลน คนไข้หงายเงิบ รอแพทย์นัดนาน 2 ปี

ฉะเชิงเทรา – วิกฤติบุคลากรการแพทย์ขาดแคลน คนไข้หงายเงิบรอแพทย์นัดนาน 2 ปี ขณะ รพ.แจงทั้งโรงพยาบาลมีหมอเฉพาะทางแค่ 2 คน เหตุจากทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง หลังชุมชนขยายตัวงานหนักเพิ่ม เผยวิถีสังคมเปลี่ยนผู้คนมีความเสี่ยงในการใช้ชีวิตทำเจ็บป่วยง่าย ขณะภาคเอกชนยอมควักจ่ายให้ค่าแรงแพทย์พยาบาลสูงหลายเท่าล่อใจ ยอมสละตำแหน่งราชการ ยันประกาศรับสมัครใหม่ทดแทนแล้ว

วันที่ 10 ส.ค.66 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากทางญาติผู้ป่วยรายหนึ่ง ที่ได้พาเด็กชายวัย 11 ขวบเข้าไปทำฟัน เนื่องจากมีฟันกรามผุ ยังที่ รพ.ประจำจังหวัดแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 8 ส.ค.66 แต่หลังจากทันตแพทย์ทำการเปิดโพรงประสาทฟัน เพื่อรักษารากฟันครั้งแรกแล้วเสร็จ ได้มีการนัดหมายให้ผู้ป่วยมาทำฟันต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือในวันที่ 8 ส.ค.68

รพ.พุทธโสธร

พร้อมกับบอกกับทางญาติด้วยว่า ทาง รพ.จะไม่มีการตามนัด โดยให้คนไข้เข้ามาติดต่อเพื่อเข้ารับบริการรักษาต่อเนื่องเอง หลังจากผ่านระยะเวลา 2 ปีไปแล้ว หรือหากทางผู้ป่วยหรือญาติต้องการจะทำการรักษารากฟันให้เร็วขึ้นและต่อเนื่อง ให้ไปสอบถามได้ตามคลินิก ทั้งราคาและเวลาในการเข้ารับบริการทำฟันกับทางคลินิกทำฟันได้ทั่วไป โดยไม่ต้องรอเวลานานถึง 2 ปี เพื่อทำการรักษารากฟันกับทาง รพ. เป็นครั้งที่ 2 และ 3 ต่อไป จึงทำให้ผู้ปกครองเด็กเกิดความสงสัยว่า เหตุใดทาง รพ.จึงได้นัดหมายให้มารับการรักษารากฟันต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ยาวนานถึง 2 ปีเต็ม โดยมองว่าเป็นเวลาที่ยาวนานมากเกินไป

หลังผู้สื่อข่าวได้สอบถามจากทาง ทพญ.ชลธิชา อารมณ์เสรี รอง ผอ. รพ.พุทธโสธร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็น รพ.ประจำจังหวัด ได้ให้ข้อมูลว่า การรักษารากฟันต้องทำการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางที่ทำหน้าที่รักษารากฟันโดยเฉพาะ โดยคนไข้ 1 คนต้องใช้เวลาทำการรักษารากฟันประมาณ 1-1.30 ชม. และต้องมาทำการรักษาประมาณ 2-3 ครั้งตามจำนวนรากฟันในแต่ละซี่ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าฟันซี่นั้นมีกี่ราก จึงต้องใช้เวลานานมากกว่าคนอื่น

ทพญ.ชลธิชา อารมณ์เสรี

ขณะที่คนที่มีฟันผุทะลุโพรงประสาทฟันที่ต้องรักษารากฟันนั้นมีปริมาณเยอะมาก หากจะทำให้แล้วเสร็จไปเพียง 1 คน แต่คนที่เหลืออีก 2-3 คนจะไม่ได้ทำการรักษา สำหรับคนไข้ที่มาแบบไม่ปวดฟัน แต่ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟันเราจะทำฉุกเฉินให้ก่อน ด้วยการเปิดโพรงประสาทฟันเข้าไปล้างและใส่ยาจากนั้นจึงปิดเพื่อรอเข้าคิวรักษาต่อไป ขณะที่ รพ.พุทธโสธรนั้น มีทันตแพทย์รักษารากฟันอยู่เพียงแค่ 2 คนจากทันตแพทย์ทั้งหมด 19 คน

และทันตแพทย์รักษารากฟันยังต้องดูแลคนไข้ปกติด้านอื่นด้วย เช่น อุดฟันถอนฟันขูดหินปูนตามปกติ และใช้เวลาช่วงบ่ายมาดูแลคนไข้ที่มาทำการรักษารากฟัน ซึ่งจะเหลือเวลาอีกแค่เพียง 4 คาบและเวลาที่ใช้ในการรักษาแต่ละคน ก็ยังต้องใช้เวลานาน ซึ่งต้องเข้าใจว่าทันตกรรมนั้นมีคิวที่ยาวนานมาก โดยที่ผ่านมายังเคยนัดนานมากถึง 3 ปีมาก่อนแล้วด้วย แต่ขณะนี้ได้ให้ปรับระบบใหม่แล้วเพราะคิวนานมากและเคสก็มีมากด้วย ประกอบกับทันตแพทย์รักษารากฟันกำลังจะลาออกไปอีก 1 คนในช่วงสิ้นเตือน ก.ย.66 นี้

จะทำให้มีเหลือทันตแพทย์รักษารากฟันแค่เพียง 1 คนเท่านั้น ทางทันตกรรมจึงจะปรับใหม่ให้ทางทันตแพทย์รักษาราก มาทำหน้าที่รักษารากฟันเพียงอย่างเดียวแบบเฉพาะไปเลย ตลอดทั้งวันและทุกวันเพื่อเพิ่มอัตราการรักษารากฟันเข้ามา และในเคสไหนที่อยู่ในพื้นที่สามารถส่งต่อไปยังในที่ ที่อยู่ใกล้กับคนไข้มากกว่า ก็จะพิจารณาส่งต่อไปไปยังสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้กว่า และเคสไหนที่ง่ายจะให้ทันตแพทย์อื่นช่วยทำด้วย โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เป็นปัญหามานานแล้ว

นัดนาน 2 ปี

จึงอยากแนะนำให้มีการดูแลฟัน โดยให้คำแนะนำ ให้ความรู้กับคนไข้ ไม่ใช่ปล่อยให้ผุก่อนแล้วจึงจะเข้ามารักษา ซึ่งถือว่าสายไปแล้ว หากคนไข้มีความรู้ดูแลฟันทุกวันและเข้ามาตรวจในทุก 6 เดือน จะทำให้เห็นรอยผุในช่วงแรกๆ ได้ และสามารถอุดได้เลยจะทำให้ไม่เสียเวลา และเสียทรัพยากรด้วย หากคนไข้ไม่มีความรู้ว่าเมื่อฟันผุแล้วต้องรีบมา และมาในตอนที่ปวดแล้วจะทำให้ล่าช้าไปจนรักษารากฟันไม่ได้ ทพญ.ชลธิชา กล่าว

ด้าน พญ.นาตยา มิลส์ ผอ. รพ.พุทธโสธร กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.มีบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดประมาณ 1,500 คน ได้มาขอลาออกแทบทุกวัน เนื่องจากปัจจุบันพยาบาลวิชาชีพทำงาน 8 ชม.อยู่กับโรงพยาบาลได้เงินค่าจ้างวันละ 700 บาท และงานยังหนักมาก แต่เมื่อไปทำงานอยู่ภายในห้องพยาบาลตามสถานประกอบการเอกชน เช่น โรงงานอุตสาหกรรม เขาทำงานเพียง  1-2 ชม. ได้ค่าจ้างมากถึง 2 พันบาท ซึ่งอันนี้เป็นความจริงที่เกิดในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา

ซึ่งต่างจากโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่ห่างไกล ที่คนจะรักในเกียรติและศักดิ์ศรีทางวิชาชีพพยาบาลมาก หากใครได้มาทำงานด้านนี้จะถือว่าเป็นเกียรติแก่ครอบครัว จึงทำให้ไม่มีใครยอมลาออกทิ้งหน้าที่การงานไปง่ายๆ แต่ที่นี่กลับไม่ใช่เพราะมีทางเลือกมากกว่า จากการที่มีสถานประกอบการในพื้นที่มากถึงกว่า 4,500 แห่ง จึงทำให้หัวหน้าพยาบาลปัจจุบันไม่มีวันไหนที่จะไม่ปวดศีรษะจากการที่น้องๆ เหล่านี้มาขอลาออก เพื่อไปอยู่ในห้องพยาบาลตามโรงงาน

พญ.นาตยา มิลส์

ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ไปนั่งเฉยๆ และวัดความดัน จึงทำงานสบายมากกว่าอยู่กับทางโรงพยาบาล บางรายได้ไปอยู่กับทางคลินิกเสริมความงาม ที่ทำงานแค่เพียงแป๊บเดียวต่อเคสเท่านั้น โดยสาเหตุที่คนไข้ล้นโรงพยาบาล เพราะสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้มีคนป่วยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมเมืองฉะเชิงเทรา ที่เห็นได้ชัดจากการที่เราเปิดวอร์ดจิตเวชจำนวน 15 เตียงขึ้นมา แต่ได้มีผู้ป่วยเข้ามาจนเต็มในทันที ทำให้สะท้อนได้ว่าสภาพจิตใจของคนในสังคมไม่ค่อยดี มีการใช้ยาเสพติดมากขึ้นมีความก้าวร้าวรุนแรง และมีอะไรที่คล้ายจะเป็นปัญหาสังคมชาวฉะเชิงเทราเพิ่มขึ้นมามากพอสมควร

โดยโรงพยาบาลนั้นเป็นเสมือนปลายทางรองรับปัญหาของสังคมและปัญหาสุขภาพ โดยสิ่งที่ทาง รพ.เห็นได้อย่างชัดเจน คือ เรื่องของสภาพจิตใจ สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปมาก นอกจากนี้อยากให้มีการดูแลรักษาสุขภาพ หากเราไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องของอาหารการกินและการออกกำลังกาย จะทำให้มีเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บตามมา และเพิ่มขึ้นมาเยอะมากในปัจจุบัน แม้ว่าเราจะเอาเทคโนโลยีชั้นสูงขนาดไหนมาใช้ แต่ยังพบว่าจำนวนคนไข้ไม่ได้ลดลงเลย

เช่น ผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานนับวันมีแต่เพิ่มขึ้น โรคความดันมีแต่พุ่งทะลุไม่หยุด ซึ่งส่งผลต่อเนื่องกับสังคมในพื้นที่ ในฐานะของแทพย์นั้นจึงรู้สึกกังวลในส่วนของ 2 เรื่องดังกล่าวนี้ และทาง รพ.ยังเป็นปลายทางในเกือบทุกปัญหาในสังคม ทั้งด้านจิตเวช ทั้งคนบ้านแตกสาแหรกขาด มารดาไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดูบุตร เด็กที่เกิดมาในขณะที่มาติดยาเสพติด แพทย์ก็ต้องมาดูแลรักษา สังคมในเมืองฉะเชิงเทราวันนี้จึงน่าเป็นห่วง

บุคลากรทางการแพทย์

การป้องกันส่งเสริมสุขภาพจึงน่าจะเป็นวิถีทางออกที่ดีที่สุด นี่เป็นข้อห่วงใยของทางแพทย์พยาบาลและบุคคลากรของทาง รพ.พทธโสธรทุกคน ในการรักษาสุขภาพให้แก่คนแปดริ้วและใกล้เคียงให้ดีที่สุด พญ.นาตยา กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน