X
หอการค้าแนะ

หอการค้าแนะ พัฒนา พท.รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ให้คงอัตลักษณ์ดั้งเดิม

ฉะเชิงเทรา – หอการค้าแนะ พัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา ให้คงสภาพความดั้งเดิมไว้ควบคู่กับการโปรโมทขายสินค้าในท้องถิ่น มุ่งพัฒนาในรูปแบบที่ยังมีความเป็นธรรมชาติคงเดิม ยันไม่ต้องการชุมชนแออัดหรือกลายเป็นแหล่งให้คนเข้ามาอยู่อาศัยหนาแน่น ส่วนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวประจำถิ่นขอให้คงอัตลักษณ์เดิมไว้ เช่น ตลาดโบราณในแต่ละชุมชน

วันที่ 10 พ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พูดคุยสอบถามถึงเรื่องเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา ที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะอีก 5 ปีข้างหน้า จากนายจิตกร เผด็จศึก ประธานหอการค้าฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นตัวแทนภาคเอกชนได้กล่าวถึงมุมมองในเรื่องนี้ว่า มุมมองการพัฒนาพื้นที่นั้นต้องการความเป็นเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นมาจริงๆ ตามแนวทางการพัฒนาของ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ต้องการให้เป็นเมืองน่าเที่ยว น่าอยู่ และน่าลงทุน

นายจิตกร เผด็จศึก

โดยพื้นที่รอบบริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงนั้นมีอยู่ประมาณ 500 กว่าไร่ เป้าหมายในการพัฒนานั้นต้องการให้พัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิมให้สามารถยกระดับขึ้นมาได้ เช่น ตลาดน้ำนครเนื่องเขตนั้น ควรจะมีอยู่เหมือนเดิมแต่ต้องมีการยกระดับพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ชาวบ้านหรือเกษตรกรมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ ไม่ใช่การพัฒนาที่เป็นไปในรูปแบบที่มีแต่นักลงทุนเข้ามาลงทุน และไม่ใช่แค่การเข้ามาสร้างเป็นที่อาศัย เป็นหมู่บ้านจัดสรร หรือสร้างคอนโดฯ เพียงอย่างเดียว นั่นคือสิ่งที่ไม่ต้องการ

โดยต้องการให้เป็นเมืองตามแบบดั้งเดิม แต่พัฒนาในด้านเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น เพื่อให้เป็นเมืองอัจฉริยะขึ้นมาจริงๆ และเกิดการพัฒนาแบบธรรมชาติ โดยไม่ต้องการให้คนเข้ามาอยู่อาศัยกันอย่างมากมายหนาแน่น และมาสร้างมลภาวะ การพัฒนาเมืองของเรานั้นจึงต้องการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความมั่นคงขึ้นพร้อมกันไปทั่วทั้งจังหวัด

สถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา

ส่วนพื้นที่ชิดติดกันกับสถานีรถไฟนั้น มองว่าควรพัฒนาให้เป็นที่พักอาศัย ที่มีโรงเรียนนานาชาติ มีสวนสาธารณะ และเป็นแหล่งขายสินค้าของชุมชน เพื่อให้ผู้ที่ผ่านมานั้นได้สัมผัสกับร้านค้าชุมชนวิสาหกิจชุมชน ที่มีสินค้าจากทั่วทั้งจังหวัดมาขายโดยไม่ต้องการให้เป็นห้างสรรพสินค้า หรือเป็นการพัฒนาเมืองที่มีแต่ห้างสรรพสินค้าทั้งหมด แต่ควรที่จะเป็นร้านค้าชุมชนใน จ.ฉะเชิงเทรา มากกว่า เช่น ศูนย์จำหน่ายสินค้าโอท็อป เพื่อเป็นการยกระดับในสิ่งที่เรามีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด นายจิตกร กล่าว

ขณะที่ นายวราวุฒิ มาลา ที่ปรึกษาพิเศษโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและ TOD (Transit-Oriented Development) กล่าวว่า พื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรานั้น ถือเป็นพื้นที่เปิดใหม่ ซึ่งเดิมสภาพแวดล้อมนั้นเป็นทุ่งนา ถือเป็นการเปิดเมืองใหม่ที่จะถูกพัฒนาขึ้นในลำดับต่อไป จึงต้องเข้ามาสอบถามความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ ทั้งจากภาคประชาชนและฝ่ายการเมืองรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าต้องการเห็นการพัฒนาพื้นที่ตรงจุดนี้ไปในทิศทางใด เพื่อจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด

วราวุฒิ มาลา

โดยเราจะมีวิธีคิดให้ว่าจะต้องคิดอะไรกันไว้บ้าง หากมีผู้คนเดินทางมาถึง จ.ฉะเชิงเทรา และหากลงมาแล้วมีแต่ทุ่งหญ้าก็คงไม่มีใครอยากลง รวมถึงยังต้องคิดถึงการเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟความเร็วสูงมาถึงยังสถานีรถไฟแห่งเดิมด้วยว่าจะมีความเชื่อมโยงกันได้อย่างไร จึงขอให้คิดเตรียมการกันไว้ก่อนในพื้นที่โดยรอบสถานี เพื่อรองรับขบวนรถที่จะเดินทางมาถึงยัง จ.ฉะเชิงเทรา ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งการพัฒนาจะเป็นไปในรูปแบบใดนั้น ยังต้องให้เวลาคนในชุมชนและผู้นำในพื้นที่ไปคิดกันมาก่อน

การพัฒนาพื้นที่ใหม่ในครั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเพื่อให้เป็นสมาร์ทซิตี้ โดยในทุกอย่างนั้นจะเป็นกรีนหรือสีเขียวทั้งหมด เพื่อที่จะเป็นต้นแบบของเมืองใหม่ในอนาคต ด้วยการที่จะดึงเอาผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาคุยกันว่าจะทำอะไรในพื้นที่ผืนนี้บ้าง โดยที่ไม่ได้มีการเวนคืนพื้นที่แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีหลายเจ้าของ อยู่ที่ภาคเอกชนและภาครัฐร่วมมือกันว่าจะพัฒนาอย่างไร และแชร์ผลประโยชน์ได้เสียด้วยกัน หากเห็นว่าควรพัฒนาไปในทิศทางใดแล้วก็คงเป็นไปตามนั้น

ต้องการอะไรในนี้

ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ เพราะเรื่องนี้เป็นการพัฒนาในรูปแบบใหม่ ที่ต้องพูดคุยกันและอยากให้ชุมชนสังคมบ้านเมืองได้มีส่วนร่วมกันมากที่สุด โดยพื้นที่ไข่แดงนั้นมีอยู่เพียง 100 ไร่ภายในบริเวณสถานีรถไฟใหม่ ขณะพื้นที่โดยรอบนั้นปัจจุบันยังคงเป็นทุ่งนาทั้งหมด จึงต้องให้ไปคิดกันมาก่อนว่าการสร้างเมืองใหม่นั้นจะให้มีอะไรบ้าง และโซนไหนควรที่จะเป็นอะไร เป็นที่อยู่อาศัยเป็นตลาดชุมชน สามารถที่จะวางผังใหม่ร่วมกันได้

ส่วนการจะใช้พื้นที่จำนวนเท่าใดนั้น ยังต้องรอให้มีการพูดคุยกันสัก 1-2 เดือนก่อน เพื่อให้ได้เห็นรูปร่างว่าต้องการจำนวนเท่าใด และจะมีวิธีการที่จะคุยกันว่าจะรวมกันได้แบบไหน ขอให้มีผู้นำเข้าไปคุยกันกับคนทุกกลุ่มและตกผลึกเสนอมา ว่าโซนไหนเป็นอย่างไรจากนั้นจะถือระวางอินฟราสตรักเจอร์ (โครงสร้างพื้นฐาน) ทั้งน้ำประปาไฟฟ้าการจัดการขยะมลพิษ เพราะเมืองแห่งนี้จะต้องสะอาด รวมทั้งเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่จะมีการวางไว้ให้เพื่อเป็นการตอบโจทน์ในอนาคต จึงต้องใช้การพัฒนาร่วมกัน

สำหรับแหล่งทุนนั้น หากมีโครงการที่ดีนายทุนในประเทศเรามีมาก รวมทั้งแบงก์ของรัฐและเอกชนยังสามารถที่จะช่วยเหลือหรือปล่อยให้กู้ได้ นายวราวุฒิ กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน