X

พื้นที่รอยต่อสามแม่น้ำวิกฤติ หลังชาวบ้านพบปลาลอยตายเกลื่อน

พื้นที่รอยต่อสามแม่น้ำเชื่อมสามจังหวัดวิกฤติหนัก หลังชาวบ้านพบปลาลอยตายเกลื่อนลำน้ำ เชื่อเป็นน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมทางตอนบน แต่ยังคงแห่จับปลาเอาไปบริโภคและขายต่อ ขณะประมงพื้นที่แจงอ้างยังไม่เคยตรวจพบสารโลหะหนักปนเปื้อนมาในน้ำ ระบุแค่คุณภาพน้ำมีค่าออกซิเจนต่ำ

วันที่ 20 พ.ย.60 เวลา 15.30 น. นายชูเกียรติ อังคสิงห์ อายุ 53 ปี ชาว อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า น้ำในลำน้ำบางปะกงมีสภาพเน่าเสีย มีสีน้ำตาลแดงปนดำและมีปลาจำนวนมากลอยตายเกลื่อนไหลผ่านไปตามลำน้ำเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยชาวบ้านเชื่อว่าน่าจะเป็นน้ำเสียที่ถูกแอบปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมทางตอนบน เนื่องจากตรงบริเวณลุ่มน้ำบางปะกงตอนกลางนี้ เป็นจุดที่มีแม่น้ำสามสาย (แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง) ไหลลงมารวมบรรจบกันในพื้นที่ ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นรอยต่อกันระหว่างพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

ลักษณะสภาพของน้ำที่สังเกตเห็น จะพบว่ามีปลาชนิดต่างๆ ลอยตัวอยู่เต็มผิวน้ำใกล้กับชายตลิ่งเพื่อหายใจ จึงเชื่อว่าคุณภาพน้ำน่าจะมีปัญหา ขณะที่ชาวบ้านที่มีอาชีพหาปลาขาย ได้ออกมาไล่จับปลาและกุ้งแม่น้ำ ที่ลอยขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อนำเอาไปขายต่อ และมีบางส่วนนำไปปรุงอาหารบริโภคด้วย นายชูเกียรติ กล่าว

ด้านนายจำเนียร บุญชื่น อายุ 46 ปี ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า น้ำที่กำลังเน่าเสียอยู่ในลำน้ำบางปะกงนั้น ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมาจากลำคลองสารภี ซึ่งอยู่ทางตอนบนของลำน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ทางการเกษตรคือนาข้าว และโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ ชาวบ้านจึงยังไม่ทราบว่าแหล่งที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียนั้นมาจากจุดใด

แต่เมื่อน้ำไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกงแล้ว ได้เกิดปัญหาต่อสัตว์น้ำขึ้นมาในทุกๆ ปี โดยมีปลาทับทิมในกระชังของชาวบ้านลอยตาย และปลาเนื้ออ่อน ปลากะพง ปลาม้า ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่เว้นแม้แต่ปลาลิ้นหมาที่มีความทนทานสูงและหากินอยู่ที่หน้าผิวดินใต้น้ำก็ยังลอยขึ้นมา และในบางปียังมีปลากระเบนราหูซึ่งมีน้ำหนักนับ 100 กก. ลอยขึ้นมาสู่ผิวน้ำด้วยหลายสิบตัว

ขณะเดียวกันได้มีชาวบ้านเป็นจำนวนมากต่างได้พากันมาเก็บจับปลาที่ตาย นำกลับไปปรุงอาหารบริโภค และส่งขายต่ออีกด้วย ซึ่งยังไม่ทราบว่าปลาที่ตายอยู่ในแม่น้ำนั้น มีสารเคมีอะไรปนเปื้อนหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่พบว่ามีใครป่วยเป็นอะไรจากการบริโภคปลาที่กำลังลอยตาย มีเพียงแค่อาการท้องเสียในบางรายเท่านั้น

สำหรับปรากฏการณ์น้ำเน่าปลาตายนี้ มักจะเกิดขึ้นตรงกันในทุกๆ ปี คือ ในช่วงวันที่ 10 พ.ย.ต่อเนื่องมาสิบปีแล้ว โดยที่ผ่านมามีหน่วยงานราชการเข้ามาตรวจสอบคุณภาพน้ำในปีก่อนๆ แล้ว กลับได้รับคำตอบว่า เป็นน้ำที่เสียมาจากนาข้าว ที่ชาวนาเปิดระบายน้ำออกจากแปลงนาข้าวเพื่อเก็บเกี่ยวข้าวนาปี โดยระบุว่าชาวนาใช้สารเคมีเกิน แต่เราก็ไม่ทราบว่าทางราชการเขาวัดด้วยอะไร จึงระบุผลออกมาเช่นนั้น และไม่ได้มีการชี้แจงให้ชาวบ้านทราบ ว่าเป็นสารเคมีชนิดใดปนเปื้อนมากับน้ำ นายจำเนียร กล่าว

ด้านนายบุญส่ง ศิริมา หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง สำนักงานประมง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเดินทางลงพื้นที่มาตรวจวัดค่าออกซิเจนในน้ำที่บริเวณพื้นที่รอยต่อระหว่างสามแม่น้ำพอดี กล่าวว่า น้ำในบริเวณนี้มีค่าดีโอ (ออกซิเจนละลายในน้ำต่อลิตร) อยู่ที่ 0.2-0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมีสภาพค่อนข้างแย่ แต่มวลของน้ำยังอยู่ในสภาวะสลับกัน โดยในบางจุดนั้นยังสามารถวัดค่าได้สูงถึง 2.3 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งค่าปกติของออกซิเจนละลายในน้ำที่สัตว์น้ำจะอยู่ได้นั้น คือ 3.0 มก./ลิตร และหากต่ำกว่า 1.5 ลงมาจะถือว่าเข้าขั้นวิกฤต

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำลงนั้น เชื่อว่าเกิดจากการเปิดประตูระบายน้ำออกมาจากคลองสารภี ในพื้นที่ทางตอนบน ซึ่งหากไม่เปิดระบายน้ำลงมาจะทำให้พื้นที่นาข้าวจำนวนกว่า 2 หมื่นไร่ ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ หลังจากเปิดประตูระบายน้ำออกมาแล้วจึงทำให้ดินตะกอนที่ถูกดักเอาไว้ด้านหลังประตูระบายน้ำจนเกิดการเน่าเสียได้ถูกระบายออกมาพร้อมกันด้วย

ที่ผ่านมาเคยเก็บตัวอย่างน้ำส่งไปตรวจหาสารปนเปื้อนแล้ว แต่ไม่พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ทั้งจากการตรวจหาในดินตะกอน การตรวจหาในน้ำ และในสัตว์น้ำ ไม่พบว่ามีสารโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ ปัญหาหลักที่ทำให้เกิดภาวะน้ำขาดออกซิเจนจึงน่าจะเกิดจากดินตะกอนในน้ำที่ถูกกักเอาไว้จนเน่า และถูกปล่อยระบายออกมาพร้อมกัน ส่วนสารเคมีจากยาฆ่าแมลงมีการตรวจพบบ้าง แต่ถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก ที่ผ่านมาก็ได้มีการทำใบปลิวแผ่นพับแจกจ่ายชี้แจงต่อเกษตรกร ตลอดจนชุมชนริมลำน้ำถึงสาเหตุการเกิดภาวะน้ำขาดออกซิเจนไปแล้ว แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่เข้าใจและมองว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสีย

สำหรับแนวทางแก้ไข ที่จะไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากนั้น คือ ทางชลประทานได้มีการปรับบานประตูออกเป็น 2 บาน แนวทางที่สองคือการค่อยๆ ปล่อยระบายน้ำออกมาเพื่อไม่ให้ดินตะกอนถูกปล่อยระบายออกมาพร้อมกัน และสามคือการใช้น้ำหมักจุลลินทรีช่วยปรับสภาพน้ำ และให้ชุมชนที่อยู่ริมน้ำช่วยกันดูแล นายบุญส่ง กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อไปอีกว่า กรณีที่มีชาวบ้านพากันมาเก็บเอาปลาที่ลอยตายในลำน้ำบางปะกง นำไปบริโภคนั้น จะได้รับอันตรายหรือมีผลกระทบอย่างไรหรือไม่ นายบุญส่ง ตอบว่า ไม่มีผลกระทบอะไร เนื่องจากสัตว์น้ำที่ลอยตายนั้น เกิดจากการขาดออกซิเจนตาย นายบุญส่ง กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน