X
อาคารร้าว

เคลียร์กันจนดึก กว่าปัญหาตึกร้าวจะลงตัว หลังศูนย์ดำรงธรรมลงดูพื้นที่จริง

ฉะเชิงเทรา – เคลียร์กันจนดึก กว่าปัญหาตึกร้าวจะลงตัว หลังศูนย์ดำรงธรรมแปดริ้วออกโรงเป็นแม่งานลงดูพื้นที่จริง ขณะต่างฝ่ายต่างยื้อโต้แย้งกันมาตั้งแต่ก่อนพลบค่ำ โดยตัวแทนฝ่ายก่อสร้างโกดังเก็บสินค้า ได้ยินยอมรับปากที่จะเข้าซ่อมแซมอาคารที่เสียหายให้แก่ชาวบ้านตามความเป็นจริง ขณะฝ่ายชาวบ้านจะต้องยินยอมให้ทางฝ่ายก่อสร้างโกดังตอกเสาเข็มจนแล้วเสร็จครบทั้ง 387 ต้น ก่อนเข้าดำเนินการเข้าซ่อมแซมให้ภายใน 7 วัน

อาคารพาณิชย์ 18 คูหา

วันที่ 24 มิ.ย.65 เวลา 21.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานถึงกรณีชาวบ้านในชุมชนหน้าวัดทดราษฎร์เจริญมณีฤทธิ์ พื้นที่ ม.5 ต.คลองนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานรวมทั้งสื่อมวลชนว่าอาคารพาณิชย์ขนาด 3 ชั้นรวม 18 คูหา ตั้งอยู่ริมถนนสาย 304 ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี ที่ตัวอาคารได้เกิดการแตกร้าวพังเสียหายหลังจากได้มีบริษัทสัญชาติไต้หวันรายหนึ่ง เข้ามาดำเนินการตอกเสาเข็มด้วยความลึก 24 เมตรจำนวน 387 ต้น บนแปลงที่ดินติดกันกับแนวตัวอาคารพาณิชย์ บนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ เพื่อก่อสร้างเป็นโกดังเก็บสินค้าจำพวกเม็ดพลาสติก ซึ่งส่งผล กระทบอย่างรุนแรงทั้งทรัพย์สินและด้านชีวิตความเป็นอยู่ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ผอ.ศูนย์ดำรงธรรม มาดูเอง

ล่าสุดเมื่อเวลา 17.30 น. นายวราห์ เขินประติยุทธ ผอ.ศูนย์ดำรงธรรม จ.ฉะเชิงเทรา ได้เดินทางลงไปตรวจสอบดูข้อเท็จจริงจากกรณีการร้องเรียนดังกล่าว ยังในบริเวณที่เกิดเหตุพร้อมได้เชิญทางฝ่ายตัวแทนของผู้ประกอบการก่อสร้างโกดังมาร่วมเจรจา ซึ่งประกอบด้วย นายอลงกรณ์ สวนดี วิศวกรโครงการ นายสันต์ ศรีเจริญ อายุ 69 ปี น.ส.กัญจนานันท์ สื่อสวัสดิ์วณิชย์ อายุ 26 ปี น.ส.สุวรรณ คงโฉลง อายุ 58 ปี และนายเดชชัย สุจิวัฒน์ อายุ 58 ปี ผู้เสียหายเป็นตัวแทนฝ่ายชาวบ้าน

เจรจาหาข้อยุติ

โดยมีนายพัลลภ ชูสว่าง นายก อบต.คลองนา พร้อมด้วยนิติกร อบต. เดินทางมาร่วมรับฟังในฐานะคนกลางจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบของรัฐในพื้นที่และเป็นสักขีพยานระหว่างการเจรจา แต่การเจรจายังคงมีข้อโต้แย้งถกเถียงกันจนไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ และยืดเยื้อมาเป็นเวลานานถึงเกือบ 3 ชม. โดยทางฝ่ายบริษัทไม่ยินยอมที่จะยุติการดำเนินการตอกเสาเข็ม และจะไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการตามที่ชาวบ้านร้องขอให้ใช้วิธีตอกเสาเข็มแบบเจาะเพื่อลดผลกระทบ

ลงดูที่เกิดเหตุ

และยืนกรานที่จะให้ทางฝ่ายชาวบ้านไปดำเนินการทางกฎหมายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในกระบวนยุติธรรมกันเอง เนื่องจากหากกระทำตามวิธีการที่ชาวบ้านเสนอนั้นจะต้องเพิ่มต้นทุนอีก 7 ล้านบาท และสัญญาการประกันภัยวงเงิน 3 ล้านบาทจะสิ้นสุดลงหากมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการตอกเสาเข็มตามที่ชาวบ้านร้องขอ จนถึงกระทั่งเวลา 20.20 น. จึงสามารถตกลงได้ข้อยุติกันได้

สร้างรอยร้าว

โดยที่ทางฝ่ายชาวบ้านจะต้องยินยอมให้ทางฝ่ายของผู้ดำเนินการก่อสร้างตอกเสาเข็มจนแล้วเสร็จครบตามจำนวนที่ออกแบบไว้ คือ 387 ต้น และหลังจากทางฝ่ายผู้ก่อสร้างโกดังตอกเสาเข็มแล้วเสร็จ จะต้องเร่งเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมอาคารพาณิชย์ของชาวบ้านที่แตกชำรุดเสียหายตามความเป็นจริงภายใน 7 วัน หลังการตอกเสาเข็มเสร็จสิ้น จึงถือเป็นข้อยุติของการเจรจากันในวันนี้เบื้องต้นด้วยวาจา และจะมีการดำเนินการร่างเป็นหนังสือบันทึกข้อตกลงกันในภายหลัง และลงนามเป็นข้อตกลงร่วมกันต่อไป

กว่าจะได้ข้อยุติ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน