X
เรียนรู้ทุกขั้นตอนการผลิต

เร่งรัดทุกมิติ พัฒนาอาชีพให้คนแปดริ้ว ถ่ายทอดตรงจากผู้ชำนาญการสู่สถานศึกษา

ฉะเชิงเทรา – เร่งรัดทุกมิติ ในการพัฒนาอาชีพให้แก่คนแปดริ้ว หลังสถานศึกษาได้รับความร่วมมือจากผู้ชำนาญการในอาชีพเฉพาะทางประจำถิ่น จากแหล่งผลิตสำคัญระดับประเทศ ทั้งการเพาะเลี้ยงอนุบาลลูกพันธุ์ปลากะพงขาว และการเพาะพันธุ์ลูกกุ้งกุลาดำ กุ้งก้ามกาม จากการลงนามความร่วมมือบันทึกข้อตกลงที่เกิดขึ้นให้เป็นหลักสูตรเฉพาะ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากภายในฟาร์มสู่มหาวิทยาลัยในพื้นที่

ม.ท้องถิ่น ร่วมมือเอกชนสร้างหลักสูตรด้านอาชีพ

วันที่ 3 เม.ย.65 เวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการทางด้านอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นแหล่งภูมิปัญญาเฉพาะทางประจำถิ่น ในการจัดทำเป็นหลักสูตรแบบเฉพาะทาง ในสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ที่จะมีการเรียนการสอนจากฟาร์มผู้ผลิตลูกกุ้ง และฟาร์มเพาะพันธุ์ปลากะพงขาว ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับประเทศ

ร่วมมือกันจัดหลักสูตรอาชีพ

ตามโครงการปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษา และการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน ประจำปีงบประมาณ 2565 หลังจากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ประกาศ ลงวันที่ 1 มี.ค.65 กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกตามโครงการนี้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

เข้าไปเรียนรู้ในฟาร์ม

ให้ได้รับเงินทุนสนับสนุนในการพัฒนาหลักสูตรตามข้อกำหนดของโครงการ(TOR) และรายละเอียดงบประมาณ เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับจากการจัดสรร ทำเป็นข้อตกลงความร่วมมือ หรือการลงนามเอ็มโอยู (MOU) ร่วมกับสถานประกอบการในการพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษาเชิงบูรณาการระหว่างการเรียนรู้ในสถานศึกษากับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ

แหล่งอนุบาลปลาใหญ่ที่สุดในประเทศ

และเปิดโอกาสให้นักศึกษาในสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ได้เรียนรู้และสร้างประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติงานจริง ตอบโจทย์การเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ และยังเป็นการสร้างสมาร์ทพีเพิ้ลที่มีความสามารถในกลุ่มอาชีพเกษตร ในการนำมาประยุกต์ใช้ทั้งทางด้านแนวคิด ทฤษฎี และการเติมเต็มระหว่างความรู้จากภายในมหาวิทยาลัย และสถานประกอบการจริงให้แก่นักศึกษาปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีการเกษตร ชั้นปีที่ 3 และ 4

เรียนรู้การอนุบาลปลา

ที่นอกจากจะได้รับการเรียนรู้จากภายในห้องเรียนแล้ว ยังจะได้รับความรู้จากในสถานประกอบการจริง ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพทางทักษะวิชาชีพให้แก่นักศึกษา ที่เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการประสานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนได้อย่างสอดคล้องและตรงตามเป้าประสงค์ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย และสหกิจศึกษา

เข้ามาเรียนรู้ในฟาร์ม

ที่จะได้นำของดีมีคุณภาพสูงจากภายในจังหวัด ซึ่งเป็นต้นทุนทางภูมิปัญญา และต้นทุนทางนวัตกรรมที่มีอยู่ของคน จ.ฉะเชิงเทรา มาถ่ายทอดสู่สาธารณชนและสถานศึกษา ตลอดจนในภาพรวมของประเทศ จึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลง หรือการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกันขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 1 เม.ย.65 ที่ผ่านมา รศ.ดร.ดวงพร กล่าว

ฝึกจากประสบการณ์จริง

ขณะที่ นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อายุ 65 ปี ผู้ประกอบการฟาร์มผลิตเพาะพันธุ์ลูกกุ้งกุลาดำ และกุ้งก้ามกาม “บรรจงฟาร์ม” ตั้งอยู่เลขที่ 59 ม.3 ต.บางซ่อน อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีประสบการณ์ทางด้านอาชีพเฉพาะทางมานานกว่า 39 ปี กล่าวว่า จ.ฉะเชิงเทรา ถือเป็นแหล่งผลิตเพาะพันธุ์ลูกกุ้งมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนาน จึงเป็นอาชีพที่มีอนาคต และมีโอกาสเติบโตทางด้านเศรษฐกิจต่อไปได้อีกมาก

ฟาร์มชั้นนำระดับประเทศ

ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ศึกษาได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และได้สัมผัสฝึกประสบการณ์ด้วยมือตนเอง จากการเข้ามาเห็นด้วยตาในสถานที่จริง เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้จากภายในฟาร์มระดับมาตรฐาน เพื่อนำไปใช้จริงในการประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งความสำเร็จของผู้ศึกษานั้นขึ้นอยู่กับความสนใจ และการเอาใจใส่ที่จะเรียนรู้ของผู้เรียนเอง ว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตรงจากทางฟาร์ม ที่เรายินดีจะถ่ายทอดให้ทั้งหมดตลอดทั้งกระบวนการ

ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงกุ้ง

ซึ่งมีสิ่งที่น่าศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านของการจัดการฟาร์ม การเพาะเลี้ยง และการทำตลาด การแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขณะที่ฟาร์มแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของชาวต่างชาติ และกรมประมงด้วย จนถือได้ว่าเป็นประตูของการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมงอีกแห่งหนึ่งด้วย โดยที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้นถือเป็นพื้นที่เฉพาะ ที่สามารถผลิตสัตว์น้ำได้อย่างหลากหลายชนิด และยังมีเทคนิคเฉพาะตัวอีกส่วนหนึ่งเป็นองค์ประกอบด้วย

แหล่งผลิตปลากะพงยักษ์

ที่ผ่านมา จ.ฉะเชิงเทรา มีผลผลิตลูกกุ้งในปริมาณมากถึงเดือนละ 5,000 ล้านตัว หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของการผลิตทั่วทั้งประเทศ ส่วนภาพรวมในอนาคตนั้น ในฐานะที่ตนเป็นอุปนายกสมาคมกุ้งไทย และประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย ได้มีความคาดหวังว่าในอนาคตเกษตรกรไทยจะต้องผลิตกุ้งให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตันต่อปี โดยในปัจจุบันนั้นเกษตรกรยังทำได้เพียง 2.5 แสนตันต่อปี นายบรรจง กล่าว

แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น

ขณะที่ นายสุทธิ มะหะเลา อายุ 54 ปี ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงและอนุบาลลูกพันธุ์ปลากะพงขาว “บุญสว่างฟาร์ม” ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าโรงไฟฟ้าบางปะกง กล่าวว่า จ.ฉะเชิงเทรา ถือเป็นจังหวัดที่มีการเพาะเลี้ยงและอนุบาลลูกพันธุ์ปลามากเป็นอันดับหนึ่งของไทย หรือคิดเป็นปริมาณผลผลิตที่ออกไปมากถึงร้อยละ 90 ของประเทศ จึงถือเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.สองคลอง อ.บางปะกง

ปลากะพง 1 ตัวทำอะไรได้บ้าง

นอกจากนี้ในการเพาะเลี้ยงปลาเนื้อหรือปลากะพงยักษ์ ยังเป็นแหล่งผลิตที่มีผลผลิตมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศอีกด้วยเช่นเดียวกัน ที่ประมาณ 8 หมื่นถึง 1 แสนตันต่อปี จากประสบการณ์ที่ได้ประกอบอาชีพนี้มานานถึงกว่า 27 ปี จนเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาขนาดใหญ่ระดับแถวหน้าของประเทศนั้น ถือได้ว่าทางฟาร์มของเรามีความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ สู่ผู้ที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่มีการปิดกั้นองค์ความรู้ใดๆ

ปลากะพงแปรรูป

และจะทำหน้าที่ส่งผ่านการเรียนรู้ไปจนถึงในระดับที่ว่า ปลากะพงขาว 1 ตัวนั้น สามารถที่จะนำไปประกอบเป็นอาชีพอะไรได้บ้าง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ด้วย ภายใต้แนวความคิดที่ว่า หากเราต้องการที่จะประกอบอาชีพอะไรแล้ว เราจะต้องคิดอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร โดยตนยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้สู่สถาบันการศึกษาและนักศึกษา ที่เข้ามาเรียนรู้ในทุกองค์ประกอบของอาชีพนี้ นายสุทธิ กล่าว

การนำผลผลิตออกสู่ตลาด

ผลิตภัณฑ์จากปลากะพง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน