X
เรือไฟฟ้าโดยสารของกลุ่มอีเอ

ทุนยานยนต์ไฟฟ้าเนื้อหอม ทูตสวิสพร้อม รมว.ทส.หนุนผลิตเข้าตลาดร้อยละ 30 ในปี 73

ฉะเชิงเทรา – ทุนยานยนต์ไฟฟ้าเนื้อหอม หลังทูตสมาพันธรัฐสวิสพร้อม เลขา สผ. และ รมว.ทส. ร่วมลงนามผ่านระบบการสื่อสารออนไลน์หนุนการเปลี่ยนแปลงต่อสภาวะสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าผลักดันการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้เติบโตมากกว่าร้อยละ 30 ใน 9 ปีหรือ 7.5 แสนคันในปี 2573 รวม 3 ระยะ

วันที่ 28 พ.ค.64 เวลา 19.03 น. ผู้สื่อข่าวได้รับข้อมูลจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า กลุ่มทุนที่เข้ามาก่อตั้งโรงงานในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ว่าในวันนี้ได้มีพิธีการลงนามแถลงการณ์ความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่าง ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับนางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา (H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย

เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิส

ภายในเรือโดยสารไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทอีเอ ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า บริเวณท่าเทียบเรือของ บ.โทรคมนาคมแห่งชาติ กรุงเทพฯ โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมี นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ (EA) มาร่วมในพิธีลงนามครั้งนี้ด้วย

ลงนามเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หลังพิธีลงนาม นางเฮเลเนอ กล่าวถึง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานกลางเพื่อสิ่งแวดล้อมของสมาพันธรัฐสวิสว่า ได้มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และข้อตกลงปารีสของราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส

ลดมลพิษในอากาศ

ที่ได้ดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาให้มีความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ โดยทั้งสองประเทศได้ส่งผลงานตามข้อกำหนดระดับประเทศฉบับปรับปรุงในปี 2563 ที่สะท้อนถึงการพัฒนาและความก้าวหน้าไปอย่างมาก และมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573

ลดมลพิษในอากาศ

โดยที่ทางรัฐสภาสวิส ได้กำหนดตั้งเป้าให้ภาวะเรือนกระจกลดลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 75 จึงได้นำยุทธศาสตร์การพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวของสวิตเซอร์แลนด์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศที่ได้ตกลงความร่วมมือกัน เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 นางเฮเลเนอ ระบุ

ด้านนายวราวุธ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และกระตุ้นให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญ ความจำเป็นและประโยชน์จากการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดมลพิษในอากาศในระยะยาว โดยเฉพาะการปล่อยมลพิษของรถยนต์สันดาปภายใน จึงเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือกให้เกิดขึ้น รวมถึงทำให้เกิดเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ๆ และการออกกฎหมายเพื่อควบคุมมลพิษจากยานยนต์

หวังช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก

โดยที่ประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแนวทางของ NDC Roadmap ว่า ด้วยการบรรเทาผลกระทบ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2564-2573 และแผนปรับตัวแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 จากระดับ BAU ที่คาดการณ์ไว้ภายในปี 2573 โดยจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นข้อกำหนดสำหรับภาคเอกชน และการอนุมัติแผนงานยานยนต์ไฟฟ้าฉบับปรับปรุงในการเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2573

เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า

ซึ่งจะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้นระหว่างปี 2563-2565 ที่จะผลิตรถที่ใช้ทางราชการ รถสาธารณะ และรถจักรยานยนต์สาธารณะจำนวน 60,000 – 110,000 คัน ส่วนระยะกลางระหว่างปี 2564-2568 จะผลักดัน ECO EV จำนวน 100,000 – 250,000 คัน และผลักดันสมาร์ทซิตี้ บัส จำนวน 300,000 คัน สำหรับระยะยาวในปี 2569 – 2573 จะให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นประมาณ 750,000 คัน นายวราวุธ กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน