X
เดิมมีแต่ท้องทุ่งนา ป่าจาก

ลุงสงัด ผู้ขวางสร้างนิคมฯ บลูเทคถอย หลังกระแสรอบข้างพลิกหนุน

ฉะเชิงเทรา – ลุงสงัด ผู้ยื่นศูนย์ดำรงธรรมขวางสร้างนิคมฯ “บลูเทคซิตี้” ยอมถอยหลังกระแสรอบข้างจากเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน 2 ฝั่งลำน้ำบางปะกงรวม 2 ครั้งจาก 17 ตำบลในรัศมี 5 กม. เมื่อวันที่ 30-31 ต.ค.ที่ผ่านมาพลิกกลับมีแต่เสียงหนุนไร้สิ้นเสียงคัดค้าน ก่อนเข้าถอนแจ้งความร้องทุกข์จาก สภ.บางปะกง เผยยอมรับหลงผิด แต่อยากขอเงินชดเชยเยียวยาค่ารื้อถอนบ้านเรือนออกไปจากพื้นที่

วันที่ 2 พ.ย.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้เดินทางเข้าพบ นายสงัด โพธิ์ดี อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41 ม.3 ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ที่เคยเป็นแกนนำพาชาวบ้าน ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ออกมาเคลื่อนไหวยื่นหนังสือร้องเรียนต่อทางศูนย์ดำรงธรรม จ.ฉะเชิงเทรา ว่าถูกกลุ่มนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินกว่า 2 พันไร่ เพื่อเตรียมก่อสร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรมริมฝั่งลำน้ำบางปะกง เลียบถนนสาย 7 มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-พัทยา ฝั่งทิศใต้จนได้รับผลกระทบจากการถูกขับไล่ที่ดินทำกิน

และต่อมาทางผู้บริหารโครงการ “บลูเทคซิตี้” ได้มีการชี้แจงและให้สัมภาษณ์ต่อทางผู้สื่อข่าว โดยอ้างว่าทางโครงการได้เข้าไปเจรจาพูดคุยต่อชาวบ้าน จนมีชาวบ้านเข้าไปขอถอนแจ้งความร้องทุกข์เกี่ยวกับข้อร้องเรียนต่างๆ จนเกือบหมดทุกรายแล้วนั้นมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ขอค่าเยียวยา

นายสงัด ได้กล่าวยอมรับต่อผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมานั้นตนเองได้หลงผิดที่เดินตามนักเคลื่อนไหว ผู้ที่เข้ามาชักจูงจนนำไปสู่การออกไปร้องเรียนต่อทางศูนย์ดำรงธรรม ตลอดจนมีการเข้าไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางปะกง ครั้งแรกที่ยอมเดินตามเขาไปนั้น เนื่องจากเพราะอยากจะเรียนรู้ว่าตรงจุดไหนที่พอจะช่วยเหลือพวกตนได้หากถูกขับไล่ที่ดินทำกิน

แต่ตอนนี้ตนถอยหลังแล้ว เพราะรู้ว่าตรงไหนช่วยได้อย่างไร ตอนนั้นที่ไปเพราะอยากจะเข้าไปถามไปคุยว่าจะไปได้อย่างไร จะสู้ได้อย่างไร และตอนนั้นครอบครัวตนมีผู้ป่วยติดเตียงอยู่ด้วยจึงอยากให้นักข่าวเข้ามาถ่ายเข้ามาดูว่าเป็นอย่างไร มีจริงหรือไม่ และอยู่กันอย่างไร เพราะอยากได้ความช่วยเหลือ และตอนนี้ทางบริษัทก็ได้เข้ามาพูดคุยว่าจะช่วยเหลือซึ่งตนก็ยินดีที่จะรับฟังตกลงกัน

บ้านในพื้นที่บลูเทค

ที่ผ่านมานั้นยังไม่เคยมีใครเข้ามาพูดหรือเข้ามาไล่ แต่ต้องวางแผนกันไว้ก่อนว่าจะไปอยู่กันตรงไหนเงินค่ารื้อบ้านจะได้หรือไม่ นี่เป็นเหตุผลที่ตนทำไป เพราะเป็นห่วงกังวลว่าจะไม่มีทุนในการย้ายบ้าน หากได้ทุนในการรื้อถอนโยกย้ายบ้านพอสมควรที่จะไปได้พวกเราก็จะไปกัน ไม่ได้ไปขวางอะไรเขาสักอย่าง ซึ่งตนก็เข้าใจว่าบริษัทนี้มาจากไหนลงทุนไปอย่างไรแล้วบ้าง

โดยในพื้นที่แปลงที่บ้านตนตั้งอยู่นั้นมีเนื้อที่ทั้งหมด 47 ไร่ 2 งาน 22 ตรว. มีบ้านเรือนตั้งอยู่ทั้งหมด 9 หลัง และมีคนอยู่รวมกันกว่า 30 คน โดยมีทะเบียนบ้าน 4 หลัง ตรงกลุ่มนั้นทั้งหมดได้มีการเรียกร้องขอค่าชดเชยในการรื้อถอนเป็นเงินจำนวน 4 ล้านบาทส่วนของครอบครัวตนเรียก 4 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ระกว่างการเจรจาตกลงกันว่าจะตกลงกันได้อย่างไร

เหลืออีก 4 ราย 9 หลังยังไม่ย้าย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเคยทำนาอยู่ในพื้นที่มากี่ปีได้ผลผลิตเป็นอย่างไรบ้าง นายสงัด ตอบว่าตนทำนาอยู่ในพื้นที่ดินผืนนี้มากว่า 20 ปี ได้ข้าวปีละประมาณ 21-22 เกวียน เพราะทำนาได้จริงเพียงปีละ 1 ครั้งบนเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ เนื่องจากรถไถลงไปในพื้นที่บางจุดไม่ได้ แต่บางปีมีน้ำเค็มเข้านาก็ไม่ได้ผลผลิต

“ความจริงแล้วตนเองก็ไม่ได้อยากไปคัดค้านอะไรหรอก เพราะจะไปคัดค้านเอาเรื่องอะไรขึ้นมา ตนเพียงอยากเรียกร้องค่าชดเชยจากทางฝ่ายผู้เป็นเจ้าของที่ดินรายเดิม ที่ไม่ได้ให้ตนได้ใช้สิทธิจากการเช่าที่ดินทำนาเลย และขายไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้เพราะรวดเร็วมาก” ส่วนเจ้าของที่ดินในปัจจุบันเขาก็ไม่ทราบมาก่อนว่า มีบ้านของตนและเครือญาติอยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เขาจึงไม่ได้เข้ามาพูดคุยตั้งแต่แรก นายสงัด กล่าว

ยังคงอยู่ในพื้นที่

ขณะที่ นางพับพึง หิรัญรัตน์ อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 20/1 ม.3 ต.เขาดิน กล่าวว่า ที่ตนยังคงอยู่ในพื้นที่ดินแปลงนี้และยังไม่ย้ายไปไหน เพราะยังรอเงินค่ารื้อถอน และค่าเยียวยาที่อยู่ที่ทำกินทั้งหมดรวม 4 ครอบครัวในแต่ละครอบครัวมีผู้อยู่อาศัย 6-7 คน ตามทะเบียนบ้านจึงอยากจะได้ค่าเยียวยาครอบครัว 1 ล้านบาท และขณะนี้ตนยังไม่ได้เข้าไปถอนแจ้งความ เพราะยังรออยู่หากได้เงินค่ารื้อถอนเยียวยาเมื่อใดแล้วจึงจะไปถอนแจ้งความ

สำหรับครอบตัวตนได้แบ่งที่ดินจากผู้เป็นน้าเขย ซึ่งเป็นผู้เช่านาอยู่กับเจ้าของที่ดินเดิม ทำนาจำนวน 2-3 ไร่และปล่อยปลาลงในแปลงนาพอได้ใช้ได้กินไปในครอบครัวไม่ได้ขายผลผลิต “ส่วนการแจ้งความดำเนินคดีนั้นได้แจ้งความดำเนินคดีต่อทางเจ้าของที่ดินเดิมก่อนที่จะขายให้แก่ทางบริษัทไป หากยังไม่ได้เงินเราก็จะอยู่กันอย่างนี้แหละ ไม่รู้ว่าจะไปไหนเพราะพวกเราไม่มีปัญญาไปไหน ก็ยังต้องอยู่อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆโดยไม่รู้ว่าเขาจะมาถมที่ดินเมื่อใดก็ยังไม่รู้” นางพับพึง กล่าว

นางพับพึง หิรัญรัตน์

และกล่าวว่า ตนเองต้องการให้เจ้าของที่ดินรายเดิมเข้ามาช่วยดูแล หรือจ่ายค่าชดเชยเยียวยาในการรื้อถอนย้ายบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้เท่านั้น และเข้าใจว่าทางเจ้าของที่ดินรายใหม่นั้นไม่ทราบว่ามีบ้านของตนอยู่ในที่ดินแปลงนี้ด้วย นางพับพึง กล่าว

ด้านนางอำไพ พ่วงรักษา อายุ 64 ปีอยู่บ้านเลข 54 ม.1 ต.เขาดิน กล่าวว่า ตนนั้นเคยมีบ้านเรือนอยู่ในที่ดินแปลงนี้ เมื่อจะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม บลูเทค ซิตี้ เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นตนก็ถือว่าดี เพราะบ้านเราจะได้เจริญ สำหรับตนเองไม่เคยออกไปเรียกร้องคัดค้านอะไรกับเขา เพราะคิดว่าเขาช่วยมาสร้างความเจริญให้ก็ดีอยู่แล้ว หมู่บ้านของเราจะได้มีความก้าวหน้า ลูกหลานจะได้ทำงานอยู่ตรงนี้อยู่ใกล้ๆบ้าน การค้าการขายก็จะดีเพราะมีผู้คนเข้ามาในพื้นที่มาก

ยังอยู่กันต่อ

ตนจึงเห็นด้วยที่จะให้มีนิคมฯ แห่งนี้เกิดขึ้น ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยได้รับผลกระทบอะไรจากการทำโครงการ ส่วนคนที่ออกไปคัดค้านก่อนหน้านี้ตนก็รู้จักเพราะเป็นคนในพื้นที่เดียวกัน แต่เมื่อเขาขายที่ดินไปแล้วเราก็จำเป็นจะต้องออกไป เพราะเราไม่ใช่เจ้าของที่ดิน และเขาก็ได้ให้ค่ารื้อถอนกับเราแล้ว เมื่อเขาขายแล้วเราก็พร้อมที่จะไป เขาไม่ได้มาไล่เราไปเฉยๆ โดยขณะนี้ตนได้รื้อบ้านออกไปหมดแล้ว นางอำไพ กล่าว

ขณะที่ นายสำราญ สุขโสภณ อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 9809 ม.4 ต.บางวัว อ.บางปะกง กล่าวถึงความกังวลต่อปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจนส่งผลในอนาคต ในเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่รอบข้างในรัศมี 5 กม. ด้านฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำบางปะกง ที่ห้องประชุมที่ว่าการ อ.บางปะกง รวม 7 ตำบล (ต.ท่าสะอ้าน บางวัว บางปะกง บางสมัคร บางเกลือ หนองจอก และแสนภูดาษ) เมื่อวันที่ 31 ต.ค.61 ที่ผ่านมาโดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า 660 คน ในวันนั้นว่า

พื้นที่สร้างนิคม

ตนไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างนิคมฯ บลูเทค ซิตี้ แต่มีความเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ ที่เคยประกอบอาชีพมาก่อนอย่างยาวนาน และหากมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามาดำเนินกิจการในพื้นที่ ก็อาจมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และอาจจะเกิดปัญหาด้านการจราจรเพิ่มมากขึ้น จึงอยากถามถึงมาตรการในการดูแลในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วยว่ามีแผนในการรองรับไว้อย่างไรบ้าง นายสำราญ กล่าว

ขณะที่ นางอักษร บุญรอด อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3/13 ม.5 ต.ท่าสะอ้าน อ.บางปะกง กล่าวว่า ในอดีต ต.เขาดิน บ้านเรานั้นเงียบเหงามาก มองไปทางไหนก็มีแต่ป่าจากและท้องนา โดยตนมองว่าสิ่งแรกที่จะได้จากการมีนิคมฯใกล้บ้าน คือ เด็กๆในหมู่บ้านจะได้ไม่ต้องเดินทางไปทำงานไกลยังที่อื่น และมีการกระจายรายได้ลงมาสู่หมู่บ้านของเรา จึงอยากให้ทุกคนนั้นคิดในสิ่งดีๆ มีความสร้างสรรค์ ให้กับหมู่บ้านชุมชนของเรา และตัวเราเองด้วย นางอักษร กล่าว

รอค่ารื้อถอน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน