X
อุปสรรคการพัฒนาพื้นที่

ศึกแย่งน้ำ ปัญหาใหญ่อีอีซี ชลประทานตั้งวงถกร่วมผู้ใช้น้ำ

ฉะเชิงเทรา – ศึกแย่งน้ำ ปัญหาใหญ่พื้นที่การพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ชลประทานตั้งวงถกคณะกรรมการผู้ใช้น้ำคลองท่าลาด ร่วมการประปาส่วนภูมิภาค หลังอ่างเก็บน้ำในพื้นที่มีปริมาณน้ำน้อย หรือต่ำสุดในรอบกว่าสิบปี พร้อมเสนอแผนการสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มในพื้นที่ตอนล่างอีก 3 แห่ง และการผันน้ำจากคลองพระสะทึงเข้ามาสำรองภาวะวิกฤตในอนาคต

วันที่ 28 พ.ย.62 เวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานฉะเชิงเทรา ต.บ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กรมชลประทานนำโดย นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 9 ซึ่งรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการน้ำทั่วทั้งภาคตะวันออก พร้อมด้วย นายวิทยา สามสุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการประปาส่วนภูมิภาค เขต 1 ซึ่งดูแลการประปาส่วนภูมิภาค 7 จังหวัดภาคตะวันออก

ชลประทานภาคชี้แจง

ได้จัดเวทีการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำ เพื่อรับฟังปัญหาและชี้แจงทำความเข้าใจ ตอบข้อซักถามต่อคณะกรรมการผู้ใช้น้ำคลองท่าลาด จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแควระบมสียัด และคลองท่าลาด เข้ามาร่วมรับฟังปัญหา หลังเกิดภาวะวิกฤตจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก มีปริมาณน้ำน้อย

ปัญหาใหญ่ อีอีซี

คือ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ที่มีปริมาณน้ำในอ่างเหลืออยู่เพียงร้อยละ 40 ของความจุ หลังจากสิ้นสุดฤดูฝนในปีนี้ หรือมีน้ำเหลืออยู่ในอ่างเก็บน้ำแค่เพียง 140 ล้าน ลบม. จากความจุ 420 ล้าน ลบม. และอ่างเก็บน้ำคลองระบม มีปริมาณน้ำ 32 ล้าน ลบม. จากความจุ 55 ล้าน ลบม. จึงทำให้ทาง สำนักงานชลประทานที่ 9 และโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา ต้องมีการจัดสรรน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่

นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค

โดย นายเกรียงศักดิ์ เปิดเผยว่า การจัดสรรน้ำในปีนี้ได้มุ่งเน้นการจัดสรรใช้น้ำตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทาน โดยกันน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคก่อนมากกว่าด้านอื่นๆ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการ และมีน้ำรักษาระบบนิเวศเป็นสำคัญ จากนั้นจึงมาดูในเรื่องของการเกษตร ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน คือ เกษตรฤดูแล้งและน้ำที่ต้องใช้ในการเตรียมแปลงในช่วงฤดูฝนต่อไป

แหล่งน้ำไม่เพียงพอ

จึงต้องใช้เวทีของการมีส่วนร่วมในลักษณะนี้มาพูดคุยกัน ว่า เรามีน้ำอยู่ประมาณ 40 ล้าน ลบม.ที่จะใช้ในการเกษตรได้ ทางภาคเกษตรกรจึงต้องเอาน้ำที่เหลืออยู่ 40 ล้าน ลบม.นี้ ไปวางแผนกำหนดการใช้น้ำให้เพียงพอจนถึงช่วงสิ้นสุดฤดูแล้ง และมีน้ำไว้เตรียมแปลงในช่วงต้นฤดูฝนในฤดูกาลถัดไปด้วย เนื่องจากในปีนี้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมากถึงกว่าร้อยละ 50 และยังไปตกที่ด้านท้ายอ่างเป็นส่วนใหญ่โดยที่ไม่ได้ตกที่ด้านเหนืออ่าง

สงครามแย่งน้ำ

ขณะเดียวกันในแผนระยะยาว ทางกรมชลประทานได้เตรียมที่จะเสนอให้มีการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ทางตอนกลางของลุ่มน้ำขึ้นอีก 3 แห่ง ได้แก่อ่างเก็บน้ำคลองกระพง ใน ต.ท่ากระดาน มีความจุ 27.5 ล้าน ลบม. อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา มีความจุ 19.20 ล้าน ลบม. และอ่างเก็บน้ำหนองกระทิง ใน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา มีความจุ 15 ล้าน ลบม. รวมปริมาณน้ำที่จะสามารถทำการกักเก็บได้จากทั้ง 3 อ่าง ประมาณ 70 ล้าน ลบม.

ต้องสร้างแหล่งน้ำใหม่

เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในด้านสาธารณูปโภค หรือรองรับการผลิตน้ำประปาใช้ในพื้นที่เขตการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้อย่างเพียงพอในอนาคต นอกจากนี้ยังได้มีการเตรียมศึกษาแผนการสร้างอุโมงค์ใต้ดิน เพื่อผันน้ำลอดใต้เขามาจากอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว เพื่อส่งน้ำเข้ามาเก็บไว้ยังที่อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ที่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเฉลี่ยเพียงประมาณ 280 ล้าน ลบม.ต่อปี จากความจุ 420 ล้าน ลบม.

มาขอน้ำใช้

จึงมีพื้นที่ว่างมากถึงกว่า 100-120 ล้าน ลบม. ในการรองรับการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และรองรับความต้องการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การประปา การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม รวมทั้งโครงการอีอีซี ด้วย ซึ่งเป็นแผนในระยะเวลา 20 ปี ขณะนี้โครงการดังกล่าวเป็นแผนที่ได้มีการศึกษาเบื้องต้นไว้ ในรายงานการศึกษาท่าลาดคลองหลวงแล้ว

หาแหล่งน้ำ

ระยะต่อไปจะดึงแผนนี้มาศึกษาในเรื่องของความเหมาะสมในรายละเอียดการออกแบบ และศึกษาอีไอเอ เนื่องจากเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน หากมีความเหมาะสมจึงจะทำเรื่องขอใช้พื้นที่ต่อไป ซึ่งจะอยู่ในแผนปี พ.ศ.2569 เนื่องจากทางลุ่มน้ำคลองพระสะทึง มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างมากถึงเกือบ 200 ล้าน ลบม. แต่อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึงสามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 65 ล้าน ลบม .

ผู้ใช้น้ำเอกชน

จึงทำให้น้ำส่วนที่เหลือไหลลงมาท่วมในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ในทุกๆ ปี แต่ยังคงติดขัดปัญหาทางด้านผลกระทบด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากต้องทำอุโมงค์น้ำลอดผ่านใต้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

นายทองหล่อ เฉยสวัสดิ์

ขณะเดียวกันนายทองหล่อ เฉยสวัสดิ์ คณะกรรมการผู้ใช้น้ำคลองท่าลาด ได้กล่าวซักถามต่อที่ประชุมว่า หลัง จ.ฉะเชิงเทรา ได้ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในสามจังหวัด ของเขตพื้นที่การพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และกำลังจะมีประชากรเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกมากถึงกว่า 5 ล้านคนนั้น ทางการประปาส่วนภูมิภาคมีแผนอย่างไรในการรับมือหากน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักมีน้อยหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ

จัดหาแหล่งน้ำประปา

ซึ่งทางการประปาได้ตอบในที่ประชุมว่า ยังไม่มีแผนรองรับในระยะยาวในการจัดสรรหาแหล่งน้ำดิบ หรือแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปา แต่ได้มีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำแห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 4,000 ลบม.ต่อ ชม.ไว้ที่สถานีสูบน้ำคลองท่าลาด ซึ่งจะสูบน้ำจากโครงการชลประทานคลองท่าลาด ที่ ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อจ่ายน้ำให้แก่การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพนมสารคาม บางคล้า และพนัสนิคม จ.ชลบุรี โดยมีความต้องการใช้น้ำจากโครงการชลประทานประมาณ 28-30 ล้าน ลบม. ต่อปี

โจทย์ใหญ่การประปา

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน