X

ปัตตานี- ชาวประมงนับร้อยเดินถือป้ายบุกศาลากลางยืนหนังสือต่อผู้ว่าฯ ขอความเป็นธรรม พร้อมให้ รอง เลขาฯ ศอ.บต.ออกไปจากพื้นที่ ด้าน ศอ.บต.ร้อนร่อนหนังสือชี้แจงทันที (มีคลิป)

ปัตตานี- ชาวประมงนับร้อยเดินถือป้ายบุกศาลากลางยืนหนังสือต่อผู้ว่าฯ ขอความเป็นธรรม พร้อมให้ รอง เลขาฯ ศอ.บต.ออกไปจากพื้นที่ ด้าน ศอ.บต.ร้อนร่อนหนังสือชี้แจงทันที

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 18 มกราคม ที่บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี ชาวประมงจังหวัดปัตตานีนับร้อยกว่าชีวิต ได้รวมตัวกันเพื่อประท้วงถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาของทาง ศอ.บต. ในโครงการให้รัฐรับซื้อเรือผ่าน ศอ.บต. การเยียวยาส่วนต่าง รวมไปถึงการที่มีผู้ที่บริหารจัดการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประมงจังหวัดปัตตานีที่ไม่สามารถจัดการปัญหาต่างๆของชาวบ้านที่ทำประมงจังหวัดได้  พร้อมแถลงปัญหาและข้อเรียกร้องต่อหน้าผู้สื่อข่าว

โดยชาวประมงจังหวัดปัตตานีได้รวมกลุ่มกันพร้อมป้ายไวนิลที่เรียกร้องไปถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และต้องการให้ทาง ดร.เจ๋ง หรือ ดร.ชนธัญ แสงพุ่มรองเลขาธิการ ศอ.บต. ออกไปจากการแก้ปัญหาของ จชต. และออกจาก ศอ.บต. อีกทั้งยังพร้อมใจกันเดินขบวนจากบริเวณลานหน้าศาลากลางไปยังด้านในของศาลากลางจังหวัดปัตตานี เพื่อต้องการยื่นหนังสือให้กับทางผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีโดยตรงโดยทางนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้ออกมารับหนังสือกับมือด้วยตัวเอง โดยมีนางอันน์เกตุ ลีลาไพบูลย์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี เป็นตัวแทนในการยื่นหนังสือต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัด และได้ส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยผ่านทางประธานกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ซึ่งมีนายเชื่อง ชาตอริยะกุล กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ด้านเศรษฐกิจเป็นคนมารับหนังสือต่อกลุ่มชาวประมง และทางกลุ่มยืนยันที่จะรอเพื่อฟังความคืบหน้าในการส่งตัวแทนเข้าไปประชุมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด

สำหรับปัญหาและข้อเรียกร้องที่กลุ่มชาวประมงปัตตานีได้แถลงนั้นได้มีนายยอดยิ่งจันทรโชติ เป็นตัวแทนในการแถลงโดยได้กล่าวว่า  พวกตนเหมือนโดนหลอกเพราะโครงการนำเรือออกนอกระบบที่ทาง ศอ.บต.สัญญาว่าจะเสร็จภายในสิ้นปีที่แล้ว แต่สุดท้ายก็ยื้อเวลาไปอีก ซึ่งจังหวัดปัตตานีอาชีพเส้นเลือดใหญ่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ก็มาจากการทำประมง พอประมงเริ่มล่มสลายออกไปจากระบบ ก็สร้างความเดือดร้อนต่อผู้คนที่สูญเสียอาชีพ อีกทั้งบางคนถึงขั้นฆ่าตัวตายเพราะหนี้สินรุมเร้า ซึ่งสุดท้ายทางเราได้เสนอโครงการรับซื้อเรือคืนโดยมีทาง ศอ.บต.เป็นงานในโครงการนี้ แต่ทางศอ.บต.โดยเฉพาะดร.ชนธัญ แสงพุ่ม. รองเลขาธิการ ศอ.บต.ที่เป็นคนบริหารโครงการซึ่งเหมือนทางท่านจะทำไม่เป็น ไม่กล้าทำ หรือทำไม่ได้ ซึ่งทางพวกเราสงสัยว่ามันมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่ เพราะมันเกิดความล่าช้า โดยทางพวกเราอยากจะรู้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมามันติดขัดตรงไหน เหมือนกับท่านหลอกเราที่เป็นตัวแทนชาวประมงและให้เราไปหลอกกับชาวบ้านที่ทำประมงที่คาดหวังอยู่แบบนั้น ซึ่งมันไม่เป็นธรรม

พวกเราต้องการคนที่แก้ปัญหาได้จริง ไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่ม และแก้ไขปัญหาเดิมให้ลดลง ซึ่งโครงการนี้มันเหมือนผูกติดกับ ศอ.บต. ไปแล้ว ตนจึงอยากเรียกร้องว่าให้จ่ายเงินฟื้นฟู แต่จะไม่รอไปถึงทั้งปี เพราะเรารอมานานแล้ว และการเยียวยาในการสูญเสียโอกาส เพราะทางท่านบอกว่าทำโครงการตั้งแต่ปี 62 ซึ่งเรือที่จะท่าง ศอ.บต.จะซื้อกลับก็ถูกการประเมิน แต่เมื่อเรือถูกจอดทิ้งไว้ 3-4 ปี ท่านจะมาประเมินแล้วตัดงบตรงนั้นไปอีกด้วยความเสื่อมสภาพ ทางพวกเราคิดว่ามันไม่ยุติธรรม และต้องการเอาคนที่ไม่คิดจะทำ และทำไม่ได้  และทำลาย จชต.ออกไป ซึ่งขอระบุเลยว่า ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ทางเราไม่ต้องการ เพราะท่านไม่รู้บทบาทตัวเอง

ขณะเดียวกัน ภายหลังชาวประมงได้ยื่นหนังสื่อต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นั้นปรากฏว่า ล่าสุด ทาง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกหนังสือชี้แจงกรณีสมาคมประมงจังหวัดปัตตานี ได้มีการรวมกลุ่มยื่นหนังสือเรียกร้องเงินค่าชดเชยในส่วนของการนำเรือประมงออกนอกระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ยืนยันทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนพร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่

โดยหนังสื่อชี้แจง ระบุว่า ตามที่สมาคมประมงจังหวัดปัตตานี ได้มีการรวมกลุ่มยื่นหนังสือ เพื่อเรียกร้องเงินค่าชดเชยในส่วนของการนำเรือประมงออกนอกระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น

ศอ.บต. ขอชี้แจงว่า ศอ.บต. ได้รับทราบปัญหา และ หาแนวทางในการช่วยเหลือชาวประมงมาอย่างต่อเนื่องโดยได้นำเรียนปัญหาดังกล่าวไปยังรัฐบาลเพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างดีที่สุด ที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาได้มีการประชุมอนุกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยที่ประชุมมีมติ เห็นชอบดังนี้

1. เห็นชอบโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีเร่งด่วน (เรือชุดที่ 1) ตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการเยียวยาตามมาตรการลดจำนวนเรือประมงเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เห็นชอบผลการตรวจสอบประวัติ ความถูกต้อง และคุณสมบัติเรือประมงและเจ้าของเรือพื้นที่จังหวัดปัตตานี และผลการประเมินราคาค่าชดเชยเรือประมงที่เข้าร่วมโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีเร่งด่วน (เรือชุดที่ 1) ของกลุ่มเรือประมงที่รับการประเมินสภาพเรือ จำนวน 97 ลำงบประมาณรวมทั้งสิ้น 166,723,800 บาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นำเกณฑ์และคุณสมบัติของเรือประมงและเจ้าของเรือที่จะนำออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน (กลุ่มเรือ 1,776 ลำ) เพื่อให้เป็นเกณฑ์และคุณสมบัติเดียวกัน (โดยให้ปรับเกณฑ์และคุณสมบัติเพียงเกณฑ์สีขาว และดำ เท่านั้น จากเดิมที่มี ขาว เทา และดำ) และส่งผลการจัดกลุ่มเรือเสนอให้กรมประมง เพื่อกรมประมงในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เสนอให้ประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเพื่อพิจารณานำเรื่องเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติพร้อมกับเรือที่จะนำออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน (กลุ่มเรือ 1,776 ลำ) ที่กรมประมงดำเนินการ

2. มอบหมายให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเยียวยาซื้อเรือประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและเป็นหน่วยดำเนินการจ่ายเงินชดเชยการลำลายเรือประมงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่จะกำหนดไว้ต่อไป

3. จังหวัดปัตตานีในฐานะประธานคณะทำงานด้านการตรวจสอบประวัติ ความถูกต้องและคุณสมบัติเรือประมงและเจ้าของเรือพื้นที่จังหวัดปัตตานี (คทน.ตรป.) กำหนดจัดประชุมเพื่อพิจารณาจัดกลุ่มเรือประมงที่เข้าร่วมโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีเร่งด่วน (เรือชุดที่ ๑) โดยนำเกณฑ์และคุณสมบัติของเรือประมงและเจ้าของเรือที่จะนำออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน (กลุ่มเรือ 1,776 ลำ) เพื่อนำผลเข้าสู่การประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเยียวยาตามมาตราการลดจำนวนเรือประมงเพื่อจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะกำหนดประชุมในวันที่ 20 มกราคม 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอให้กรมประมงในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติต่อไป

อย่างไรก็ตามในการเสนอของศูนย์อำนวยการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีเรือสีเทาอีก4 ลำที่จำเป็นจะต้องปรับให้เป็นขาวหรือดำเท่านั้นโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มิได้นิ่งนอนใจในการดำเนินการปฏิบัติตามที่นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบเป็นหลักการตามที่สำนักงบประมาณเสนอไว้แล้วนั้นก็ได้เร่งรัดพิจารณาจากประชุมเป็นการเร่งด่วนเนื่องจากเรือตามโครงการของ ศอ.บต. มีเรือสีเทา 4 ลำ ที่จำเป็นจะต้องปรับสีตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดเพื่อที่จะนำผลสรุปที่ประชุมเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ

การดำเนินการข้างต้น ศอ.บต. ขอเรียนว่าเป็นไปตามขั้นตอนที่ส่วนราชการได้กำหนดร่วมกันซึ่ง ศอ.บต. เป็นส่วนราชการหนึ่งที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติที่ส่วนราชการในฐานะหน่วยบังคับใช้กฎหมายกำหนด นั่นคือ การเสนอเรื่องไปยังอนุกรรมการกลั่นกรอง 1  และคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติตามลำดับซึ่งเป็นหลักการและแนวทางปฏิบัติของประเทศเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นมาตรฐานการปฏิบัติเช่นเดียวกันทั้งประเทศ

ศอ.บต และรัฐบาล ขอเรียนว่าทุกส่วนราชการได้เร่งรัดการดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเต็มที่แต่อาจจะมีความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารบางขั้นตอนการดำเนินการจากผู้บริหารที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปสู่ความเข้าใจว่าจะสามารถเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติอีก เนื่องจากไม่มีหนังสือสั่งการที่เป็นลายลักษณ์อักษรใดๆในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวนอกจากหนังสือที่สำนักงบประมาณ เสนอกราบเรียนนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบที่ให้การปฏิบัติเรื่องการนำเรือออกนอกระบบนอกจากจะต้องผ่านคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีในทุกโครงการเท่านั้น

ดังนั้น ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า ศอ.บต และ รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการทุกอย่างให้เร็วที่สุดโดยเฉพาะการประชุมในวันที่ 30 มกราคม 2566 ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติก็จะเห็นภาพรวมของการเสนอโครงการนำเรือออกนอกระบบทั้งประเทศก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีตามลำดับขั้นตอนต่อไป.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน