X

ทำไมต้องสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในพื้นที่กระบี่-เทพา

การดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่  ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ต้องเลื่อนออกไป หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเครือข่ายปกป้องสองฝั่ง ทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน  เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 และคำสั่งกระทรวงพลังงาน ที่ 9/2561 เรื่อง คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้คำสั่งกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ทำให้พี่น้องชาวเทพา จ.สงขลา และชาว จ.กระบี่ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้า 2 โรงนี้ต่อไป หากผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA มีข้อสรุปให้สร้างโรงไฟฟ้าต่อไปได้ เหตุผลสำคัญที่คนเทพา จ.สงขลา และคนกระบี่และต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่

นายหลี สาเมาะ ประธานเครือข่ายคนเทพา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มภาคีเครือข่ายต่างๆ ในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ประกอบด้วยกำนัน องค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 7 ตำบล องค์กรภาคประชาชน ชมรม สมาคม กลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ รวม 66 องค์กร มีสมาชิกกว่า 50,000 คน กล่าวว่า อยากได้โรงไฟฟ้าเทพา ที่อำเภอเทพา จ.สงขลา เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของภาคใต้และของประเทศ   ประชาชนในพื้นที่จะมีงานทำ จะมีความเจริญเข้ามา เมืองเทพาจะเป็นเมืองพักไม่ใช่เมืองผ่านอีกต่อไป  กฟผ. ลงพื้นที่มาเป็นเวลา เกือบ 5 ปี  พาผู้นำและชุมชนไปดูงานเชิงประจักษ์ทำให้ชุมชนมีความเชื่อมั่นในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของ กฟผ. เชื่อมั่นในเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงเรียกร้องให้ กฟผ.เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าเทพาต่อไป เพื่อชุมชน เพื่อส่วนร่วมและเพื่อประเทศชาติ

ดร.พณวรรธน์ พงศ์ประยูร เลขาเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  กล่าวว่า ครือข่ายฯได้แสดงจุดยืนว่าเทพา กระบี่ และ สหภาพ กฟผ. ขอให้ยกเลิก MOU และเดินหน้า EHIA ท่าเทียบเรือ หากรัฐบาลมีข้อกังขาเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ขอชี้แจงว่า พื้นที่เทพามีความยากจน มีรายได้น้อย ประชากรที่เป็นเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุมีมาก เพราะบุคคลวัยทำงานออกไปทำงานนอกพื้นที่  คนเทพา คิดเอง ทำเองได้ ไม่ต้องให้คนอื่นมาตัดสินใจให้ คนเทพามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและร่วมทำ EHIA มาโดยตลอด และ กฟผ. ทำตามขั้นตอนและตามกฎหมายทุกประการขอให้ กฟผ.เดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไป

นายกิจจา ทองทิพย์  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง  จ.กระบี่ กล่าวว่า คนกระบี่ เทพา มีความมุ่งมั่นที่อยากให้มีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นทั้ง 2 แห่ง ซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจโรงไฟฟ้าดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้ทำ EIA และ EHIA ถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด ใช้เวลา 4 ปี ศึกษาทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่รัศมีรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งไม่รับรู้วิถีชีวิตและความต้องการของคนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ากลับมาคัดค้าน ที่ผ่านมาเคยได้รวบรวมรายชื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 15,000 ชื่อ ส่งให้รัฐมนตรีแล้ว โดยรายชื่อทั้งหมดได้ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าเป็นพี่น้องชาวกระบี่ตัวจริงที่มีความเชื่อมั่นและมั่นใจในโรงไฟฟ้าทำตามคำสั่งการของรัฐมนตรีมาตลอดแต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

นายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่  กล่าวว่า ทุกคนที่มารวมตัวกันเพื่อประเทศชาติ เพราะโรงไฟฟ้ามีความสำคัญ เป็นยุทธศาสตร์ของชาติ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ  ซึ่งเจ้าภาพของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าคือรัฐบาล กฟผ. เป็นเพียงคนขับเคลื่อนนโยบายแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มายกเลิกยุทศาสตร์ชาติได้อย่างไร ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นรัฐมนตรีลงพื้นที่จริง รับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่เลย การทำ EIA และ EHIA ที่ผ่านมาทำถูกต้องถูกกฎหมายทั้งหมด ขอเสนอให้ทำประชามติของคนในพื้นที่ไปเลย ว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการโรงไฟฟ้าหรือไม่ ซึ่ง อบจ.กระบี่ เสนอทำให้ฟรี จากเงินเรี่ยไร ของประชาชนเอง การลงนาม MOU คือการผูกพันระหว่าง 2 ฝ่าย แต่เรื่องพลังงานไฟฟ้าไม่ใช่แค่ 2 ฝ่าย ยังมีประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก คนกระบี่ไม่เห็นด้วยใน MOU คนกระบี่ไม่เห็นด้วยกับการย้อนรอยศึกษากระบวนการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA)

เพราะต้องทำมาก่อนวางนโยบายและยุทธศาสตร์ประเทศอยู่แล้วบริษัทที่ปรึกษาที่ กฟผ. จ้างทำ EIA และ EHIA  ผิดกฎหมาย ทุจริต ตรงไหน และถ้าผลการศึกษาใหม่เหมือนเดิมใครรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการศึกษาใหม่ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ทำไมฟังเสียงคนส่วนน้อย วันนี้ประชาชนออกมาสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐ จึงเป็นโอกาสดีที่รัฐจะใช้โอกาสนี้เป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการโครงการพัฒนาใหญ่ๆ ของรัฐ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานแผ่นดินต่อไป ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้ากระบี่ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และยังไม่เคยมีใครตายจากโรงไฟฟ้า ขอให้รัฐบาลมีใจเป็นธรรมและยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จจากส่วนกลาง ซึ่งมีผลประโยชน์ทางพลังงานหรือเปล่า อย่ารอให้เกิดปัญหาพลังงานไฟฟ้าขึ้น และถ่านหินอยู่คู่กับทะเลกระบี่มาอย่างยาวนาน ไม่เคยเห็นกุ้ง หอย ปู ปลาในทะเล ตายเพราะถ่านหินมาก่อนฝ่ายสนับสนุน

รศ.สมศักดิ์ สายสินธ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐบาลเอียงข้างเคยพานักศึกษาไปดูเหมืองอัครา ซึ่งทำดีมาตรฐานโลก NGO ไปใส่สี จนทำให้เขาปิดตัวลง CEO อิตาเลี่ยนไทย ยิงเสือดำรัฐบาลก็เอาผิดไม่ได้ ไม่เคยเห็นว่าไปตั้งโรงไฟฟ้าที่ไหนและพี่น้องเห็นด้วย แปลกใจ เห็นที่นี่เป็นที่แรก เชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า หลักๆ มี 3 ประเภทคือ ถ่ายหิน ก๊าซธรรมชาติ และนิวเคลียร์ โดยที่ถ่านหินมีปริมาณสำรองในโลกเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างประเทศมาเลเซีย ใช้ถ่านหินมาก ค่าไฟก็ถูกลง ถ้าค่าไฟของไทยแพง ประชาชน โรงงาน การลุงทุนต่างๆ ก็อยู่ไม่ได้ประชาชนชาวเทพา ที่มากู้ชาติร่วมกันในครั้งนี้ ควรได้ใช้ไฟฟรีด้วยซ้ำไป

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่และเมื่อไหร่นั้น จึงขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สิทธิชัย สิขวัตร

สิทธิชัย สิขวัตร

ปริญาตรี วัฒนธรรมศึกษา สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช รักอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง