X

LNG ก๊าซธรรมชาติเหลวเสริมต่อความมั่นคงทางพลังงาน

LNG ก๊าซธรรมชาติเหลวเสริมต่อความมั่นคงทางพลังงาน ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติต่างๆ เช่น LPG NGV ซึ่งในอนาคต จะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ในความเป็นจริงแล้ว LNG ถูกนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2507 จนถึงปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศลดลงเรื่อยๆ และอาจขาดแคลนในอนาคต และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักได้ แต่ LNG คืออะไร ต่างกับก๊าซธรรมชาติอย่างไร ก๊าซที่เป็นของเหลวจะนำมาใช้งานได้อย่างไร วันนี้เราจะมาบอกเล่าให้ทราบกัน

LNG คือ ก๊าซธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนสถานะหรือแปลงสถาพให้เป็นของเหลว เพื่อให้ปริมาตรลดลงประมาณ 600 เท่า ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิ -160 องศาเซลเซียสจากผู้ผลิต ให้สะดวกต่อการขนส่งก๊าซได้ในปริมาณมากๆ และมีระยะทางไกลระหว่างประเทศด้วยเรือขนส่ง LNG ปัจจุบัน ประเทศไทยมีปริมาณนำเข้า LNG อยู่ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี แต่คาดว่าปริมาณนำเข้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 34 ล้านตันต่อปีในปี 2579 เลยทีเดียว

ภาพที่ 1 กระบวนการผลิต LNG

สำหรับคุณสมบัติเด่นของ LNG นั้น เป็นก๊าซที่ไร้กลิ่น ไร้สารพิษ ติดไฟยาก ปราศจากสารกัดกร่อน หากเกิดการรั่วไหล LNG จะระเหยขึ้นสู่อากาศอย่างรวดเร็ว และไม่เหลือสารตกค้างในน้ำหรือดิน จึงปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังมีปริมาณเพียงพอทั่วโลก

หลายคนอาจสงสัยว่า เมื่อก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ถูกขนส่งมาทางเรือจากต่างประเทศแล้ว อุตสาหกรรมนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างไร เมื่อ LNG เดินทางมายังประเทศไทยโดยเรือแล้ว จะถูกเปลี่ยนสถานะจากของเหลวให้กลับเป็นก๊าซ (Regasification Process) โดยการเพิ่มอุณหภูมิ ณ สถานีกักเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage Regasification Unit หรือ FSRU) มีลักษณะเหมือนเรือที่จะรอรับ LNG จากเรือขนส่งที่มาจากประเทศผู้ขาย และทำหน้าที่กักเก็บ LNG นั้นไว้ ก่อนที่จะแปลงสภาพให้เป็นสถานะก๊าซเพื่อส่งเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติต่อไป ซึ่งข้อดีของ FSRU คือ ใช้เวลาก่อสร้างน้อย และไม่ต้องจัดสรรที่ดินในการก่อสร้าง

บนสถานี FSRU มีอะไรบ้าง ต้องบอกว่าเทียบได้กับโรงงานแปลงสภาพก๊าซขนาดใหญ่ที่ลอยน้ำได้ โดยจะประกอบด้วย 1) ระบบขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Unloading System) ที่ทำหน้าที่ขนถ่าย LNG จากเรือขนส่งไปยังถังกักเก็บบนสถานี FSRU 2) ถังกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Storage Tank) เป็นแหล่งเก็บรักษาก๊าซธรรมชาติเหลวในระหว่างที่รอส่งไปยังหน่วยแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งภายในถังกักเก็บจะมีอุณหภูมิประมาณ -160 องศาเซลเซียส 3) ระบบจัดการกับไอระเหย (Boil-Off Gas System) จะทำหน้าที่จัดการไอระเหยของ LNG ที่เกิดขึ้นภายในถัง ซึ่งไอระเหยจะถูกรวบรวมเข้าสู่เครื่องทำให้เป็นของเหลว (Recondenser) และส่งกลับไปยังถังกักเก็บ โดยไม่มีการระบายออกสู่บรรยากาศเลย 4) ระบบส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Send Out System) มีหน้าที่ส่ง LNG จากถังกักเก็บไปยังระบบแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นก๊าซ และส่วนสุดท้าย ระบบแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นก๊าซ (Regasification System) ทำหน้าที่แปรสภาพจากสถานะของเหลวให้เป็นสถานะก๊าซ โดยการแลกเปลี่ยนความร้อน เพื่อส่งไปยังโรงไฟฟ้าผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติใช้ประโยชน์ต่อไปนั่นเอง ทีนี้เราก็รู้แล้วว่าก๊าซเหลวจะกลายสภาพเป็นก๊าซได้อย่างไร

ภาพที่ 2 กระบวนการแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวให้เป็นก๊าซธรรมชาติบนสถานี FSRU

ในอนาคตคาดการณ์ว่าโครงการ FSRU เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ที่จะรองรับการนำเข้า LNG ในอนาคต ทำให้ประเทศไทยไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า และเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สิทธิชัย สิขวัตร

สิทธิชัย สิขวัตร

ปริญาตรี วัฒนธรรมศึกษา สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช รักอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง